โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งห้าร่วมกันคืนเงินค่าหุ้น 40,000,000 บาท และค่าเสียหาย 10,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันผิดนัดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องเป็นเงิน 3,750,000 บาท
จำเลยทั้งห้าให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ชำระเงินงวดที่ 1 คืนแก่โจทก์คนละ 19,999,968 บาท ส่วนจำเลยที่ 4 ชำระเงินงวดที่ 1 คืน 32 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 2 เมษายน 2558 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ชำระค่าเสียหายคนละ 2,499,996 บาท ส่วนจำเลยที่ 3 และที่ 4 ชำระค่าเสียหายคนละ 4 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 31 ตุลาคม 2560 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 5 กับให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ร่วมกันชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 30,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ใช้แทนตามจำนวนทุนทรัพย์แต่ละคนที่โจทก์ชนะคดี
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ชำระเงินเฉพาะค่าหุ้นงวดที่ 1 คืนโจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของจำนวนเงินค่าหุ้นที่รับไว้นับแต่วันที่ 31 ตุลาคม 2560 วันที่ 9 และวันที่ 10 มกราคม 2561 ตามลำดับเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 3 และคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยกค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 3 และที่ 5 ในศาลชั้นต้นและค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติในเบื้องต้นว่าโจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัด มีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการค้าเกี่ยวกับการพลังงานทุกชนิด จำเลยที่ 5 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการผลิตและจำหน่ายก๊าซชีวภาพ รวมทั้งผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิต จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 เป็นผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 5 โดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 ถือหุ้นคนละ 624,999 หุ้น จำเลยที่ 3 และที่ 4 ถือหุ้นคนละ 1 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 100 บาท เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2557 จำเลยที่ 5 ยื่นคำขอทำสัญญาจำหน่ายไฟฟ้าและการเชื่อมโยงระบบไฟฟ้าแบบ ADDER ต่อมาวันที่ 23 มกราคม 2558 คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ออกประกาศเรื่องการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (ไม่รวมพลังงานแสงอาทิตย์) ในช่วงเปลี่ยนผ่านจากระบบ ADDER เป็นแบบ FIT พ.ศ.2558 เพื่อให้ผู้ที่สนใจเข้าร่วมโครงการยื่นคำขอยกเลิกสัญญาขายไฟฟ้าเดิมแบบ ADDER ภายในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2558 และให้ยื่นคำขอขายไฟฟ้าใหม่แบบ FIT ภายในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2558 วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2558 จำเลยที่ 5 ยื่นคำขอยกเลิกสัญญาขายไฟฟ้าแบบ ADDER เป็นแบบ FIT ต่อคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานแต่ยังไม่ได้รับอนุมัติให้ขายไฟฟ้าแก่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หลังจากนั้น วันที่ 2 เมษายน 2558 โจทก์ทำสัญญาซื้อขายหุ้นทั้งหมดของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ในราคา 125,000,000 บาท ตกลงชำระราคางวดที่ 1 แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 คนละ 19,999,968 บาท แก่จำเลยที่ 3 และที่ 4 คนละ 32 บาท ภายใน 7 วันนับถัดจากวันลงนามในสัญญา งวดที่ 2 ชำระแก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 คนละ 42,499,932 บาท แก่จำเลยที่ 3 และที่ 4 คนละ 68 บาท ภายใน 7 วันนับจากวันที่ จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ปฏิบัติตามเงื่อนไขบังคับก่อนในสัญญาแล้วเสร็จ เงื่อนไขบังคับก่อนตามสัญญาดังกล่าวข้อ 3.1 ระบุว่า (ก) จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 จะต้องดำเนินการให้จำเลยที่ 5 เข้าทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ขนาด 6 เมกะวัตต์ โดยมีระยะเวลาของสัญญาอย่างน้อย 20 ปี (ข) จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 จะต้องดำเนินการให้จำเลยที่ 5 ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานอุตสาหกรรม (รง.4) ประเภทผลิตพลังงานไฟฟ้า จากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ข้อ 3.2 โจทก์มีสิทธิแต่เพียงฝ่ายเดียวในการพิจารณาว่าระยะเวลาที่จะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขบังคับก่อนข้อ 3.1 (ก) และ (ข) ว่าควรจะแล้วเสร็จลงเมื่อใด หรือควรยุติลงเมื่อใด ในวันทำสัญญา โจทก์ชำระเงินค่าหุ้นงวดที่ 1 ให้แก่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 แต่จำเลยที่ 3 มิได้นำเช็คไปเรียกเก็บเงิน หลังจากนั้น วันที่ 11 สิงหาคม 2558 จำเลยที่ 5 มีหนังสือขอความเป็นธรรมต่อประธานคณะกรรมการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค กรณีคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานไม่พิจารณารับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าด้วยก๊าซชีวภาพในพื้นที่ภาคเหนือซึ่งรวมถึงจำเลยที่ 5 ทำให้จำเลยที่ 5 ไม่สามารถเสนอขายไฟฟ้าแก่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคได้ วันที่ 25 พฤษภาคม 2559 สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานมีหนังสือแจ้งจำเลยที่ 5 ว่า คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนตามนโยบายของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ปัจจุบัน คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) รับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนแบบ FIT เฉพาะพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้และ 4 อำเภอในจังหวัดสงขลาตามนโยบายภาครัฐ สำหรับพื้นที่อื่นให้เลื่อนการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนออกไปก่อน โดยอยู่ระหว่างการประชุมหารือร่วมกับการไฟฟ้าและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายภาครัฐโดยกระทรวงพลังงานจะเป็นผู้กำหนดเป้าหมายในการรับซื้อไฟฟ้า วันที่ 26 กันยายน 2559 การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคมีหนังสือแจ้งจำเลยที่ 5 ว่า การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคไม่มีอำนาจพิจารณาประเด็นตามข้อร้องขอความเป็นธรรมของจำเลยที่ 5 ได้ แต่เป็นอำนาจของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ต่อมาวันที่ 12 กรกฎาคม 2560 โจทก์มีหนังสือแจ้งให้จำเลยทั้งห้าปฏิบัติตามเงื่อนไขบังคับก่อนภายใน 30 วัน จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ไม่อาจดำเนินการได้ ต่อมาวันที่ 27 ตุลาคม 2560 โจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญาและทวงถามให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ชำระเงินค่าหุ้นคืนพร้อมดอกเบี้ย จำเลยที่ 1 ได้รับวันที่ 30 ตุลาคม 2560 แล้วเพิกเฉย จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ไม่ได้รับ วันที่ 9 มกราคม 2561 โจทก์มีหนังสือแจ้งให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 นำเงินค่าหุ้นพร้อมดอกเบี้ยคืนให้แก่โจทก์ จำเลยที่ 2 และที่ 4 ได้รับเมื่อวันที่ 9 และวันที่ 10 มกราคม 2561 แล้วเพิกเฉย มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ว่า เงื่อนไขบังคับก่อนในสัญญาซื้อขายหุ้นข้อ 3.1 (ก) ที่ระบุให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 จะต้องดำเนินการให้จำเลยที่ 5 เข้าทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ขนาด 6 เมกะวัตต์ (PPA) โดยมีระยะเวลาของสัญญาอย่างน้อย 20 ปี เป็นการพ้นวิสัยหรือไม่ เห็นว่า นิติกรรมที่มีเงื่อนไขบังคับก่อนและเงื่อนไขนั้นเป็นการพ้นวิสัย อันจะทำให้นิติกรรมตกเป็นโมฆะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 189 นั้น ต้องเป็นกรณีที่เงื่อนไขแห่งนิติกรรมนั้นเป็นเงื่อนไขที่เป็นไปไม่ได้โดยเด็ดขาดเนื่องจากสภาพของเงื่อนไขนั้นหรือโดยผลของกฎหมาย มิใช่เพียงเงื่อนไขไม่อาจสำเร็จได้ง่ายภายในเวลาที่กำหนด ทั้งต้องเป็นการเป็นไปไม่ได้โดยทั่วไป มิใช่เฉพาะบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ข้อเท็จจริงได้ความว่า การทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเป็นอำนาจของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ที่จะพิจารณาตามนโยบายของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) โดยมีกระทรวงพลังงานเป็นผู้กำหนดเป้าหมายในการรับซื้อไฟฟ้า เมื่อไม่ปรากฏว่า คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจกำหนดนโยบายภาครัฐ กำหนดให้การทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าแบบ FIT ระหว่างผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ) เป็นเรื่องต้องห้าม มิอาจกระทำได้โดยเด็ดขาด ย่อมไม่อาจถือได้ว่าเงื่อนไขบังคับก่อนในสัญญาซื้อขายหุ้นข้อ 3.1 (ก) เป็นการพ้นวิสัย แต่อย่างไรก็ตาม เงื่อนไขย่อมต้องมีระยะเวลาใดเวลาหนึ่งที่กำหนดไว้เพื่อให้เงื่อนไขสำเร็จลง มิใช่จะมีอยู่ตลอดไปโดยไม่มีกำหนด ซึ่งตามเงื่อนไขบังคับก่อนในสัญญาซื้อขายหุ้น ข้อ 3.2 ให้โจทก์มีสิทธิกำหนดระยะเวลาสิ้นสุดดังกล่าว เมื่อนับแต่วันที่ 2 เมษายน 2558 ที่โจทก์ทำสัญญาซื้อขายหุ้นจากจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ถึงวันที่ 11 สิงหาคม 2560 ที่โจทก์กำหนดให้ระยะเวลาในการปฏิบัติตามเงื่อนไขบังคับก่อนข้อ 3.1 (ก) ยุติลง เป็นเวลาประมาณ 2 ปีเศษ ซึ่งเป็นเวลาพอสมควรที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 จะดำเนินการให้จำเลยที่ 5 เข้าทำสัญญากับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ตามเงื่อนไขบังคับก่อนข้อ 3.1 (ก) ได้แล้ว จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ไม่สามารถดำเนินการได้ ต้องถือว่าเงื่อนไขบังคับก่อนไม่สำเร็จ สัญญาซื้อขายหุ้นระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 จึงไม่เป็นผล จำเลยที่ 1 และที่ 2 ต้องคืนเงินค่าหุ้นที่รับไว้แก่โจทก์ เมื่อโจทก์ทวงถามแล้ว จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ชำระ จึงตกเป็นผู้ผิดนัด ต้องรับผิดชำระดอกเบี้ย ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 คืนเงินค่าหุ้นพร้อมดอกเบี้ยมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกามีการประกาศใช้พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. 2564 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 โดยมาตรา 3 และมาตรา 4 แห่งพระราชกำหนดดังกล่าวให้ยกเลิกความในมาตรา 7 และมาตรา 224 แห่งประมวลกกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และให้ใช้ความใหม่แทนเป็นผลให้ดอกเบี้ยผิดนัดปรับเปลี่ยนจากอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี เป็นอัตราร้อยละ 5 ต่อปีหรืออัตราดอกเบี้ยใหม่ที่กระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาบวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี ทำให้ดอกเบี้ยผิดนัดของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ซึ่งเป็นหนี้เงินที่ถึงกำหนดชำระตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 ต้องปรับเปลี่ยนจากอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีเป็นร้อยละ 5 ต่อปี ปัญหาเรื่องอัตราดอกเบี้ยขัดต่อกฎหมายหรือไม่ เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและกำหนดดอกเบี้ยให้ถูกต้องตามพระราชกำหนดดังกล่าวได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ 252
พิพากษาแก้เป็นว่า ดอกเบี้ยในต้นเงินค่าหุ้นให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ชำระอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 31 ตุลาคม 2560 วันที่ 9 และวันที่ 10 มกราคม 2561 ตามลำดับจนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 หลังจากนั้นให้ชำระอัตราร้อยละ 5 ต่อปีเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากกระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาเมื่อใด ก็ให้ปรับเปลี่ยนไปตามนั้นด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี แต่ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ