โจทก์ฟ้องขอให้สั่งเพิกถอนหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินแปลงที่ 57 ระวาง 11 ที่มีชื่อจำเลยเป็นผู้ได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ และให้โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินดังกล่าว ขับไล่จำเลยพร้อมบริวารออกจากที่ดินห้ามเกี่ยวข้องในที่ดิน กับให้จำเลยใช้ค่าเสียหาย 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาแก้เป็นว่า โจทก์มีสิทธิดีกว่าจำเลยในที่ดินตามหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินแปลงที่ 57 ระวางที่ 11 ห้ามจำเลยและบริวารเกี่ยวข้องในที่ดินพิพาท และให้จำเลยชำระเงิน 88,100 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง (วันที่ 27 มีนาคม 2561) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยชำระค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 3,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นในชั้นนี้รับฟังได้ว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่นิคมสร้างตนเองคำสร้อยจัดสรรให้ราษฎรซึ่งเป็นสมาชิกเข้าทำกินตามพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 นายวิบูลย์ บิดาโจทก์ โจทก์และจำเลย ต่างเป็นสมาชิกของนิคมสร้างตนเองคำสร้อยและได้รับจัดสรรที่ดิน วันที่ 19 สิงหาคม 2553 นิคมสร้างตนเองคำสร้อยออกหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดิน (น.ค. 1) แปลงที่ 57 ระวางที่ 11 เนื้อที่ 18 ไร่ ซึ่งเป็นที่ดินพิพาทให้แก่จำเลย ก่อนหน้าคดีนี้ จำเลยเคยมีข้อพิพาทเป็นคดีอาญากับนายไชยวัฒน์ สามีโจทก์เกี่ยวกับที่ดินแปลงนี้มาแล้ว 2 ครั้ง โดยเมื่อปี 2555 อัยการจังหวัดมุกดาหารเป็นโจทก์ฟ้องนายไชยวัฒน์เป็นจำเลยในข้อหาบุกรุกที่ดินพิพาท นายไชยวัฒน์ให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษปรับ คดีถึงที่สุด แต่ปรากฏว่าหลังจากศาลมีคำพิพากษาแล้ว นายไชยวัฒน์ยังไม่ยอมออกจากที่ดินและครอบครองทำประโยชน์โดยปลูกต้นมันสำปะหลังเรื่อยมา จนกระทั่งปี 2561 จำเลยจึงฟ้องนายไชยวัฒน์ในข้อหาบุกรุกที่ดินพิพาทและทำให้เสียทรัพย์อีกครั้งหนึ่งเป็นคดีอาญาหมายเลขดำที่ 488/2561 ศาลชั้นต้นเห็นว่าการครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทของนายไชยวัฒน์เป็นผลสืบเนื่องมาจากการบุกรุกในคดีก่อนที่ศาลมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดแล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์จึงระงับไป พิพากษายกฟ้อง โดยในช่วงปี 2558 ถึงปี 2561 ที่โจทก์ นายไชยวัฒน์ กับจำเลยมีคดีพิพาทกันนั้น นิคมสร้างตนเองคำสร้อยได้สั่งห้ามมิให้บุคคลใดเข้าทำประโยชน์ในที่ดินแปลงนี้ คดีอาญาดังกล่าวถึงที่สุดเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2561 และจำเลยนำสำเนาคำพิพากษากับหนังสือรับรองคดีถึงที่สุดไปแสดง ต่อมาวันที่ 2 กรกฎาคม 2561 นิคมสร้างตนเองคำสร้อยจึงอนุญาตให้จำเลยเข้าทำประโยชน์ในที่ดิน สำหรับคดีส่วนที่โจทก์ฟ้องขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท (น.ค. 1) แปลงที่ 57 ซึ่งมีชื่อจำเลยเป็นผู้ได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์นั้นศาลอุทธรณ์ภาค 4 ให้ยกคำขอในส่วนนี้ โจทก์และจำเลยไม่ฎีกาโต้แย้ง จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4
คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องขอให้ศาลมีคำสั่งห้ามจำเลยและบริวารเข้ายุ่งเกี่ยวในที่ดินพิพาทและชดใช้ค่าเสียหายได้หรือไม่ เห็นว่า ข้ออ้างที่โจทก์อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาตามคำฟ้องมีว่าโจทก์มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทก็เนื่องจากจำเลยได้ขายสิทธิและส่งมอบการครอบครองที่ดินที่ได้รับการจัดสรรจากนิคมสร้างตนเองคำสร้อยตามพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 ให้แก่บิดาโจทก์ แล้วจำเลยไม่เคยเข้าทำประโยชน์ในที่ดิน ซึ่งจำเลยให้การและนำสืบปฏิเสธ กรณีจึงเห็นควรวินิจฉัยเสียก่อนว่า จำเลยขายสิทธิและส่งมอบการครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่บิดาโจทก์หรือไม่ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยขายสิทธิในที่ดินพิพาทและส่งมอบที่ดินพิพาทให้แก่บิดาโจทก์เข้าทำประโยชน์โดยปลูกต้นสักทองเมื่อปี 2530 แล้วย้ายภูมิลำเนาไปอยู่ที่จังหวัดยโสธรก่อนจะได้รับหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท (น.ค. 1) เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2553 อย่างไรก็ตาม ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินของรัฐที่นิคมสร้างตนเองคำสร้อยมีอำนาจพิจารณาอนุญาตให้สมาชิกของนิคมเท่านั้นให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินของนิคมได้ หากสมาชิกนิคมได้ทำประโยชน์ในที่ดินแล้วและได้เป็นสมาชิกมาเป็นเวลาเกินกว่าห้าปี นิคมสร้างตนเองคำสร้อยจึงสามารถออกหนังสือแสดงการทำประโยชน์ในที่ดินให้แก่ผู้นั้นได้ ซึ่งสมาชิกนิคมสามารถนำที่ดินไปขอออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ตามประมวลกฎหมายที่ดินได้ตามพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 มาตรา 6, 8 และมาตรา 11 เมื่อที่ดินพิพาทยังไม่มีหนังสือสำคัญสำหรับที่ดิน โดยนิคมสร้างตนเองคำสร้อยเพียงแต่อนุญาตจัดสรรให้จำเลยซึ่งเป็นสมาชิกเข้าครอบครองทำประโยชน์ ตามพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 มาตรา 21 และมาตรา 24 สิทธิของผู้ได้รับอนุญาตให้เข้าครอบครองจึงมิใช่สิทธิตามประมวลกฎหมายที่ดินหรือตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แต่เป็นสิทธิตามพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 ที่รัฐจัดสรรให้แก่สมาชิกของนิคมสร้างตนเองคำสร้อย โดยมีเงื่อนไขตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติดังกล่าว และสมาชิกของนิคมสร้างตนเองที่ได้รับมอบที่ดินตามมาตรา 24 แล้ว ต้องจัดที่ดินให้เกิดประโยชน์ให้แล้วเสร็จภายในห้าปีนับแต่วันที่อพยพครอบครัวเข้าอยู่ประจำในที่ดิน โดยมาตรา 27 บัญญัติว่าสมาชิกนิคมสร้างตนเองจะต้องไม่มอบหรือโอนสิทธิการเข้าทำประโยชน์ในที่ดินที่ได้รับมอบให้แก่บุคคลอื่น เว้นแต่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากอธิบดีกรมประชาสงเคราะห์หรือผู้ซึ่งอธิบดีกรมประชาสงเคราะห์มอบหมาย นอกจากนี้มาตรา 15 ยังห้ามมิให้ผู้ใดเข้าไปหาประโยชน์ ยึดถือ หรือครอบครองที่ดินภายในนิคมเว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากอธิบดี แสดงว่าที่ดินของนิคมสร้างตนเองจะโอนไปยังบุคคลภายนอกได้จะต้องเป็นที่ดินมีโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในที่ดินแล้วเท่านั้น และจะต้องพ้นระยะเวลาห้าปีนับแต่วันที่ได้รับโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในที่ดินก่อน ดังนี้ เมื่อที่ดินพิพาทเป็นที่ดินของนิคมสร้างตนเองคำสร้อยที่ยังไม่มีโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ จึงเป็นที่ดินที่ต้องห้ามมิให้สมาชิกของนิคมโอนสิทธิการเข้าทำประโยชน์ในที่ดินไปยังบุคคลอื่น การที่จำเลยโอนที่ดินพิพาทให้บิดาโจทก์ จึงเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตามพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 มาตรา 27 (6) อย่างชัดแจ้ง สัญญาซื้อขายสิทธิในที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยกับบิดาโจทก์ จึงตกเป็นโมฆะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 และโจทก์ไม่สามารถอ้างสิทธิตามสัญญาซื้อขายดังกล่าวเข้ายึดถือ ครอบครอง เข้าทำประโยชน์ที่ดินพิพาทได้ และไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดิน ส่วนที่โจทก์อ้างว่า ระหว่างปี 2558 ถึงปี 2560 จำเลยรื้อถอน ทำลาย แปลงปลูกและต้นกล้ามันสำปะหลังทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายนั้น ก็ได้ความจากหนังสือของนิคมสร้างตนเองคำสร้อยลงวันที่ 19 ตุลาคม 2558 ว่า ระหว่างที่โจทก์ นายไชยวัฒน์ กับจำเลย มีข้อพิพาทเกี่ยวกับที่ดินเป็นคดีอาญากันและยังไม่ได้ข้อยุติ ทางนิคมสร้างตนเองคำสร้อยได้สั่งห้ามมิให้บุคคลใดเข้าทำประโยชน์ในที่ดินแปลงดังกล่าว ดังนั้น การที่โจทก์เข้าไปเตรียมแปลงปลูกและเตรียมต้นกล้ามันสำปะหลังในที่ดินจึงเป็นการกระทำที่ไม่มีสิทธิใด ๆ ที่จะอ้างได้ และเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งห้ามของนิคมสร้างตนเองคำสร้อย โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหาย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์นั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น แต่พฤติการณ์ที่จำเลยขายสิทธิและส่งมอบที่ดินพิพาทให้บิดาโจทก์เข้าทำประโยชน์ โดยย้ายภูมิลำเนาไปอยู่จังหวัดยโสธรตั้งแต่ปี 2530 ซึ่งต่อมาปรากฏจากแบบรับรองรายการทะเบียนราษฎรของจำเลยแนบท้ายคำแถลงขอปิดหมายของโจทก์ว่า จำเลยเพิ่งย้ายเข้ามาอยู่บ้านเลขที่ 4 เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2548 การกระทำดังกล่าวจึงเป็นการที่จำเลยไม่อพยพครอบครัวเข้าอยู่ประจำในที่ดิน ซึ่งถือได้ว่าจำเลยสละสิทธิและเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 มาตรา 26 และมาตรา 27 (6) แล้ว อีกทั้งยังเป็นการไปจากนิคมสร้างตนเองคำสร้อยเกินหกเดือนโดยไม่ได้รับอนุญาตก่อนที่จะได้รับหนังสือแสดงการทำประโยชน์ในที่ดิน จำเลยจึงเป็นอันขาดจากการเป็นสมาชิกของนิคมสร้างตนเองคำสร้อยและหมดสิทธิในที่ดินพิพาท และจะเรียกร้องค่าทดแทนอย่างใดมิได้ ตามมาตรา 13 อีกด้วย และโดยผลของกฎหมายดังกล่าว จำเลยจึงไม่อาจอ้างหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดิน (น.ค. 1) ที่นิคมสร้างตนเองคำสร้อยออกให้ภายหลัง เพื่อขอเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทได้อีก และโดยที่มาตรา 28 (3) และมาตรา 29 บัญญัติให้อำนาจอธิบดีกรมประชาสงเคราะห์สั่งให้สมาชิกนิคมสร้างตนเองออกจากนิคมสร้างตนเองด้วยเหตุที่ไม่ปฏิบัติตามมาตรา 27 และสมาชิกผู้นั้นจะสิ้นสภาพการเป็นสมาชิกของนิคมสร้างตนเองเมื่อถูกสั่งให้ออกตามมาตรา 28 ดังนั้น จึงเป็นอำนาจหน้าที่ของนิคมสร้างตนเองคำสร้อยและผู้เกี่ยวข้องที่จะต้องดำเนินการตามระเบียบและหลักเกณฑ์ และเพิกถอนหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดิน (น.ค. 1) ที่ออกให้แก่จำเลยตามที่พระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 บัญญัติไว้ต่อไป
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการส่งสำเนาคำพิพากษาศาลฎีกาฉบับนี้ให้นิคมสร้างตนเองคำสร้อยทราบ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ