โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 58, 80, 83, 91, 289, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 4, 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ ริบของกลาง และนำโทษของจำเลยที่ 1 ที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1431/2562 ของศาลชั้นต้น มาบวกเข้ากับโทษของจำเลยที่ 1 ในคดีนี้
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ แต่จำเลยที่ 1 รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้บวกโทษ
ระหว่างพิจารณา นาย ม. ผู้เสียหาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาตให้เข้าร่วมเป็นโจทก์เฉพาะข้อหาร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน และโจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นค่ารักษาพยาบาล 50,000 บาท ค่าขาดประโยชน์ในทางทำมาหาได้วันละ 325 บาท นาน 3 เดือน เป็นเงิน 29,250 บาท ค่าสินไหมทดแทนกรณีสูญเสียแขนซ้าย 300,000 บาท ค่าเสียหายทางจิตใจที่ต้องพิการ 300,000 บาท ค่าซ่อมรถยนต์ 15,000 บาท รวมเป็นเงิน 694,250 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันกระทำละเมิดถึงวันยื่นคำร้อง รวมเป็นเงิน 705,492.57 บาท และดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 694,250 บาท นับแต่วันถัดจากวันที่โจทก์ร่วมยื่นคำร้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองให้การในคดีส่วนแพ่งว่า ไม่ได้กระทำความผิด จึงไม่ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทน
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (4), 80, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคสาม, 72 ทวิ วรรคสอง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน จำคุกจำเลยทั้งสองตลอดชีวิต ฐานร่วมกันมีอาวุธปืนที่เป็นของผู้อื่นซึ่งได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้ตามกฎหมายและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุกคนละ 6 เดือน ฐานร่วมกันพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและโดยไม่มีเหตุสมควร เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 1 ปี รวมทุกกระทงแล้วคงจำคุกจำเลยทั้งสองตลอดชีวิตตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (3) เมื่อจำคุกจำเลยที่ 1 ตลอดชีวิตแล้ว จึงไม่อาจนำโทษจำคุกของจำเลยที่ 1 ที่รอไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1431/2562 ของศาลชั้นต้น มาบวกกับโทษจำคุกของจำเลยที่ 1 ในคดีนี้ได้อีก ยกคำขอของโจทก์ในส่วนนี้ ริบของกลาง ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทน 694,250 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 24 ธันวาคม 2562 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ร่วม และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแก่โจทก์ร่วมโดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาแก้เป็นว่า ในส่วนของดอกเบี้ยให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 24 ธันวาคม 2562 เป็นต้นไปจนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และอัตราร้อยละ 5 ต่อปี ตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ร่วม ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยให้ปรับเปลี่ยนลดลงหรือเพิ่มขึ้นตามที่พระราชกฤษฎีกาซึ่งออกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 7 บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี แต่ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามที่โจทก์ร่วมขอ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้ฎีกาโต้แย้งฟังได้ตามคำพิพากษาศาลล่างทั้งสองว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง ขณะโจทก์ร่วมขับรถยนต์อยู่บนถนนที่เกิดเหตุ มีคนร้ายใช้อาวุธปืนยิงโจทก์ร่วม กระสุนปืนถูกโจทก์ร่วมที่แขนซ้ายเป็นเหตุให้โจทก์ร่วมได้รับอันตรายสาหัส ต้องตัดแขนซ้ายและพิการไปตลอดชีวิตทั้งรถยนต์ของโจทก์ร่วมได้รับความเสียหาย ต่อมาเจ้าพนักงานตำรวจร่วมกันจับกุมจำเลยทั้งสองตามหมายจับ ชั้นสอบสวนพนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาแก่จำเลยทั้งสองว่า ร่วมกันมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ร่วมกันพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและโดยไม่มีเหตุสมควร และร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ โจทก์ร่วมรู้จักกับจำเลยทั้งสองมาตั้งแต่เด็ก และไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกัน ในช่วงเกิดเหตุโจทก์ร่วมเป็นผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 3 ตำบลจะแหน อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา ส่วนจำเลยทั้งสองเป็นลูกจ้างสำนักงานองค์การบริหารส่วนตำบลจะแหนและพักอาศัยอยู่ที่บ้านนายยูนุ๊ห์ ซึ่งเป็นนายกองค์การบริหารส่วนตำบลจะแหน โจทก์ร่วมเคยแสดงตนเข้ามาขอตรวจสอบการดำเนินการโครงการถมดินก่อสร้างตลาดนัดขององค์การบริหารส่วนตำบลจะแหน คืนเกิดเหตุโจทก์ร่วมขับรถยนต์ออกจากบ้านนายหนิเล๊าะ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 6 ตำบลทุ่งพอ อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นเพื่อนสนิทกับโจทก์ร่วม และเป็นญาติกับนายยูนุ๊ห์ แล่นมาตามถนนสาย 4085 มุ่งหน้าอำเภอสะบ้าย้อย ด้วยความเร็วประมาณ 50 ถึง 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยลดกระจกด้านคนขับลงเพื่อสูบบุหรี่ บริเวณถนนที่เกิดเหตุเป็นถนนสาธารณะที่มีแสงไฟจากเสาไฟฟ้าเปิดในเวลากลางคืนส่องสว่างตลอดเส้นทาง สำหรับข้อหาความผิดฐานร่วมกันมีอาวุธปืนที่เป็นของผู้อื่นซึ่งได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้ตามกฎหมายและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและฐานร่วมกันพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและโดยไม่มีเหตุสมควร ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นและลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสองไม่เกิน 5 ปี จึงต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง เมื่อจำเลยทั้งสองไม่ได้รับอนุญาตให้ฎีกาในข้อหาทั้งสองดังกล่าว แม้ศาลชั้นต้นจะรับฎีกาทั้งสองข้อหามาก็เป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ ข้อหาทั้งสองดังกล่าวจึงถึงที่สุดไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9
คดีคงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า จำเลยทั้งสองเป็นคนร้ายกระทำความผิดตามที่ศาลล่างทั้งสองมีคำพิพากษาต้องกันมาหรือไม่ ข้อนี้โจทก์ร่วมเบิกความว่า คืนเกิดเหตุโจทก์ร่วมขับรถยนต์โดยใช้ความเร็ว 50 ถึง 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เมื่อถึงที่เกิดเหตุโจทก์ร่วมได้ยินเสียงรถจักรยานยนต์มาจากทางด้านหลังขับแซงขึ้นด้านขวาเทียบด้านข้าง โจทก์ร่วมเห็นจากกระจกข้างด้านขวาว่ามีผู้ชายสองคน ไม่ได้สวมใส่หมวกนิรภัย โจทก์ร่วมหันไปดูเห็นผู้ชายที่นั่งซ้อนท้ายใช้มือสองมือถืออาวุธปืนสั้นเล็งมาทางโจทก์ร่วม ส่วนคนขับรูปร่างใหญ่และศีรษะล้าน โจทก์ร่วมดึงเบาะนั่งให้เอนหลังแล้วใช้มือซ้ายจับพวงมาลัยแทน โจทก์ร่วมได้ยินเสียงปืน 2 ถึง 3 นัด พร้อมกับเสียงกระจกแตก รู้สึกว่าถูกยิงที่แขนซ้ายโจทก์ร่วมเหยียบเบรกให้รถหยุดจอดกลางถนน แต่ทำให้รถเสียหลักมาทางด้านซ้ายเล็กน้อย โจทก์ร่วมยกมือขวามาจับพวงมาลัยแทนเพราะมือซ้ายหักห้อยอยู่รถจักรยานยนต์ของคนร้ายแล่นเลยไปข้างหน้า แล้วเลี้ยวซ้ายกลับมาจอดหันหน้าเข้าหารถของโจทก์ร่วมห่างประมาณ 10 เมตร โดยจอดริมถนนด้านซ้าย ขณะนั้นไฟหน้ารถของโจทก์ร่วมเปิดอยู่ และบริเวณดังกล่าวมีไฟถนนสาธารณะหลายดวงโดยรถจักรยานยนต์ของคนร้ายจอดอยู่ใต้ดวงไฟซึ่งติดอยู่ ข้างเสาไฟดังกล่าวมียางรถจักรยานยนต์ตั้งอยู่และมีป้ายเขียนว่าร้านปะยาง ขณะนั้นคนร้ายที่นั่งซ้อนท้ายยังเล็งปืนมาที่โจทก์ร่วม และมีลักษณะคล้ายเหนี่ยวไกยิงโจทก์ร่วมแต่ปืนไม่ลั่น โจทก์ร่วมเหยียบคันเร่งรถทีแรกตั้งใจจะชนทั้งสองคนแต่กลัวรถเสียหลักและไปต่อไปไม่ได้จึงเปลี่ยนใจขับหนีไปทางอำเภอสะบ้าย้อย โจทก์ร่วมเห็นคนร้ายทั้งสองคนอย่างชัดเจนและจำได้ว่า คนร้ายที่ขับรถจักรยานยนต์คือ จำเลยที่ 1 ส่วนคนร้ายที่นั่งซ้อนท้ายคือ จำเลยที่ 2 เห็นว่า บริเวณที่เกิดเหตุมีแสงไฟจากไฟฟ้าสาธารณะ โจทก์ร่วมรู้จักกับจำเลยทั้งสองมาก่อน พฤติการณ์ที่คนร้ายขับรถจักรยานยนต์มาประกบยิงแสดงว่าเป็นการยิงในระยะใกล้ โจทก์ร่วมถูกยิงมีบาดแผลกระสุนปืนเฉี่ยวหน้าอกขวา บ่งชี้ว่า เป็นการยิงในขณะรถจักรยานยนต์ที่จำเลยที่ 1 ขับตีขนานเคียงข้างกับรถยนต์ที่โจทก์ร่วมขับอยู่ในระดับสายตาที่โจทก์ร่วมสามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจน โจทก์ร่วมจึงดึงเบาะนั่งให้เอนหลังหลบจึงถูกกระสุนปืนเฉี่ยวหน้าอกขวาและถูกแขนซ้ายจนหักห้อยมีบาดแผลตามใบชันสูตรบาดแผลของแพทย์โรงพยาบาล ส. มิใช่เป็นการยิงแนวทแยง โดยโจทก์ร่วมต้องหันกลับไปมองดังที่จำเลยทั้งสองกล่าวอ้างในฎีกา หลังจากถูกยิงแล้วโจทก์ร่วมมีความคิดที่จะเหยียบคันเร่งขับรถยนต์ชนรถจักรยานยนต์ที่จำเลยที่ 1 ขับ แสดงว่าโจทก์ร่วมยังมีสติไม่ได้ตื่นตระหนกตกใจกลัว ส่วนที่จำเลยที่ 1 ขับรถจักรยานยนต์เลี้ยวซ้ายกลับมาจอดหันหน้าเข้าหารถของโจทก์ร่วมโดยยังไม่หลบหนีไปจากที่เกิดเหตุก็เพราะต้องการยิงซ้ำ แต่เนื่องจากกระสุนปืนไม่ลั่น เมื่อโจทก์ร่วมเคยเห็นหน้าและรู้จักกับจำเลยทั้งสองมาก่อน ประกอบกับที่เกิดเหตุมีแสงสว่างและโจทก์ร่วมมีระยะเวลาพอสมควร จึงเชื่อว่า โจทก์ร่วมสามารถมองเห็นและจดจำจำเลยทั้งสองได้ ส่วนที่โจทก์ร่วมไม่ได้บอกแก่นางอารยา ภริยาของโจทก์ร่วมว่าคนร้ายเป็นใคร ก็ได้ความจากพันตำรวจตรีกิตติพัฒน์ พนักงานสอบสวนเบิกความว่า คืนเกิดเหตุขณะโจทก์ร่วมอยู่ที่โรงพยาบาล ส. โจทก์ร่วมได้พบกับเจ้าพนักงานตำรวจชุดสืบสวนและบอกว่าโจทก์ร่วมรู้จักคนที่ยิง แต่ยังไม่ได้บอกว่าเป็นใคร และปรากฏตามใบชันสูตรบาดแผลของแพทย์ว่า คืนเกิดเหตุแพทย์โรงพยาบาล ส. ส่งต่อโจทก์ร่วมไปรับการรักษาที่โรงพยาบาล ห. แสดงว่าขณะอยู่ที่โรงพยาบาล ส. โจทก์ร่วมไม่มีเวลาที่จะพูดคุยกับภริยาของตนและเจ้าพนักงานตำรวจชุดสืบสวนจึงไม่ได้บอกว่าคนร้ายเป็นใคร แต่เมื่อแพทย์โรงพยาบาล ห. รักษาบาดแผลโจทก์ร่วมพ้นขีดอันตรายแล้วโจทก์ร่วมก็ได้บอกทันทีแก่นายพินิจ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านของโจทก์ร่วม ร้อยตำรวจเอกบัญญัติ เจ้าพนักงานตำรวจผู้สืบสวนและพันตำรวจตรีกิตติ์พิพัฒน์ พนักงานสอบสวนว่า จำเลยทั้งสองเป็นคนร้ายมีข้อความทำนองเดียวกับที่โจทก์ร่วมเบิกความ สำหรับหัวกระสุนปืน 2 หัว และชิ้นส่วนตะกั่ว 4 ชิ้น ก็ปรากฏตามรายงานการตรวจพิสูจน์ ว่า ใช้ยิงมาจากปืนกระบอกเดียวกัน ดังนี้ คำเบิกความของโจทก์ร่วมสมเหตุผลมีน้ำหนักมั่นคงเชื่อได้ว่า โจทก์ร่วมจดจำคนร้ายได้ว่าเป็นจำเลยที่ 1 ขับรถจักรยานยนต์มีจำเลยที่ 2 นั่งซ้อนท้ายใช้อาวุธปืนยิงโจทก์ร่วม ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า คำเบิกความโจทก์ร่วมเป็นพิรุธ ไม่น่าเชื่อถือ โจทก์ร่วมมีข้อขัดแย้งกับผู้มีอิทธิพลหลายกลุ่ม การถูกลอบยิงเป็นการกระทำของบุคคลอื่น โจทก์ร่วมจดจำคนร้ายไม่ได้เลยกลั่นแกล้งจำเลยทั้งสองที่เป็นผู้ใต้บังคับบัญชานายยูนุ๊ห์ นั้นฟังไม่ขึ้น
ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า จำเลยทั้งสองถูกคุมขังมาโดยตลอด พยายามประสานให้ญาตินำนางคอตัม และนายอิสกรรดาร์ ไปพบพนักงานสอบสวนเพื่อยืนยันฐานที่อยู่ของจำเลยทั้งสอง แต่พนักงานสอบสวนแจ้งว่าค่อยไปให้การในชั้นศาล ซึ่งในทางปฏิบัติพนักงานสอบสวนจะรวบรวมพยานหลักฐานฝ่ายผู้เสียหายเป็นหลักมากกว่าที่จะดำเนินการรวบรวมข้อเท็จจริงพยานหลักฐานของฝ่ายผู้ต้องหาหรือจำเลย จำเลยทั้งสองจึงต้องนำพยานทั้งสองมาเบิกความในชั้นพิจารณาเพื่อขอความเป็นธรรมจากศาล ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้อ้างนางคอตัมเสียตั้งแต่ในชั้นสอบสวน เป็นข้อวินิจฉัยที่คลาดเคลื่อน นั้น เห็นว่า เมื่อพันตำรวจตรีกิตติ์พิพัฒน์พนักงานสอบสวนมาเบิกความเป็นพยานโจทก์และโจทก์ร่วม จำเลยทั้งสองไม่ได้ถามค้านถึงข้อเท็จจริงตามที่อ้างมาในฎีกา ข้ออ้างตามฎีกาจำเลยทั้งสองเป็นการเลื่อนลอย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 วินิจฉัยว่า ข้ออ้างฐานที่อยู่ของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น แล้วพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสองมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
ประการสุดท้ายที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า จำเลยทั้งสองไม่จำต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายในส่วนแพ่งแก่โจทก์ร่วม นั้น เห็นว่า คดีส่วนแพ่งนี้ โจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ตนอันเนื่องมาจากการกระทำของจำเลยทั้งสองในคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 44/1 ซึ่งคดีอาญาพนักงานอัยการโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองในความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน คดีส่วนแพ่งโจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอเรียกค่าเสียหายแก่ร่างกายและค่าซ่อมรถยนต์ของโจทก์ร่วมอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสองดังกล่าว กรณีจึงเป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 เมื่อข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาว่า จำเลยที่ 1 ขับรถจักรยานยนต์ มีจำเลยที่ 2 นั่งซ้อนท้ายใช้อาวุธปืนยิงโจทก์ร่วมขณะขับรถยนต์ กระสุนปืนทะลุกระจกและตัวรถถูกโจทก์ร่วมที่แขนซ้ายเป็นเหตุให้โจทก์ร่วมได้รับอันตรายสาหัส ต้องตัดแขนซ้ายและพิการไปตลอดชีวิต และรถยนต์ของโจทก์ร่วมได้รับความเสียหาย ถือได้ว่าเป็นการกระทำละเมิดแก่ร่างกายและทรัพย์สินของโจทก์ร่วมจากเหตุการณ์หรือกรรมเดียวกัน จำเลยทั้งสองต้องร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้นแก่โจทก์ร่วม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 และมาตรา 432 ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าสินไหมทดแทนให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่ร่างกายโจทก์ร่วมมานั้น ชอบแล้ว ส่วนค่าเสียหายแก่ทรัพย์สินที่เป็นค่าซ่อมรถยนต์ของโจทก์ร่วมนั้น มีปัญหาว่า คดีนี้พนักงานอัยการโจทก์ไม่ได้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองในความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ซึ่งเกิดแก่รถยนต์ของโจทก์ร่วมมาด้วย โจทก์ร่วมชอบที่จะยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนในส่วนค่าซ่อมรถยนต์ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 44/1 ได้หรือไม่ ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า รถยนต์ของโจทก์ร่วมได้รับความเสียหายเกิดจากการกระทำในเหตุการณ์หรือกรรมเดียวกับความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนที่พนักงานอัยการโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสอง ถือเป็นการกระทำละเมิดในเหตุการณ์หรือกรรมเดียวกัน คดีนี้โจทก์ร่วมใช้สิทธิยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 44/1 ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่มีเจตนารมณ์จะช่วยให้ผู้ที่ได้รับความเสียหายในทางแพ่งได้รับความสะดวกรวดเร็วในการได้รับชดใช้ค่าสินไหมทดแทนและไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีแพ่งเป็นอีกคดีหนึ่ง ทั้งคดีแพ่งและคดีอาญาจะได้เสร็จสิ้นไปในคราวเดียวกัน โดยให้ผู้ที่ได้รับความเสียหายยื่นคำร้องเข้ามาในคดีอาญาดังที่ปรากฏในหมายเหตุท้ายพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 24) พ.ศ. 2548 ความว่า เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากการดำเนินคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาในคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาบัญญัติให้พนักงานอัยการมีเพียงอำนาจในการเรียกทรัพย์สินหรือราคาแทนผู้เสียหายในความผิดเกี่ยวกับทรัพย์บางประเภทเท่านั้นผู้เสียหายซึ่งได้รับความเสียหายจากการกระทำความผิดของจำเลยต้องไปดำเนินคดีส่วนแพ่งเพื่อเรียกค่าสินไหมทดแทนอื่นด้วยตนเอง และต้องเสียค่าธรรมเนียมในการเรียกค่าสินไหมทดแทนอันเป็นภาระยิ่งขึ้นให้แก่ผู้เสียหาย ดังนั้น สมควรแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาให้ผู้เสียหายมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในคดีอาญาทุกประเภทที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ต่อเนื่องไปได้เพื่อให้การพิจารณาคดีส่วนแพ่งเป็นไปโดยรวดเร็ว รวมทั้งยกเว้นค่าธรรมเนียมสำหรับการดำเนินคดีดังกล่าวเพื่อลดภาระให้แก่ผู้เสียหาย จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ ดังนี้ แม้พนักงานอัยการโจทก์จะไม่ได้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองในความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์มาด้วย แต่โจทก์ร่วมก็ได้ยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าซ่อมรถยนต์ 15,000 บาท คำร้องของโจทก์ร่วมดังกล่าวแสดงโดยแจ้งชัดถึงความเสียหายของรถยนต์โจทก์ร่วมที่ได้รับอันเนื่องมาจากการกระทำในเหตุการณ์หรือกรรมเดียวกับความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนและไม่ขัดหรือแย้งกับคำฟ้องในคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ ทั้งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 44/1 ก็บัญญัติเพียงว่า ในคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ ถ้าผู้เสียหายมีสิทธิที่จะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลย ผู้เสียหายจะยื่นคำร้องต่อศาลที่พิจารณาคดีอาญาให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ตนก็ได้ ไม่ได้บัญญัติถึงขนาดเป็นเงื่อนไขว่า ผู้เสียหายจะยื่นคำร้องต่อศาลที่พิจารณาคดีอาญาได้เฉพาะค่าสินไหมทดแทนในความผิดที่พนักงานอัยการโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษเท่านั้น ดังนี้ เมื่อข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาว่า รถยนต์ของโจทก์ร่วมได้รับความเสียหายอันเนื่องมาจากการกระทำในเหตุการณ์หรือกรรมเดียวกับความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ แม้พนักงานอัยการโจทก์จะไม่ได้ฟ้องขอให้ลงโทษในความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ โจทก์ร่วมก็มีสิทธิยื่นคำร้องขอเรียกค่าซ่อมรถยนต์เข้ามาในคดีอาญานี้ได้ ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าสินไหมทดแทนให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าซ่อมรถยนต์แก่โจทก์ร่วมมานั้น ชอบแล้ว ฎีกาจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ