คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องคดีอย่างคนอนาถาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระค่าเสียหาย ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 และที่ 3ร่วมกันชำระเงิน 1,467,685 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย โดยให้จำเลยที่ 1 รับผิดไม่เกิน 100,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยจำเลยที่ 1 และที่ 3 ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์คนละ 2 ครั้งอ้างเหตุได้ขอถ่ายสำเนาคำพิพากษาของศาลชั้นต้นเพราะต้องใช้ประกอบการเขียนอุทธรณ์และยังไม่ได้รับสำเนาคำพิพากษา ศาลชั้นต้นอนุญาตขยายระยะเวลาอุทธรณ์ให้จำเลยที่ 1 จำนวน 2 ครั้ง เป็นเวลา 30 วันและอนุญาตให้จำเลยที่ 3 จำนวน 2 ครั้ง เป็นเวลา 35 วัน
ต่อมาในวันที่ 24 มกราคม 2537 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายที่จำเลยที่ 1มีสิทธิยื่นอุทธรณ์ได้นั้น จำเลยที่ 1 และที่ 3 ได้ยื่นอุทธรณ์และยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาวางเงินค่าขึ้นศาลและค่าฤชาธรรมเนียมต่าง ๆ มีกำหนด 7 วัน อ้างเหตุว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 ได้นำเช็คธนาคารกสิกรไทย จำกัด สั่งจ่ายเงิน 177,000 บาท เพื่อชำระค่าฤชาธรรมเนียมใช้แทนโจทก์และค่าขึ้นศาลในชั้นอุทธรณ์แต่เจ้าหน้าที่คำนวณค่าฤชาธรรมเนียมที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 จะต้องใช้แทนโจทก์ให้ไม่ทันในวันนั้นและจำเลยที่ 1 และที่ 3 ไม่ได้เตรียมเงินสดเฉพาะค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ ขอให้ศาลชั้นต้นรับอุทธรณ์ไว้ก่อนจำเลยที่ 1 และที่ 3 จะนำเงินดังกล่าวมาวางศาลใน 7 วัน
ศาลชั้นต้น มี คำสั่ง ให้ยก คำร้อง ค่า คำร้อง เป็น พับ
จำเลย ที่ 1 และ ที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน
จำเลย ที่ 1 และ ที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "การขอขยายระยะเวลาตามที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 ให้พึงทำได้ต่อเมื่อมีพฤติการณ์พิเศษ จึงมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า คดีมีพฤติการณ์พิเศษที่จะขยายระยะเวลาการวางเงินค่าธรรมเนียมใช้แทนโจทก์และค่าขึ้นศาลในชั้นอุทธรณ์หรือไม่ พิเคราะห์แล้ว เห็นว่าศาลชั้นต้นได้อ่านคำพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ฟังโดยชอบเมื่อวันที่24 พฤศจิกายน 2536 จะครบกำหนดยื่นอุทธรณ์วันที่ 24 ธันวาคม 2536จำเลยที่ 1 และที่ 3 ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์คนละ2 ครั้ง ศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยที่ 1 ขยายระยะเวลารวม 30 วันครบกำหนดยื่นอุทธรณ์วันที่ 24 มกราคม 2537 และอนุญาตให้จำเลยที่ 3ขยายระยะเวลารวม 35 วัน ครบกำหนดยื่นอุทธรณ์วันที่ 28 มกราคม2537 จำเลยที่ 1 และที่ 3 ทำอุทธรณ์รวมกันมายื่นวันที่24 มกราคม 2537 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายที่ครบกำหนดยื่นอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 นอกจากนี้ยังปรากฎว่า เจ้าหน้าที่ศาลได้คิดค่าธรรมเนียมศาลในชั้นอุทธรณ์ตั้งแต่วันที่ 2 มกราคม 2537 ส่วนค่าธรรมเนียมใช้แทนที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 จะต้องใช้แทนโจทก์ก็มีการคิดคำนวณแล้วเช่นกันตามเอกสารท้ายฎีกาหมายเลข 2 แต่ไม่ปรากฎหลักฐานว่าจำเลยที่ 1 และที่ 3 ได้ขวนขวายมาติดต่อเจ้าหน้าที่ศาลอย่างไรหรือไม่ จำเลยที่ 1 และที่ 3 อ้างในคำร้องขอขยายระยะเวลาวางเงินค่าธรรมเนียมใช้แทนโจทก์และค่าขึ้นศาลในชั้นอุทธรณ์ว่าเป็นความบกพร่องของเจ้าหน้าที่ศาลที่คำนวณค่าธรรมเนียมส่วนที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 จะต้องใช้แทนโจทก์ได้ไม่ทันและจำเลยที่ 1 และที่ 3 ก็ไม่ได้เตรียมเงินสดเฉพาะค่าขึ้นศาลในชั้นอุทธรณ์มา จึงไม่สามารถวางค่าขึ้นศาลส่วนนี้ได้นั้น เห็นว่าเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 จะต้องขวนขวายดำเนินการ ทั้งค่าธรรมเนียมใช้แทนโจทก์ก็เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 และที่ 3ผู้แพ้คดีซึ่งต้องปฏิบัติตามคำพิพากษาจะต้องดำเนินการตรวจสอบกับเจ้าหน้าที่ศาลเองหาใช่เรื่องที่เจ้าหน้าที่ศาลจะต้องแจ้งให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ทราบ เพื่อจะได้เตรียมเงินมาวางให้ทันแต่อย่างไรไม่ ดังนี้ ข้อกล่าวอ้างของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ถือไม่ได้ว่าเป็นพฤติการณ์พิเศษ จึงไม่เป็นเหตุที่จะขยายระยะเวลาการวางเงินค่าธรรมเนียมใช้แทนโจทก์ และค่าขึ้นศาลในชั้นอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ฟังไม่ขึ้น"
พิพากษายืน