โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสอง ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 91, 335 (11) พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2525 มาตรา 11 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2526 มาตรา 4 และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืน 60,000 บาทแก่ผู้เสียหาย
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (11), 83 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2525 มาตรา 11 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2526 มาตรา 4 ให้ลงโทษจำคุกจำเลยคนละ 2 ปี จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา กรณีมีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยคนละ 1 ปี 4 เดือน ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์รวม 335 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "พิเคราะห์แล้ว คดีได้ความจากร้อยตำรวจเอกวิชาญ บริรักษ์กุล พนักงานสอบสวนว่า ที่ผู้เสียหายนำความไปแจ้งต่อเจ้าพนักงานให้ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสองก็เพราะสงสัยว่าจำเลยทั้งสองจะเป็นคนร้าย ดังนั้นที่นายชาตรีและนายสุนทรลูกจ้างของผู้เสียหายให้การต่อพนักงานสอบสวนภายหลังจากนั้นว่าจำเลยทั้งสองเป็นคนร้าย จึงมีน้ำหนักน้อยและเมื่อนายชาตรีกลับมาเบิกความในชั้นพิจารณาว่าไม่เคยเห็นจำเลยทั้งสองเป็นคนร้ายแต่อย่างใด ส่วนนายสุนทรกลับว่าที่รู้ว่าจำเลยทั้งสองเป็นคนร้ายเพราะจำเลยทั้งสองได้บอกให้ทราบเช่นนั้น คำของประจักษ์พยานทั้งสองของโจทก์จึงไม่อยู่กับร่องกับรอยรับฟังเป็นความจริงไม่ได้ สำหรับนายมงคลพยานโจทก์ที่ว่า เป็นผู้รับซื้อเศษเงินและตัวจิ้งจกเงินที่ทำเป็นเครื่องประดับไว้จากจำเลยที่ 2 นั้น ไม่ปรากฏว่าพนักงานสอบสวนได้สิ่งเหล่านั้นจากนายมงคลมาเป็นของกลาง ทั้งคดีไม่ปรากฏจากพยานโจทก์ว่า จำเลยทั้งสองลักตัวจิ้งจกที่กล่าวแล้วไปด้วย คำเบิกความของนายมงคลจึงเลื่อนลอยเชื่อถือไม่ได้พยานโจทก์ที่เหลือคงมีคำรับสารภาพในชั้นสอบสวนของจำเลยทั้งสองเพียงอย่างเดียว แต่จำเลยทั้งสองก็ได้มาปฏิเสธในชั้นศาล และอ้างว่าที่ต้องให้การเช่นนั้นเพราะถูกขู่เข็ญทำร้าย จึงไม่พอรับฟังเพื่อลงโทษจำเลย..."
พิพากษายืน.