โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระค่าเสียหาย 243,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 51,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 14 กันยายน 2559) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 แผนกคดีผู้บริโภคพิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 23,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ยกคำขอให้ค่าขาดราคา นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา โดยศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคอนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภควินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคลประเภทบริษัทจำกัด โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญผูกพันบริษัทได้ เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2556 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ ยี่ห้อ VOLVO รุ่น xc 90 หมายเลขทะเบียน ศช 8389 กรุงเทพมหานคร ไปจากโจทก์ในราคาเช่าซื้อ 862,822.20 บาท ตกลงชำระค่าเช่าซื้อเป็นงวดรายเดือน งวดละ 15,387 บาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) มีกำหนด 60 งวด เริ่มชำระงวดแรกวันที่ 25 ตุลาคม 2556 งวดต่อไปชำระทุกวันที่ 25 ของทุกเดือนไปจนกว่าจะครบ มีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันโดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม หลังจากทำสัญญา จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาเช่าซื้อ โดยชำระค่าเช่าซื้อเพียง 24 งวดเศษ เป็นเงิน 347,205.82 บาท แล้วผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดที่ 25 ประจำวันที่ 25 ตุลาคม 2558 โจทก์มิได้มีหนังสือขอบอกเลิกสัญญาไปยังจำเลยทั้งสอง ต่อมาวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2559 จำเลยที่ 2 ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์ ณ ภูมิลำเนาของโจทก์ ซึ่งขณะนั้นรถยนต์ที่เช่าซื้อมีหมายเลขทะเบียน 2 กร 195 กรุงเทพมหานคร โจทก์มีหนังสือฉบับลงวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2559 แจ้งให้จำเลยทั้งสองใช้สิทธิซื้อทรัพย์สิน โจทก์ขายทอดตลาดรถยนต์ที่เช่าซื้อได้ราคา 327,102.80 บาท (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) โจทก์เสียค่าบริการจัดการประมูลขายรถยนต์ 3,000 บาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2559 โจทก์มีหนังสือแจ้งการขายรถยนต์และให้ชำระค่าเสียหายไปยังจำเลยที่ 1 ซึ่งจำเลยที่ 1 ได้รับหนังสือดังกล่าวแล้ว เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2559 โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยที่ 2 ชำระค่าเสียหายเมื่อลูกหนี้ผิดนัด จำเลยที่ 2 ได้รับหนังสือฉบับนี้แล้ว จำเลยที่ 1 ยังคงใช้รถยนต์ที่เช่าซื้อหลังผิดนัดเป็นเวลา 4 เดือน คิดเป็นค่าขาดประโยชน์เดือนละ 5,000 บาท
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่โจทก์ได้รับอนุญาตให้ฎีกาว่า โจทก์มีสิทธิเรียกค่าขาดราคาตามข้อตกลงในสัญญาหรือไม่ เห็นว่า ตามบันทึกการส่งมอบรถยนต์มีข้อความอันมีใจความสำคัญว่า โดยหนังสือฉบับนี้ข้าพเจ้าประสงค์ขอเป็นฝ่ายบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อโดยการส่งมอบรถยนต์ตามสัญญาเช่าซื้อคืนให้แก่โจทก์ตามสัญญาเช่าซื้อข้อ 9 ซึ่งข้าพเจ้าสัญญาว่าจะรับผิดชอบที่จะปฏิบัติตามข้อกำหนดในสัญญาเช่าซื้อกรณีที่เจ้าของได้รับความเสียหายอันเนื่องมาจากการบอกเลิกสัญญาของข้าพเจ้า โดยที่หัวกระดาษของเอกสารดังกล่าวมีข้อความว่า บันทึกการส่งมอบรถยนต์เพื่อเลิกสัญญา และตามบันทึกการส่งมอบรถยนต์ ระบุสถานที่รับรถว่า เป็นการส่งมอบคืน ณ ภูมิลำเนาของโจทก์ อีกทั้งตามสัญญาเช่าซื้อ ข้อ 9 กำหนดว่าผู้เช่าซื้อฝ่ายเดียวจะบอกเลิกสัญญาในเวลาใดก็ได้ โดยการส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อกลับคืนให้เจ้าของ ณ ภูมิลำเนาของเจ้าของ และผู้เช่าตกลงที่จะชำระบรรดาหนี้ที่มีอยู่ก่อนวันบอกเลิกสัญญาแก่เจ้าของจนครบถ้วน และเมื่อเจ้าของนำรถยนต์ที่เช่าซื้อออกขาย หากได้ราคาน้อยกว่ามูลหนี้ส่วนที่ขาดอยู่ตามสัญญาเช่าซื้อ ผู้เช่าซื้อจะต้องรับผิดชำระส่วนที่ขาดนั้นให้แก่เจ้าของจนครบถ้วน ดังนี้ เมื่อพิจารณาเอกสารดังกล่าวข้างต้นประกอบกับจำเลยที่ 2 เป็นทั้งกรรมการของจำเลยที่ 1 และเป็นผู้ค้ำประกันจึงแปลความหมายการกระทำของจำเลยที่ 2 ดังกล่าวได้ว่า จำเลยทั้งสองมีเจตนาจะบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อต่อโจทก์โดยส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อกลับคืนให้เจ้าของ ณ ภูมิลำเนาของเจ้าของ และตกลงที่จะรับผิดในบรรดาหนี้ที่เกิดขึ้นจากการบอกเลิกสัญญานี้อันเป็นการใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาตามข้อ 9 ข้างต้น สัญญาเช่าซื้อจึงเลิกกันตามข้อสัญญาดังกล่าว หาใช่สัญญาเช่าซื้อเลิกกันโดยคู่สัญญาสมัครใจที่จะเลิกสัญญาต่อกันโดยปริยายดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยมาไม่ โจทก์จึงมีสิทธิเรียกค่าขาดราคาได้ มีปัญหาต้องพิจารณาต่อไปว่า จำเลยที่ 1 ผู้เช่าซื้อต้องรับผิดชำระค่าขาดราคาให้แก่โจทก์เพียงใด โดยโจทก์ฎีกาขอค่าขาดราคาเป็นเงิน 194,513.58 บาท เห็นว่า ค่าเช่าซื้อเป็นเงินลงทุนของโจทก์รวมกับผลประโยชน์ที่โจทก์คำนวณไว้ล่วงหน้าสำหรับการลงทุนเป็นเวลา 60 เดือน โดยให้จำเลยที่ 1 ชำระเป็นงวด งวดละ 14,380.37 บาท (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) โจทก์ได้รับค่าเช่าซื้อมาแล้ว 24 งวดเศษ เป็นเงิน 347,205.82 บาท และได้รับรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนหลังจากทำสัญญาเช่าซื้อ 2 ปี 4 เดือน แต่การจะกำหนดให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าขาดราคาเท่ากับค่าเช่าซื้อส่วนที่ขาดซึ่งได้รวมผลประโยชน์สำหรับการลงทุนจนครบ 5 ปี ตามที่ตกลงกันไว้ ย่อมเป็นจำนวนเงินที่สูงเกินส่วน เมื่อคำนึงถึงราคาเงินสดของรถยนต์ที่เช่าซื้อ ค่าเช่าซื้อที่โจทก์ได้รับชำระและเงินที่ได้จากการขายรถยนต์แล้ว ศาลฎีกาเห็นสมควรกำหนดให้จำเลยที่ 1 ผู้เช่าซื้อชำระค่าขาดราคาเป็นเงิน 50,000 บาท
อนึ่ง ข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยที่ 1 เริ่มผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่วันที่ 25 ตุลาคม 2558 ซึ่งเป็นเวลาภายหลังที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 686 ที่แก้ไขใหม่ มีผลใช้บังคับแล้ว เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์จึงต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติดังกล่าว คือ โจทก์ต้องมีหนังสือบอกกล่าวไปยังผู้ค้ำประกันภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ลูกหนี้ผิดนัด แต่โจทก์เพิ่งมีหนังสือแจ้งสิทธิการซื้อทรัพย์สินลงวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2559 ส่งไปยังจำเลยที่ 2 ตามที่อยู่ที่ปรากฏตามสัญญาค้ำประกันโดยหนังสือดังกล่าวถูกส่งคืนกลับต้นทาง โจทก์ขายทอดตลาดรถยนต์ที่เช่าซื้อเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2559 และหลังจากนั้นโจทก์มีหนังสือบอกกล่าวทวงถามไปยังจำเลยที่ 2 อีกครั้ง เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2559 โดยจำเลยที่ 2 ได้รับเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2559 ดังนี้ จำเลยที่ 2 ในฐานะส่วนตัวซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันย่อมต้องหลุดพ้นจากความรับผิดในดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทน ตลอดจนค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้รายนั้นบรรดาที่เกิดขึ้นภายหลังจากพ้นกำหนดเวลา 60 วัน จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ชำระค่าขาดประโยชน์อันเป็นค่าสินไหมทดแทนเพียง 60 วันเท่านั้น ส่วนค่าขาดราคาถือเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้ จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดในมูลหนี้ค่าขาดราคา ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 73,000 บาท โดยให้จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดชำระค่าขาดประโยชน์ 10,000 บาท แก่โจทก์ และให้จำเลยที่ 1 ชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 73,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ