โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 71, 335 ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืน 700,000 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นางสาววีณา ผู้เสียหาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
โจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทน เป็นเงินค่าเสียหายที่โจทก์ร่วมต้องจ้างทนายความ 50,000 บาท ค่าเดินทางครั้งละ 1,500 บาท ประมาณ 5 ครั้ง เป็นเงิน 7,500 บาท รวมเป็นเงิน 57,500 บาท ค่าเดินทางที่โจทก์ร่วมต้องเดินทางไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน การแสวงหาข้อเท็จจริง การประสานงานคดีต่าง ๆ ค่าเสียโอกาสทางธุรกิจและรายได้ประมาณ 130,000 บาท ค่าเสียหายต่อทรัพย์สินของโจทก์ร่วมที่จำเลยลักไป 700,000 บาท รวมค่าสินไหมทดแทนทั้งสิ้น 887,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับถัดจากวันที่ยื่นคำร้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเงินแก่โจทก์ร่วมแล้วเสร็จ
จำเลยให้การในคดีส่วนแพ่งขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ยกฟ้องและยกคำร้องของโจทก์ร่วม ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนแพ่งให้เป็นพับ
โจทก์และโจทก์ร่วมอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา โดยอัยการสูงสุดรับรองให้ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติว่า โจทก์ร่วมกับจำเลยเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุจำเลยเข้าไปตัดต้นยูคาลิปตัสในที่ดินซึ่งมีเอกสารสิทธิเกี่ยวกับที่ดินเป็นหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน ส.ป.ก. 4-01 ก จำนวน 2 แปลง ซึ่งที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวเป็นที่ดินเกษตรกรรมในเขตปฏิรูปที่ดิน เดิมนางบุญชู มารดาของโจทก์ร่วมและของจำเลยเป็นผู้ได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ เมื่อนางบุญชูถึงแก่ความตายโจทก์ร่วมได้ดำเนินการทางพนักงานเจ้าหน้าที่ขอรับมรดกสิทธิการเข้าทำประโยชน์ในที่ดิน ส.ป.ก. เพียงผู้เดียว ตามแบบคำขอรับมรดกสิทธิการเข้าทำประโยชน์ในที่ดิน ส.ป.ก. วันที่ 26 พฤศจิกายน 2556 โจทก์ร่วมไปดูที่ดินพบว่ามีคนเข้าไปลักตัดต้นยูคาลิปตัสที่ปลูกไว้ในที่ดินตั้งแต่นางบุญชูยังมีชีวิตอยู่ จึงไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนไว้ตามสำเนารายงานประจำวันรับแจ้งไว้เป็นหลักฐาน หลังจากนั้นประมาณ 1 เดือน โจทก์ร่วมทราบว่าจำเลยเป็นคนตัดต้นไม้ ต่อมาเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2561 โจทก์ร่วมไปแจ้งความให้ดำเนินคดีแก่จำเลยและให้ถ้อยคำต่อพนักงานสอบสวนตามบันทึกคำให้การชั้นสอบสวน
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ ที่โจทก์ฎีกาว่า โจทก์ร่วมร้องทุกข์ภายในกำหนดอายุความแล้ว นั้น เห็นว่า คดีนี้เป็นความผิดตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 และเป็นการกระทำที่พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกระทำต่อกัน จึงเป็นความผิดอันยอมความได้ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 71 โจทก์ร่วมซึ่งเป็นผู้เสียหายจึงต้องร้องทุกข์ภายในสามเดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96 การที่โจทก์ร่วมไปดูที่ดินที่โจทก์ร่วมครอบครองทำประโยชน์ในวันที่ 26 พฤศจิกายน 2556 และพบว่ามีคนลักตัดต้นยูคาลิปตัสที่ปลูกไว้ในที่ดินดังกล่าว จึงเดินทางไปแจ้งความแก่พนักงานสอบสวนในวันเดียวกันนั้นว่าต้นยูคาลิปตัสที่โจทก์ร่วมปลูกไว้ในที่ดินที่โจทก์ร่วมครอบครองทำประโยชน์ถูกลักตัดไปทั้งหมด 40 ไร่ จึงมาแจ้งไว้เพื่อให้สืบสวนหาตัวผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดีต่อไป และในชั้นนี้ได้ขอลงประจำวันให้เป็นหลักฐานไว้ก่อนนั้น เป็นการที่โจทก์ร่วมซึ่งเป็นผู้เสียหายได้กล่าวหาต่อเจ้าหน้าที่ว่ามีการกระทำความผิดเกิดขึ้นและการกระทำนั้นทำให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ร่วม แม้โจทก์ร่วมยังไม่รู้ตัวผู้กระทำความผิด แต่ก็มีความประสงค์ให้เจ้าพนักงานตำรวจสืบสวนหาตัวผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดีต่อไป และแม้จะมีข้อความว่าในชั้นนี้ได้ขอลงประจำวันให้เป็นหลักฐานไว้ก่อน แต่ก็ชี้ให้เห็นเจตนาของโจทก์ร่วมในขณะนั้นว่า โจทก์ร่วมมีเจตนาให้ผู้กระทำความผิดได้รับโทษ การแจ้งความดังกล่าวจึงเป็นคำร้องทุกข์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 (7) แม้ภายหลังเมื่อโจทก์ร่วมรู้ตัวผู้กระทำความผิดว่าเป็นจำเลยแล้ว แต่เพิ่งไปแจ้งความเพิ่มเติมให้ดำเนินคดีแก่จำเลย รวมทั้งให้ถ้อยคำต่อพนักงานสอบสวนเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2561 หลังรู้ตัวผู้กระทำความผิดหลายปีก็ไม่ทำให้คำร้องทุกข์เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2556 เสียไป เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ร่วมร้องทุกข์ภายในกำหนดระยะเวลาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96 แล้ว ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ และเนื่องจากคดีนี้เป็นความผิดอันยอมความได้ ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 2 ยังไม่ได้วินิจฉัยในเนื้อหาว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ เพื่อให้การวินิจฉัยเป็นไปตามลำดับชั้นศาลเพราะผลแห่งการวินิจฉัยของศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ภาค 2 อาจนำไปสู่การจำกัดสิทธิการอุทธรณ์หรือฎีกาของคู่ความได้ ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิพากษาใหม่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 208 (2) ประกอบด้วยมาตรา 225 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยในประเด็นอื่นต่อไป แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี