โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137, 267, 268 พระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ. 2499 มาตรา 42
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137, 267 การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้ลงโทษฐานแจ้งให้เจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่จดข้อความอันเป็นเท็จ จำคุก 1 ปี ยกฟ้องโจทก์ในข้อหาความผิดเกี่ยวกับบริษัทจำกัด
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำคุก 6 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า นายทาเคโอะ มีอำนาจถอนฟ้องคดีนี้หรือไม่ เห็นว่า คำสั่งของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ที่ให้ศาลชั้นต้นสอบถามนายมิโตชิด้วยวาจาในเรื่องการถอนฟ้องคดีนี้นั้นเป็นไปเพื่อความกระจ่างในเรื่องดังกล่าว มิใช่เป็นการให้สืบพยานเพิ่มเติมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 208 (1) จึงไม่จำต้องสืบพยานปากนายมิโตชิที่ศาลอื่น หรือสถานที่ทำการของทางราชการ หรือสถานที่แห่งอื่นนอกศาล โดยจัดให้มีการถ่ายทอดภาพและเสียงในลักษณะการประชุมทางจอภาพตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 230/1 ดังที่จำเลยฎีกา ดังนี้ เมื่อบันทึกถ้อยคำของนายมิโตชิที่ระบุว่า นายทาเคโอะไม่ใช่กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์และตราประทับที่นายทาเคโอะได้ประทับในคำร้องขอถอนฟ้องไม่ใช่ตราประทับของโจทก์ กับนายทาเคโอะไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอถอนฟ้องในนามของโจทก์ คำร้องขอถอนฟ้องของนายทาเคโอะจึงไม่มีผลผูกพันโจทก์ สอดคล้องกับหนังสือรับรองข้อเท็จจริงพร้อมคำแปลเอกสารท้ายคำร้องขอนำส่งหนังสือยืนยันข้อเท็จจริงลงวันที่ 30 เมษายน 2562 ที่ระบุว่า นายมิโตชิในฐานะกรรมการผู้แทนแต่เพียงผู้เดียวของโจทก์ขอรับรองว่าโจทก์ไม่มีเจตนาจะถอนฟ้องคดีนี้แต่อย่างใด จึงฟังไม่ได้ว่าโจทก์ขอถอนฟ้องคดีนี้ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยต่อไปมีว่า จำเลยกระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 หรือไม่ โจทก์มีนายมิโตชิ ฟูจิกิจ กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์เป็นพยานเบิกความได้ความว่า เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2558 เวลากลางวัน จำเลยมอบอำนาจให้นายณัฐธวัช ยื่นคำขอจดทะเบียนบริษัท ม. ต่อสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร วันเดียวกันนายณัฐธวัชยื่นคำขอจดทะเบียน 2 เรื่อง คือ ให้นายทาเคชิ ออกจากตำแหน่งกรรมการของบริษัท ม. และให้นางสาวชุติมา เข้าเป็นกรรมการแทน กับแก้ไขให้จำเลยลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของบริษัท หรือนางสาวชุติมาลงลายมือชื่อร่วมกับนางสาววีระวรรณ และประทับตราสำคัญของบริษัทผูกพันบริษัท จำเลยยังให้คำรับรองต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทว่า ได้จัดให้มีการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 6/2558 เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2558 ณ อาคาร ด. มีผู้ถือหุ้นเข้าประชุมจำนวน 4 คน นับจำนวนหุ้นได้ 10,000 หุ้น โดยจำเลยเป็นประธานที่ประชุม ได้มีการบอกกล่าวนัดประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 6/2558 เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2558 โดยลงพิมพ์โฆษณาในหนังสือพิมพ์และส่งทางไปรษณีย์ตอบรับ/ส่งมอบให้แก่ตัวผู้ถือหุ้นแล้ว ซึ่งคำรับรองดังกล่าวเป็นความเท็จ เนื่องจากโจทก์ไม่เคยได้รับหนังสือบอกกล่าวนัดประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 6/2558 ไม่ได้เข้าร่วมประชุม และไม่ได้ส่งตัวแทนหรือผู้รับมอบฉันทะของโจทก์เข้าร่วมประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 6/2558 ดังนั้น การที่จำเลยให้คำรับรองต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทดังกล่าวจึงเป็นความเท็จ การกระทำของจำเลยทำให้นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทหลงเชื่อรับจดทะเบียนแก้ไขรายการบริษัทของบริษัท ม.บริษัท อ. โดยแก้ไขเปลี่ยนแปลงกรรมการจากจำเลย นางสาววีระวรรณ และนายทาเคชิ เป็นให้นายทาเคชิ ออกจากตำแหน่งกรรมการแล้วให้นางสาวชุติมาเข้าเป็นกรรมการแทน กรรมการชุดใหม่ จึงประกอบด้วย จำเลย นางสาวชุติมา และนางสาววีระวรรณ และแก้ไขเปลี่ยนแปลงกรรมการที่มีอำนาจลงลายมือชื่อผูกพันบริษัทจากจำเลยลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของบริษัท หรือนายทาเคชิลงลายมือชื่อร่วมกับนางสาววีระวรรณและประทับตราสำคัญของบริษัทมาเป็นจำเลยลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของบริษัท หรือนางสาวชุติมาลงลายมือชื่อร่วมกับนางสาววีระวรรณและประทับตราสำคัญของบริษัท อีกทั้งการที่โจทก์ไม่ได้รับหนังสือบอกกล่าวเชิญประชุม โจทก์เสียโอกาสในการใช้สิทธิออกเสียงเลือกกรรมการหรือเสนอชื่อบุคคลอื่นเข้าเป็นกรรมการคนใหม่ ส่วนจำเลยมีตัวจำเลยเป็นพยานเบิกความได้ความว่า จำเลยถือสัญชาติญี่ปุ่น ไม่สามารถพูด ฟัง อ่าน และเขียนภาษาไทยได้ จำเลยไม่มีความรู้ในการจดทะเบียนตั้งและเปลี่ยนแปลงรายการทะเบียนบริษัท นายทาเคชิเป็นผู้ติดต่อว่าที่ร้อยตรีเกื้อกูล ดำเนินการแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายการทะเบียนต่าง ๆ ว่าที่ร้อยตรีเกื้อกูลเป็นกรรมการของบริษัท อ. บริษัทดังกล่าวเป็นผู้รับผิดชอบจัดทำเอกสารและจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการของบริษัท ม. จำเลยลงลายมือชื่อในแบบฟอร์มคำขอจดทะเบียนบริษัทจำกัดและหนังสือมอบอำนาจ ที่บริษัท อ. จัดทำโดยทำเครื่องหมายกากบาทไว้ โดยยังไม่มีการพิมพ์วันที่ เดือน ไม่มีลายมือชื่อของว่าที่ร้อยตรีเกื้อกูล ไม่มีการพิมพ์ข้อความว่าประชุมเรื่องอะไร เมื่อใด และอย่างใด จำเลยลงลายมือชื่อในเอกสารเพราะไว้วางใจและเชื่อโดยสุจริตว่าทนายความจะดำเนินการอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เห็นว่า นายมิโตชิกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์เบิกความยืนยันว่า โจทก์ในฐานะผู้ถือหุ้นของบริษัท ม. ไม่เคยได้รับหนังสือบอกกล่าวนัดประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 6/2558 เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2558 และโจทก์ก็ไม่ได้เข้าร่วมการประชุม และไม่ได้ส่งตัวแทนหรือผู้รับมอบฉันทะใด ๆ ของโจทก์ให้เข้าร่วมการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 6/2558 เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2558 ตามที่จำเลยให้คำรับรองในคำรับรองการจดทะเบียนบริษัทจำกัด โดยในเรื่องนี้จำเลยไม่ได้นำสืบโต้แย้ง เพียงแต่บ่ายเบี่ยงว่าจำเลยลงลายมือชื่อในแบบฟอร์มคำขอจดทะเบียนบริษัทจำกัดแก้ไขเพิ่มเติมจำนวนหรือชื่อกรรมการซึ่งลงชื่อผูกพันบริษัทและหนังสือมอบอำนาจ แต่อ่านภาษาไทยไม่ออกและไม่รู้กฎหมายไทย แต่ในเมื่อจำเลยเป็นถึงกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัท ม. ซึ่งในฐานะเป็นผู้บริหารรับผิดชอบกิจการของบริษัทก่อนที่จะลงนามในเอกสารต่างประเทศชิ้นใด แม้จะยังไม่มีการกรอกรายละเอียดของข้อความ จำเลยก็ต้องสอบถามให้ได้ความชัดเจนก่อนที่จะลงลายมือชื่อว่ามีข้อความอย่างไร และจะต้องมีการดำเนินการที่เกี่ยวข้องอย่างไรเสียก่อน ซึ่งก็ปรากฏข้อความเกี่ยวกับเรื่องการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 6/2558 และมีการบอกกล่าวให้ผู้ถือหุ้นทุกคนทราบในเอกสารดังกล่าวแล้ว อีกทั้งจำเลยยังยอมรับนางสาวชุติมาเป็นกรรมการของบริษัทแทนนายทาเคชิกรรมการคนเก่าที่ลาออกไป นอกจากนี้จำเลยไม่โต้แย้งคัดค้านคำรับรองต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทและไม่ได้ดำเนินคดีแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องกับผู้ที่จัดทำเอกสารดังกล่าวแต่อย่างใด จึงเชื่อได้ว่า จำเลยรู้อยู่แล้วว่าเอกสารดังกล่าวจะนำไปกรอกรายละเอียดอย่างไรบ้างและนำไปใช้เพื่ออะไร อันเป็นการแสดงให้เห็นถึงเจตนาของจำเลยว่า จำเลยรับรู้เรื่องการยื่นคำรับรองการจดทะเบียนบริษัทและจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมจำนวนกรรมการซึ่งลงชื่อผูกพันบริษัทต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2558 อันเป็นเท็จแล้ว พยานหลักฐานของจำเลยจึงไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานและฐานแจ้งให้เจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่จดข้อความอันเป็นเท็จตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 และมาตรา 267 มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยต่อไปมีว่า มีเหตุสมควรลงโทษจำเลยสถานเบาและรอการกำหนดโทษหรือรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยหรือไม่ เห็นว่า จำเลยไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน ความสัมพันธ์ของนายมิโตชิกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์และจำเลยเป็นพี่น้องกัน ทั้งไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้รับความเสียหายในทางเศรษฐกิจจากการกระทำของจำเลยแต่อย่างใด นอกจากนี้จำเลยยังได้แก้ไขด้วยการตั้งกรรมการคนใหม่ให้ถูกต้องตามกฎหมาย ประกอบกับโจทก์ยื่นคำแถลงไม่ติดใจดำเนินคดีแก่จำเลยแล้วโดยขอให้ลงโทษจำเลยสถานเบาและรอการลงโทษ กรณีจึงมีเหตุสมควรรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลย แต่เพื่อให้จำเลยหลาบจำ เห็นสมควรลงโทษปรับอีกสถานหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย 6 เดือน นั้น เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว แต่ที่ใช้ดุลพินิจไม่รอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลย ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังขึ้นบางส่วน
อนึ่ง เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2560 ได้มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 26) พ.ศ. 2560 มาตรา 4 ให้ยกเลิกอัตราโทษในมาตรา 137 และมาตรา 267 และให้ใช้อัตราโทษใหม่แทน ปรากฏว่าโทษจำคุกตามกฎหมายเดิมและกฎหมายที่แก้ไขใหม่มีระวางโทษจำคุกเท่ากัน ส่วนโทษปรับตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่มีระวางโทษปรับสูงกว่าโทษปรับตามกฎหมายเดิม ต้องถือว่ากฎหมายที่แก้ไขใหม่ไม่เป็นคุณแก่จำเลย จึงต้องใช้กฎหมายเดิมซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดบังคับแก่จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 (เดิม), 267 (เดิม) การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานแจ้งให้เจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่จดข้อความอันเป็นเท็จตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 267 (เดิม) ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 6 เดือน และปรับ 6,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี นับแต่วันอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้จำเลยฟังตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก