ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การพิจารณาความเหมือนหรือความคล้ายคลึงของเครื่องหมายการค้า โดยคำนึงถึงจำนวนตัวอักษร, เสียงเรียกขาน, และความหมาย
เครื่องหมายการค้าของโจทก์ทั้งที่เป็นคำ และเป็นรูปกับคำต่างประกอบด้วยตัวอักษรโรมันแบบพิมพ์ใหญ่และแบบอักษรประดิษฐ์ 4 ตัว คือ "F" "O" "R" และ "D" โดยเครื่องหมายการค้าที่เป็นรูปและคำจะมีวงรีล้อมรอบตัวอักษรประดิษฐ์ดังกล่าวอยู่ ส่วนเครื่องหมายการค้าที่จำเลยยื่นคำขอจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายการค้าที่ประกอบด้วยตัวอักษรพิมพ์ใหญ่ 3 ตัว คือ "F" "O" และ "R" ดังนี้ เมื่อพิจารณาจากลักษณะของเครื่องหมายการค้าของโจทก์และเครื่องหมายการค้าที่จำเลยยื่นคำขอจดทะเบียนจะเห็นได้ว่า แม้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวต่างมีตัวอักษรขึ้นต้นด้วยอักษร "F" และตามด้วยตัวอักษร "O" และ "R" ตามลำดับเช่นเดียวกัน แต่เครื่องหมายการค้าของโจทก์มีตัวอักษร "D" อยู่ในตอนท้ายด้วย ซึ่งแม้เครื่องหมายการค้าของโจทก์กับที่จำเลยยื่นคำขอจดทะเบียนจะมีจำนวนตัวอักษรต่างกันเพียงตัวอักษรเดียว แต่เนื่องจากเครื่องหมายการค้าของโจทก์มีตัวอักษรเพียง 4 ตัว เท่านั้น สาธารณชนจึงสามารถสังเกตเห็นความแตกต่างของเครื่องหมายการค้าของโจทก์กับเครื่องหมายการค้าที่จำเลยยื่นคำขอจดทะเบียนได้โดยง่าย และโดยเหตุที่เครื่องหมายการค้าดังกล่าวต่างประกอบด้วยตัวอักษรโรมันเช่นเดียวกัน การเขียนจึงต้องมีตัวสะกดซ้ำกันบ้าง ในกรณีเช่นนี้จะสันนิษฐานว่าจำเลยมีเจตนาเลียนแบบเครื่องหมายการค้าของโจทก์ไม่ได้ นอกจากนั้นเครื่องหมายการค้าที่จำเลยยื่นคำขอจดทะเบียนมีเสียงเรียกขานว่า "ฟอร์" และมีคำแปลจากภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทยชัดเจนคือแปลว่า "สำหรับ" ส่วนเครื่องหมายการค้าของโจทก์มีเสียงเรียกขานว่า "ฟอร์ด" ซึ่งมีที่มาจากชื่อผู้บุกเบิกอุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องหมายการค้าทั้งสองจึงมีความหมายและเสียงเรียกขานที่ต่างกัน ดังนั้น เครื่องหมายการค้าที่จำเลยยื่นคำขอจดทะเบียนไม่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า