โจทก์ฟ้องว่า โจทก์รับประกันภัยรถยนต์บรรทุก 10 ล้อหมายเลขทะเบียน 85-5134 กรุงเทพมหานคร จากนางสาวสุภาภรณ์ รามวงศ์จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของและเป็นผู้ขับรถยนต์เก๋ง หมายเลขทะเบียนข-5965 นนทบุรี จำเลยที่ 2 เป็นผู้ขับรถจักรยานยนต์คันหมายเลขทะเบียน กรุงเทพมหานคร 7ข-9041 และเป็นลูกจ้างกระทำการแทนในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 3 โดยจำเลยที่ 3 เป็นเจ้าของผู้ครอบครองใช้ประโยชน์ในรถจักรยานยนต์หมายเลขทะเบียนกรุงเทพมหานคร 7ข-9041 เป็นนายจ้าง ผู้ใช้หรือมอบหมายให้จำเลยที่ 2 ขับรถจักรยานยนต์นั้น เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2530เวลา 6.30 นาฬิกา นายประยงค์ โตแทน ขับรถยนต์บรรทุกที่เอาประกันภัยกับโจทก์ไปตามถนนแจ้งวัฒนะมุ่งหน้าไปทางแยกหลักสี่จำเลยที่ 2 และที่ 1 ขับรถยนต์และรถยนต์เก๋งตามลำดับ แล่นตามหลังรถยนต์บรรทุกที่โจทก์รับประกันภัย จำเลยที่ 1 และที่ 2ขับรถเก๋งและขับรถจักรยานยนต์ด้วยความประมาท เร่งความเร็วแซงรถบรรทุกคันที่โจทก์รับประกันภัย จำเลยที่ 2 จะขับรถจักรยานยนต์กลับรถที่เกาะกลางถนน จำเลยที่ 1 ซึ่งขับรถยนต์เก๋งตามมาอย่างกระชั้นชิดไม่เว้นช่องว่างเป็นเหตุให้รถยนต์ของจำเลยที่ 1ชนท้ายรถจักรยานยนต์คันที่จำเลยที่ 2 ขับด้วยความแรงรถจักรยานยนต์ล้มลงลื่นไถลกับพื้นถนนเกิดประกายไฟลุกไหม้ชนถูกรถยนต์บรรทุก ทำให้เกิดเพลิงไหม้รถยนต์บรรทุกเสียหายทั้งคันโจทก์เสียค่าลากรถบรรทุกไปไว้ที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอปากเกร็ดเป็นเงิน 1,500 บาท ชดใช้เงินค่าเสียหายรถยนต์บรรทุกให้ผู้เอาประกันภัยเป็นเงิน 320,000 บาท รวมแล้วโจทก์จ่ายเงินค่าเสียหายเป็นเงิน 321,500 บาท โจทก์รับช่วงสิทธินำคดีมาฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 342,970 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า โจทก์ชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้เอาประกันภัยและผู้รับประโยชน์เป็นเงิน 300,000 บาทเศษ เกินกว่าค่าเสียหายที่แท้จริง ขอให้ยกฟ้อง
จำเลย ที่ 2 และ ที่ 3 ขาดนัด ยื่นคำให้การ และ ขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินจำนวน 180,000 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นให้ยก
โจทก์ อุทธรณ์
ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ โจทก์ขอถอนอุทธรณ์เฉพาะจำเลยที่ 3 ศาลอุทธรณ์อนุญาต
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 181,500 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี ในต้นเงิน 180,000 บาท ตั้งแต่วันที่ 8 ธันวาคม 2530และในต้นเงิน 1,500 บาท ตั้งแต่วันที่ 10 มีนาคม 2531 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยถึงวันฟ้องรวมกันแล้วต้องไม่เกิน 21,470 บาท นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "คงมีปัญหาที่จะวินิจฉัยต่อไปสำหรับฎีกาโจทก์ในปัญหาข้อกฎหมายว่า การรับช่วงสิทธิของโจทก์เป็นการรับช่วงสิทธิในค่าเสียหายที่โจทก์ได้จ่ายให้แก่ผู้เอาประกันภัยไปทั้งหมด โจทก์ไม่ต้องนำสืบถึงค่าเสียหายที่แท้จริง เมื่อโจทก์จ่ายค่าเสียหายให้แก่ผู้เอาประกันภัยไปเท่าใด โจทก์ก็มีสิทธิรับช่วงสิทธิได้เพียงนั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 880 นั้น เห็นว่า กรณีการรับช่วงสิทธิ ได้บัญญัติเป็นหลักทั่วไปไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 226และ 880 กล่าวคือ เมื่อผู้รับประกันภัยที่ถูกกระทำละเมิด ซึ่งได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่เจ้าของรถผู้เอาประกันภัยแล้ว ก็ชอบที่จะเข้ารับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยผู้เป็นเจ้าหนี้ได้ และชอบที่จะใช้สิทธิทั้งหลาย บรรดาที่เจ้าหนี้มีอยู่ในมูลหนี้รวมทั้งประกันแห่งหนี้ในนามของตนเอง ซึ่งก็หมายความว่า เจ้าหนี้มีสิทธิเพียงใด ผู้รับช่วงสิทธิก็ได้รับสิทธิไปเพียงนั้นเสมอเหมือนกัน แต่กรณีของโจทก์นี้ ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่า รถยนต์บรรทุกคันที่โจทก์รับประกันภัยไว้นั้น ได้รับความเสียหายเป็นจำนวนแน่นอนเท่าใด ศาลจึงกำหนดให้ตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 438 การที่โจทก์ไปตกลงค่าเสียหายกับผู้เอาประกันภัยและจ่ายค่าเสียหายไปโดยไม่ปรากฏว่าค่าเสียหายจริงมีเพียงใดโจทก์จะเรียกร้องเอาเงินที่โจทก์จ่ายไปดังกล่าวเต็มจำนวนหาได้ไม่ ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น"
พิพากษายืน แต่ ให้ยก ฎีกา สำหรับ จำเลย ที่ 1