คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกัน โดยให้เรียกโจทก์ทั้งสองสำนวนว่า โจทก์ เรียกโจทก์ร่วมทั้งสองสำนวนว่า โจทก์ร่วม และเรียกจำเลยสำนวนแรกว่า จำเลยที่ 1 เรียกจำเลยสำนวนที่สองว่า จำเลยที่ 2
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสอง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 362, 365
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นางบังอร ผู้เสียหาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ทั้งสองสำนวน ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 365 (2) (เดิม) ประกอบมาตรา 362 (เดิม), 83 การกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 1 ปี และปรับ 5,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 กระทงละ 1 ปี และปรับกระทงละ 5,000 บาท รวม 2 กระทง จำคุก 2 ปี และปรับ 10,000 บาท ทางนำสืบของจำเลยทั้งสองเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ให้กระทงละหนึ่งในสี่ คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 9 เดือน และปรับ 3,750 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 18 เดือน และปรับ 7,500 บาท โทษจำคุกรอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี คุมความประพฤติจำเลยทั้งสอง โดยให้จำเลยทั้งสองไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 4 เดือนต่อครั้ง ภายในกำหนดเวลา 1 ปี กับให้จำเลยทั้งสองกระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยทั้งสองเห็นสมควรมีกำหนด 24 ชั่วโมง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายกอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสอง
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยทั้งสองว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายกอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองเนื่องจากจำเลยทั้งสองมิได้ลงลายมือชื่อผู้อุทธรณ์นั้น ชอบหรือไม่ จำเลยทั้งสองฎีกาว่า ขณะจำเลยทั้งสองยื่นอุทธรณ์เจ้าพนักงานผู้รับอุทธรณ์ได้ตรวจความเรียบร้อยแล้วบอกให้จำเลยทั้งสองกลับบ้านได้ เมื่อตรวจพบความไม่เรียบร้อยก็ชอบที่จะเรียกจำเลยทั้งสองไปลงลายมือชื่อให้ครบถ้วน จึงเป็นความบกพร่องของเจ้าหน้าที่ศาลส่วนหนึ่ง หรือเมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 6 ตรวจพบเองว่ามีข้อบกพร่องเรื่องลงลายมือชื่อก็ชอบที่จะส่งสำนวนกลับมายังศาลชั้นต้น ให้เรียกจำเลยทั้งสองไปลงลายมือชื่อเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมนั้น เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 161 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ถ้าฟ้องไม่ถูกต้องตามกฎหมายให้ศาลสั่งโจทก์แก้ฟ้องให้ถูกต้อง หรือยกฟ้องหรือไม่ประทับฟ้อง" และมาตรา 158 บัญญัติว่า "ฟ้องต้องทำเป็นหนังสือและมี ฯลฯ (7) ลายมือชื่อโจทก์ ผู้เรียง ผู้เขียนหรือพิมพ์ฟ้อง" แต่จำเลยทั้งสองไม่ได้ลงชื่อผู้อุทธรณ์ ฟ้องอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองจึงไม่ถูกต้องตามกฎหมายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (7) ชอบที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 จะต้องมีคำสั่งให้ศาลชั้นต้นสั่งให้จำเลยทั้งสองผู้ยื่นฟ้องอุทธรณ์แก้ไขให้ถูกต้องเสียก่อน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 161 การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 ด่วนพิจารณาไม่รับวินิจฉัยและยกอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองโดยไม่ได้ให้จำเลยทั้งสองแก้ไขข้อบกพร่องดังกล่าวนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังขึ้น
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 ให้ศาลชั้นต้นจัดการให้จำเลยทั้งสองลงลายมือชื่อในช่องผู้อุทธรณ์ในฟ้องอุทธรณ์เสียให้ถูกต้อง แล้วให้ส่งสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี