คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43 (4) (8), 157, 160 วรรคสาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 368 วรรคแรก ฐานขับรถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยหรือความเดือดร้อนของผู้อื่น จำคุก 1 เดือน ปรับ 4,000 บาท และฐานขัดคำสั่งเจ้าพนักงานซึ่งสั่งการตามอำนาจที่มีกฎหมายให้ไว้โดยไม่มีเหตุหรือข้อแก้ตัวอันสมควร ปรับ 1,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับ ให้บังคับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ริบรถจักรยานยนต์ของกลาง
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้สั่งคืนรถจักรยานยนต์ของกลางแก่ผู้ร้อง
โจทก์ยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้ว มีคำสั่งให้ยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้แย้งกันในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติว่า ผู้ร้องเป็นบิดาจำเลยและเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถจักรยานยนต์ของกลาง ผู้ร้องและจำเลยพักอาศัยอยู่ด้วยกันที่บ้าน จังหวัดราชบุรี เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2562 จำเลยขับรถจักรยานยนต์ของกลางไปตามถนน พบร้อยตำรวจเอกดุสิตกับพวก เจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรโพธาราม ตั้งจุดตรวจจุดสกัดอยู่บนถนน เจ้าพนักงานตำรวจสั่งให้จำเลยหยุดรถและเปิดสัญญาณไฟสีแดงเพื่อขอตรวจค้น จำเลยไม่ยอมหยุดรถ แต่ขับรถจักรยานยนต์ด้วยความเร็วสูง โดยขับย้อนศรปาดซ้ายปาดขวาเป็นระยะทางยาวเพื่อหลบหนีการจับกุม เจ้าพนักงานตำรวจขับรถจักรยานยนต์ไล่ติดตามจำเลยไปทัน จึงจับกุมจำเลยพร้อมยึดรถจักรยานยนต์ดังกล่าวเป็นของกลาง แจ้งข้อกล่าวหาจำเลยว่า ขับรถโดยไม่มีใบอนุญาตขับขี่ ขับรถในลักษณะกีดขวางการจราจรโดยประมาทหรือน่าหวาดเสียว โดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยหรือความเดือดร้อนของผู้อื่น ขัดคำสั่งเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ และครอบครองบุหรี่ไฟฟ้าโดยผิดกฎหมาย ต่อมาวันที่ 8 มิถุนายน 2563 ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาลงโทษจำเลยและริบรถจักรยานยนต์ของกลาง
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องว่า ผู้ร้องรู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 หรือไม่ ผู้ร้องเบิกความว่า วันเกิดเหตุ เวลา 17.30 นาฬิกา หลังจากเลิกงานแล้ว ผู้ร้องขับรถจักรยานยนต์ของกลางมาจอดไว้ภายในบริเวณบ้าน ต่อมาจำเลยขอยืมรถจักรยานยนต์ของกลางจากผู้ร้องเพื่อไปตกปลากับเพื่อน ผู้ร้องเห็นว่าสถานที่ตกปลาอยู่ใกล้บ้าน จึงอนุญาตให้จำเลยยืมรถจักรยานยนต์ไปใช้ ต่อมาทราบว่าจำเลยถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมพร้อมยึดรถจักรยานยนต์เป็นของกลาง ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้ริบรถจักรยานยนต์ของกลาง ผู้ร้องไม่ได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลย แต่ผู้ร้องเบิกความตอบโจทก์ถามค้านในทำนองว่า ในคดีที่จำเลยตกเป็นผู้ต้องหา ผู้ร้องได้ไปให้การต่อร้อยตำรวจเอกชัชวาลย์พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรโพธาราม เมื่อพิจารณาบันทึกคำให้การของพยานแล้ว ผู้ร้องให้การว่า ตามปกติผู้ร้องเป็นผู้ใช้สอยรถจักรยานยนต์ของกลาง เมื่อใช้เสร็จแล้วผู้ร้องจะนำรถจักรยานยนต์ของกลางไปจอดไว้ภายในบ้าน โดยเสียบกุญแจรถจักรยานยนต์คาไว้ที่รถ บางครั้งจะมีบุคคลภายในครอบครัวนำรถไปใช้ขับซื้อของหรือทำธุระต่าง ๆ วันเกิดเหตุจำเลยนำรถจักรยานยนต์ของกลางที่จอดอยู่ภายในบ้านไปใช้งาน โดยไม่ได้บอกให้ผู้ร้องทราบก่อน คำเบิกความของผู้ร้องในส่วนที่อ้างว่าจำเลยได้มาขออนุญาตผู้ร้องนำรถจักรยานยนต์ของกลางไปใช้จึงขัดแย้งแตกต่างกับคำให้การในชั้นสอบสวนของผู้ร้อง ซึ่งในข้อนี้ร้อยตำรวจเอกชัชวาลย์พยานโจทก์เบิกความประกอบบันทึกคำให้การของผู้ต้องหาว่า ในชั้นสอบสวนพยานได้สอบปากคำจำเลย จำเลยให้การว่า วันเกิดเหตุก่อนจำเลยจะถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุม จำเลยขับรถจักรยานยนต์ของกลางซึ่งจอดไว้ที่บ้านของผู้ร้องออกจากบ้านเพื่อไปตกปลาที่คลองชลประทานภายในหมู่บ้าน โดยจำเลยไม่ได้ขออนุญาตผู้ร้องก่อน ซึ่งสอดคล้องตรงกับคำให้การในชั้นสอบสวนของผู้ร้อง จึงเชื่อว่าคำให้การของผู้ร้องในชั้นสอบสวนที่เกี่ยวกับพฤติการณ์ของจำเลยที่นำรถจักรยานยนต์ของกลางไปใช้โดยไม่ได้ขออนุญาตผู้ร้องก่อนนั้นเป็นความจริงยิ่งกว่าคำเบิกความของผู้ร้อง ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ตามคำให้การของผู้ร้อง ว่า วันเกิดเหตุผู้ร้องจอดรถจักรยานยนต์ของกลางไว้ภายในบ้าน โดยเสียบกุญแจรถจักรยานยนต์คาไว้ที่รถ ต่อมาจำเลยนำรถจักรยานยนต์ของกลางไปใช้โดยไม่ได้ขอยืมหรือขออนุญาตผู้ร้องก่อนดังที่ผู้ร้องเบิกความ อย่างไรก็ตาม แม้ผู้ร้องจะมิได้เก็บรักษากุญแจรถจักรยานยนต์ของกลางไว้ในที่มิดชิด แต่เสียบกุญแจรถจักรยานยนต์คาไว้ที่รูกุญแจรถจักรยานยนต์ ทำให้บุคคลภายในครอบครัวสามารถนำรถจักรยานยนต์ของกลางไปใช้ได้โดยง่าย ซึ่งเป็นพฤติการณ์ที่แสดงออกว่าผู้ร้องมิได้เข้มงวดในการที่จำเลยและบุคคลภายในครอบครัวนำรถจักรยานยนต์ของกลางไปใช้ก็ตาม แต่ก็ได้ความว่าบุคคลภายในครอบครัวเพียงแต่นำรถจักรยานยนต์ของกลางไปใช้ขับซื้อของและทำธุระทั่วไปเท่านั้น โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยและบุคคลภายในครอบครัวเคยมีพฤติการณ์นำรถจักรยานยนต์ของกลางไปใช้ในการกระทำความผิด ขณะเกิดเหตุจำเลยมีอายุ 23 ปีเศษ เป็นผู้บรรลุนิติภาวะ ย่อมต้องมีความรับผิดชอบดีแล้ว และจำเลยไม่เคยมีประวัติการกระทำความผิดอาญามาก่อน จึงไม่มีเหตุที่ผู้ร้องต้องใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษในเรื่องที่จำเลยจะนำรถจักรยานยนต์ของกลางไปใช้ พฤติการณ์ของผู้ร้องดังกล่าวจึงยังถือไม่ได้ว่าเป็นการยินยอมหรืออนุญาตโดยปริยายให้จำเลยนำรถจักรยานยนต์ของกลางไปใช้ในการกระทำความผิดตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัย ทั้งจำเลยให้การในคดีที่จำเลยตกเป็นผู้ต้องหา ว่า ในวันเวลาเกิดเหตุจำเลยขับรถจักรยานยนต์ของกลางเพื่อจะไปตกปลากับเพื่อน ระหว่างทางจำเลยพบเจ้าพนักงานตำรวจชุดจับกุมเรียกให้หยุดรถ ขณะนั้นจำเลยมีบุหรี่ไฟฟ้าในครอบครอง จำเลยกลัวว่าจะถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุม จึงขับรถจักรยานยนต์หลบหนีโดยขับย้อนศรเป็นระยะทางยาวด้วยความเร็วสูง และขับปาดซ้ายปาดขวา เจ้าพนักงานตำรวจขับรถไล่ตามมาทัน จำเลยจึงหยุดรถและถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมตัวได้พร้อมยึดรถจักรยานยนต์เป็นของกลาง ตามคำให้การของจำเลยดังกล่าวแสดงว่าก่อนเกิดเหตุจำเลยขับรถจักรยานยนต์ของกลางเพื่อจะไปตกปลากับเพื่อน ไม่ได้ประสงค์จะนำรถจักรยานยนต์ของกลางไปกระทำความผิดใด แต่เหตุที่จำเลยกระทำความผิดตามที่ถูกฟ้อง เนื่องจากกลัวว่าจะถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุม เพราะมีบุหรี่ไฟฟ้าในครอบครองโดยผิดกฎหมาย การที่จำเลยขัดคำสั่งของเจ้าพนักงานตำรวจที่สั่งให้หยุดรถและขับรถจักรยานยนต์หลบหนีการจับกุม จึงเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันทันทีในขณะนั้นอันเป็นการกระทำความผิดของจำเลยโดยลำพัง ผู้ร้องย่อมไม่อาจทราบหรือคาดหมายได้ว่าจะเกิดเหตุการณ์ที่จำเลยนำรถจักรยานยนต์ของกลางไปใช้กระทำความผิดดังกล่าว ตามพฤติการณ์แห่งคดีจึงยังฟังไม่ได้ว่าผู้ร้องรู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้ยกคำร้องของผู้ร้องมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้ร้องฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้คืนรถจักรยานยนต์ของกลางแก่ผู้ร้อง