โจทก์ฟ้องและแก้ไขฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืน 453,000 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา บริษัท ท. ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 วรรคแรก จำคุก 2 ปี ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี 4 เดือน ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืน 453,000 บาท แก่โจทก์ร่วม
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ และยกคำขอให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืนแก่โจทก์ร่วม
โจทก์และโจทก์ร่วมฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้เถียงกันชั้นฎีกาฟังได้ว่า นายเจนวิชญ์ อ้างตัวว่าเป็นนายกิตติชัย ติดต่อซื้อโทรศัพท์เคลื่อนที่ ยี่ห้อซัมซุง รุ่นกาแล็กซี่โน้ต 8 จำนวน 215 เครื่อง จากโจทก์ร่วม โดยอ้างว่าเป็นพนักงานบริษัท อ. เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2560 นายพรเทพ พนักงานโจทก์ร่วมนำโทรศัพท์เคลื่อนที่ ยี่ห้อซัมซุง รุ่นกาแล็กซี่โน้ต 8 จำนวน 215 เครื่อง ของโจทก์ร่วมไปส่งมอบให้แก่นายเจนวิชญ์ที่อาคาร พ. ระหว่างรอการชำระเงิน นายเจนวิชญ์ ออกอุบายและนำโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้งหมดของโจทก์ร่วมไป จากนั้นนายเจนวิชญ์นำโทรศัพท์เคลื่อนที่ของโจทก์ร่วม 20 เครื่อง ไปขายให้แก่จำเลย ซึ่งเป็นเจ้าของร้านโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ห้างสรรพสินค้า ม. ต่อมาวันที่ 17 พฤศจิกายน 2560 เจ้าพนักงานตรวจยึดโทรศัพท์เคลื่อนที่ ยี่ห้อซัมซุง รุ่นกาแล็กซี่โน้ต 8 จำนวน 5 เครื่อง เป็นของกลางและเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2560 เจ้าพนักงานจับกุมนายเจนวิชญ์พร้อมยึดโทรศัพท์เคลื่อนที่ ยี่ห้อซัมซุง รุ่นกาแล็กซี่โน้ต 8 จำนวน 195 เครื่อง เป็นของกลาง โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยกับนายเจนวิชญ์ตามคดีอาญาหมายเลขดำที่ 123/2561 ของศาลชั้นต้น นายเจนวิชญ์ให้การรับสารภาพส่วนจำเลยให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้โจทก์แยกฟ้องจำเลยเป็นคดีใหม่ โจทก์จึงยื่นฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์และโจทก์ร่วมว่า จำเลยกระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่า ในคดีความผิดข้อหารับของโจรนั้น โจทก์และโจทก์ร่วมมีหน้าที่ต้องนำสืบให้เห็นว่า จำเลยซื้อโทรศัพท์เคลื่อนที่ของโจทก์ร่วมไว้โดยรู้ว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำความผิด ฐานลักทรัพย์ไม่ใช่ว่าเมื่อจำเลยเป็นผู้รับซื้อโทรศัพท์เคลื่อนที่ดังกล่าวแล้ว จำเลยต้องนำสืบแก้ตัวว่าตนไม่รู้ว่าเป็นของที่ได้มาจากการกระทำความผิด คดีนี้โจทก์และโจทก์ร่วมนำสืบได้ความเพียงว่านายเจนวิชญ์อ้างตัวว่าเป็นนายกิตติชัยติดต่อซื้อโทรศัพท์เคลื่อนที่ 215 เครื่อง จากโจทก์ร่วม และโจทก์ร่วมนำโทรศัพท์เคลื่อนที่ดังกล่าวไปส่งมอบให้แก่นายเจนวิชญ์แล้ว นายเจนวิชญ์ใช้อุบายลักโทรศัพท์เคลื่อนที่ดังกล่าวไป โดยยังไม่ได้ชำระเงิน ต่อมานายเจนวิชญ์ นำโทรศัพท์เคลื่อนที่ 20 เครื่องตามฟ้องไปขายให้แก่จำเลย จากนั้นจำเลยนำโทรศัพท์เคลื่อนที่ดังกล่าวไปขายต่อให้แก่เจ้าของร้านโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ตั้งอยู่ในชั้นและห้างสรรพสินค้าเดียวกันกับที่ร้านของจำเลยตั้งอยู่เท่านั้นโดยโจทก์และโจทก์ร่วมไม่มีพยานหลักฐานมายืนยันให้เห็นว่าจำเลยรับซื้อโทรศัพท์เคลื่อนที่ของโจทก์ร่วมที่ถูกนายเจนวิชญ์ลักไปไว้โดยรู้ว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาโดยการกระทำความผิด เมื่อพิจารณาว่าจำเลยเป็นเจ้าของร้าน ฮ. ซึ่งประกอบธุรกิจซื้อขายโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้งใหม่และเก่าทุกชนิด การที่จำเลยรับซื้อโทรศัพท์เคลื่อนที่ดังกล่าวจากนายเจนวิชญ์จึงมิใช่เรื่องผิดปกติทางการค้าของจำเลย ประกอบกับการซื้อขายโทรศัพท์เคลื่อนที่ดังกล่าวกระทำเปิดเผยในเวลาทำการของร้านของจำเลยโดยไม่มีการปิดบังหรือซุกซ่อนแต่อย่างใด แม้โจทก์และโจทก์ร่วมจะนำสืบในส่วนของราคาโทรศัพท์เคลื่อนที่ของโจทก์ร่วมว่า ราคาขายปลีกเครื่องละ 33,900 บาท ขายส่งเครื่องละ 30,200 บาท และราคาจำหน่ายที่ห้างสรรพสินค้า ม. เครื่องละ 29,000 บาท โดยได้ความว่าจำเลยรับซื้อจากนายเจนวิชญ์ในราคาเครื่องละ 24,500 บาท ราคาที่จำเลยรับซื้อไว้จึงต่ำกว่าราคาที่โจทก์ร่วมขายส่งกว่าร้อยละ 10 แต่จำเลยก็นำสืบว่านายเจนวิชญ์นำโทรศัพท์เคลื่อนที่ตามฟ้องไปขายให้แก่จำเลยรวมกันในครั้งเดียว โดยนายเจนวิชญ์อ้างว่าเป็นรางวัลที่บริษัท อ. มอบให้แก่พนักงานที่ทำยอดขายได้ตามกำหนด และเนื่องจากพนักงานมีโทรศัพท์เคลื่อนที่อยู่แล้วอยากได้เป็นเงินสดมากกว่า จึงให้นายเจนวิชญ์นำไปขายให้ จึงยังรับฟังไม่ได้ว่า ที่จำเลยรับซื้อโทรศัพท์เคลื่อนที่ตามฟ้องในราคาที่ถูกกว่าปกติเพราะรู้อยู่แล้วว่าเป็นทรัพย์ที่ถูกนายเจนวิชญ์ลักมา ประกอบกับจำเลยได้ตรวจสอบหลักฐานใบเสร็จรับเงินกับบัตรประจำตัวประชาชนของนายเจน ก่อนที่จะรับซื้อโทรศัพท์เคลื่อนที่ไว้ ตามขั้นตอนการรับซื้อโทรศัพท์เคลื่อนที่ของจำเลยแล้ว แม้ใบเสร็จรับเงินระบุชื่อผู้ซื้อคือบริษัท อ. ไม่ได้ระบุชื่อของนายเจนวิชญ์ก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาข้ออ้างของนายเจนวิชญ์ตามที่จำเลยนำสืบประกอบภาพถ่ายจากกล้องวงจรปิด ที่นายเจนวิชญ์แต่งกายคล้ายหรือเหมือนกันกับขณะที่ไปติดต่อกับพนักงานโจทก์ร่วม โดยคล้องบัตรพนักงานบริษัทไว้ด้วย ทั้งยังได้ความว่านายเจนวิชญ์ได้มอบนามบัตรชื่อนายกิตติชัยให้แก่จำเลย โดยอ้างว่าเป็นหัวหน้าของนายเจนวิชญ์ การที่ใบเสร็จรับเงินดังกล่าวจะไม่ได้ระบุชื่อนายเจนวิชญ์เป็นผู้ซื้อจึงหาเป็นข้อบ่งชี้ว่าจำเลยรู้ว่าโทรศัพท์เคลื่อนที่ตามฟ้องเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำความผิดแต่อย่างใด ครั้นหลังจากจำเลยรับซื้อโทรศัพท์เคลื่อนที่ตามฟ้องจากนายเจนวิชญ์แล้วจำเลยนำโทรศัพท์เคลื่อนที่ดังกล่าวไปขายต่อให้แก่เจ้าของร้านโทรศัพท์เคลื่อนที่หลายรายที่ตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้ามาบุญครองชั้นเดียวกันกับร้านของจำเลยโดยเปิดเผย ไม่มีลักษณะปิดบังหรือซุกซ่อนแต่อย่างใดเช่นกัน ดังนั้น ลำพังเพียงพฤติการณ์ที่ได้ความว่า จำเลยรับซื้อโทรศัพท์เคลื่อนที่ตามฟ้องที่นายเจนวิชญ์ลักมาจากโจทก์ร่วมแล้วจำเลยนำโทรศัพท์เคลื่อนที่ดังกล่าวไปขายให้แก่บุคคลอื่น ยังไม่อาจสันนิษฐานให้เป็นผลร้ายแก่จำเลยว่าจำเลยซื้อโทรศัพท์เคลื่อนที่ดังกล่าวโดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์นอกจากพยานหลักฐานโจทก์และโจทก์ร่วมดังกล่าวข้างต้นแล้ว โจทก์และโจทก์ร่วมไม่มีพยานอื่นใดมาสืบสนับสนุนเพื่อพิสูจน์ความผิดของจำเลย พยานหลักฐานโจทก์และโจทก์ร่วมเท่าที่นำสืบมาจึงมีน้ำหนักน้อยและรูปคดียังมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยกระทำความผิดข้อหารับของโจรหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาของโจทก์และโจทก์ร่วมในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น และเมื่อวินิจฉัยดังนี้แล้วจึงไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ที่ว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดข้อหารับของโจรเพื่อค้ากำไรหรือไม่ เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์และโจทก์ร่วมประการต่อไปมีว่าจำเลยต้องคืนหรือใช้ราคาทรัพย์แก่โจทก์ร่วมหรือไม่ เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่จำเลยรับซื้อไว้จากนายเจนวิชญ์เป็นของโจทก์ร่วม จำเลยจึงไม่ได้กรรมสิทธิ์ในโทรศัพท์เคลื่อนที่เพราะผู้ขายไม่มีกรรมสิทธิ์ในโทรศัพท์เคลื่อนที่นั้น ตามหลักที่ว่าผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน โจทก์ร่วมซึ่งเป็นเจ้าของที่แท้จริงย่อมมีสิทธิติดตามเอาโทรศัพท์เคลื่อนที่ดังกล่าวคืนจากผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 แม้ร้านของจำเลยจะอยู่ชุมชนการค้า แต่จำเลยรับซื้อโทรศัพท์เคลื่อนที่จากนายเจนวิชญ์ที่นำมาขายให้ที่ร้านของจำเลยโดยมิได้ซื้อจากร้านค้าใดร้านค้าหนึ่งในชุมชนการค้านั้น การที่จำเลยรับซื้อไว้โดยสุจริตและไม่เป็นความผิดข้อหารับของโจรดังที่วินิจฉัยมา ก็ถือไม่ได้ว่าจำเลยซื้อโทรศัพท์เคลื่อนที่ในท้องตลาดอันจะได้รับความคุ้มครองด้วยการยึดถือไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1332 สำหรับราคาโทรศัพท์เคลื่อนที่ดังกล่าว โจทก์และโจทก์ร่วมนำสืบว่าโทรศัพท์เคลื่อนที่ ที่โจทก์ร่วมขายให้แก่นายเจนวิชญ์ ราคาเครื่องละ 30,200 บาท จำเลยไม่นำสืบหักล้างให้เห็นเป็นอย่างอื่น จึงเชื่อว่าราคาโทรศัพท์เคลื่อนที่ดังกล่าวมีราคาตามฟ้องจริง ดังนั้น จำเลยจึงต้องคืนโทรศัพท์เคลื่อนที่ดังกล่าว หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาเป็นเงิน 453,000 บาท แก่โจทก์ร่วม ที่ศาลอุทธรณ์ยกคำขอให้คืนหรือใช้ราคาทรัพย์แก่โจทก์ร่วมมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์และโจทก์ร่วมในข้อนี้ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืน 453,000 บาท แก่โจทก์ร่วม นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์