โจทก์ฟ้องว่าระหว่างวันที่ 31 มีนาคม 2498 ถึงวันที่ 3 ตุลาคม2498 จำเลยสมคบกับพวกกระทำผิดกฎหมายคือ
ก. จำเลยได้จ้างพวกตัดไม้หวงห้ามคือไม้ตะเคียนสามพอนไม้ไข่เขียว ซึ่งเป็นไม้ตะเคียนประเภทอื่น กับไม้ตาเสือ ไม้ขานางไม้มะม่วงป่า รวม 109 ท่อน แล้วชักลากโดยมิได้รับอนุญาต
ข. จำเลยสมคบกับพวกนำไม้เข้าไปในโรงงานแปรรูป 24 ท่อน โดยยังไม่ชำระค่าภาคหลวง
ค.จำเลยมีไม้ดังกล่าวไว้ในความครอบครองโดยจำเลยพิสูจน์ไม่ได้ว่าเป็นไม้ที่ได้มาโดยชอบ
ไม้ดังกล่าวเป็นไม้หวงห้ามตามบัญชีต่อท้ายพระราชกฤษฎีกากำหนดไม้หวงห้ามในจังหวัดสตูล พ.ศ. 2497 ซึ่งเจ้าพนักงานได้ประกาศให้ทราบทั่วกันแล้ว จึงขอให้ศาลลงโทษ
จำเลยให้การว่าขณะที่จำเลยทำไม้ดังกล่าวยังไม่มีกฎหมายหวงห้ามตัดไม้ประเภทดังกล่าว
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าจำเลยมีผิดฐานมีไม้ตะเคียนสามพอนไว้โดยมิได้รับอนุญาต จึงพิพากษาให้ปรับจำเลย 500 บาท จำคุก 3 เดือน แต่ให้รอการลงโทษไว้
โจทก์จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า
แม้จะฟังว่าไม้ไข่เขียว จะอยู่ในคำว่า "ไม้ตะเคียนชนิดอื่น ๆ"ตามหลักวิชา แต่กรมป่าไม้ก็เพิ่งชี้ขาด และทางราชการเพิ่งประกาศภายหลังเมื่อจำเลยและราษฎรได้ตัดไม้ไข่เขียวแล้ว ทางราชการประกาศภายหลัง ณ ที่ว่าการอำเภอและที่อื่นเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน2498 อันไม่เป็นการชอบด้วย พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 5 เฉพาะจำเลยในคดีนี้ จึงลงโทษจำเลยเกี่ยวกับไม้ไข่เขียวไม่ได้
ฎีกาจำเลยว่าไม้ตะเคียนสามพอนไม่เป็นไม้หวงห้ามตามพระราชกฤษฎีกาไม้หวงห้าม พ.ศ. 2497 นั้น ศาลเห็นว่าพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ได้ระบุไว้กว้าง ๆ ว่า "ไม้ตะเคียนชนิดอื่น ๆ"เพื่อครอบคลุมถึงไม้ตะเคียนทุกชนิดไม่เฉพาะไม้ตะเคียนทอง หรือไม้ตะเคียนหวายเท่านั้น ได้ความว่าไม้ตะเคียนสามพอนนี้มีขึ้นอยู่มากในจังหวัดสตูล พระราชกฤษฎีกาไม้หวงห้าม พ.ศ. 2494 ก็ได้เคยระบุไว้ตามที่ราษฎรเรียกกัน ทั้งคำที่เรียกว่าไม้ตะเคียนสามพอนก็แสดงในตัวว่าเป็นไม้ตะเคียน จึงแปลความเป็นอื่นไม่ได้ ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ที่โจทก์ขอให้ลงโทษจำเลยตามฟ้องข้อ ง.ด้วยนั้น ได้ความว่าจำเลยมิใช่เป็นเจ้าของโรงงานไม้แปรรูป จึงมิใช่เป็นผู้รับอนุญาตทำการแปรรูปไม้ หรือเป็นผู้ตั้งโรงงานแปรรูปไม้จำเลยจึงไม่มีผิด
จึงพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์