โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 29,048,966.59 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าซ่อมบำรุงเครื่องจักรเดือนละ 250,000 บาทนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยทั้งสองจะมารับเครื่องจักรทั้งหมดคืนไปจากโจทก์ กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าขาดประโยชน์จากการให้บุคคลเช่าพื้นที่ใช้สอยในโรงงานเดือนละ 30,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยทั้งสองจะมารับเครื่องจักรคืนไปจากโจทก์
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยทั้งสองต้องคืนเงิน 4,377,929.11 บาท ให้โจทก์ฐานลาภมิควรได้หรือไม่ เห็นว่า นายธารณพยานโจทก์เบิกความยอมรับว่า เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2549 โจทก์ทำบันทึกข้อตกลงปรับโครงสร้างหนี้จริง ดังนั้น บันทึกข้อตกลงปรับโครงสร้างหนี้ จึงมีผลผูกพันโจทก์ ที่โจทก์ฎีกาว่า ไม่ผูกพันโจทก์ โดยอ้างว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้โอนสิทธิเรียกร้องหนี้ตามคำพิพากษาในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 4588/2547 ของศาลแพ่งกรุงเทพใต้ให้แก่จำเลยที่ 2 แต่อย่างใด จำเลยที่ 2 จึงไม่ได้อยู่ในฐานะเจ้าหนี้ที่จะทำบันทึกตกลงปรับโครงสร้างหนี้กับโจทก์ได้นั้น เห็นว่า โจทก์มาฟ้องจำเลยที่ 2 ให้ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 เพื่อคืนเงินแก่โจทก์ โดยโจทก์เป็นฝ่ายกล่าวอ้างข้อเท็จจริงในคำฟ้องของโจทก์หน้า 6 ข้อ 4 ว่า จำเลยที่ 1 ได้โอนสิทธิเรียกร้องตามคำพิพากษาคดีดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2 จำเลยทั้งสองมิได้ให้การปฏิเสธข้อเท็จจริงที่โจทก์กล่าวอ้างดังกล่าว ถือว่าคู่ความรับข้อเท็จจริงกันแล้ว จึงเป็นที่ยุติและรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้โอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2 ที่โจทก์ฎีกาว่า การโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวเข้าลักษณะของการขายความ ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน การโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวจึงเป็นโมฆะ ก็เป็นข้อที่โจทก์เพิ่งยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาโดยมิได้ว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 9 ย่อมเป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยให้ และที่โจทก์ฎีกาอีกว่า ตามบันทึกข้อตกลงปรับโครงสร้างหนี้ ยังมิได้ระบุว่าโจทก์จะต้องส่งมอบเครื่องจักรที่เช่ากี่รายการคืนให้แก่เจ้าหนี้ จึงเป็นสัญญาที่ยังไม่สมบูรณ์ และในหน้า 3 จำเลยที่ 2 ก็ยังไม่ได้ลงชื่อในช่องเจ้าหนี้ จึงไม่ผูกพันโจทก์นั้น เห็นว่า ตามบันทึกข้อตกลงดังกล่าวในหน้า 1 ข้อ 1 ได้ระบุให้ลูกหนี้คืนทรัพย์ที่เช่าโดยการใช้ราคาแทน จึงเป็นบันทึกข้อตกลงที่คู่สัญญาได้แสดงเจตนาข้อตกลงที่เป็นสาระสำคัญไว้ครบถ้วนแล้ว มิใช่มีลักษณะเป็นเพียงร่างสัญญาที่ยังตกลงกันไม่เสร็จอย่างที่โจทก์กล่าวอ้างในฎีกา ส่วนในหน้า 3 แม้จำเลยที่ 2 มิได้ลงชื่อในช่องเจ้าหนี้ แต่โจทก์ได้ลงชื่อในช่องลูกหนี้แล้ว จึงย่อมผูกพันโจทก์และใช้ยันโจทก์ได้ โจทก์และจำเลยทั้งสองจึงมีสิทธิและหน้าที่ตามบันทึกข้อตกลงปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งตามหน้า 1 ของบันทึกดังกล่าวระบุไว้ว่า ในขณะที่โจทก์ทำบันทึกฉบับนี้ โจทก์ยอมรับว่า โจทก์มีภาระหนี้จำนวน 50,775,625.50 บาท โดยแยกเป็น (1) ชำระเงินจำนวน 12,031,800 บาท (2) ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินจำนวนข้างต้น นับแต่วันที่ 3 กันยายน 2541 ถึงวันที่ 3 กรกฎาคม 2549 เป็นจำนวน 7,068,682.50 บาท (3) ราคาแทนทรัพย์ที่เช่า (21 รายการ) เป็นเงิน 31,375,143 บาท (4) ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความจำนวน 300,000 บาทแต่คู่สัญญาได้ตกลงลดยอดหนี้จากทั้งหมด 50,775,625.50 บาท เหลือ 25,000,000 บาทถ้วน โดยให้โจทก์แบ่งชำระได้เป็นงวด ๆ มีระยะเวลาทั้งหมด 4 ปีตามที่ระบุไว้ในข้อ 3 ดังนั้นการที่โจทก์ผ่อนชำระหนี้ให้แก่จำเลยที่ 2 จำนวน 32 ครั้งรวมเป็นเงิน 11,350,000 บาท ตามใบสำคัญการสั่งจ่าย นั้นจึงเป็นการปฏิบัติตามบันทึกข้อตกลงปรับโครงสร้างหนี้ แม้ต่อมาศาลอุทธรณ์จะมีคำพิพากษาลดภาระหนี้เฉพาะค่าเสียหายลงเหลือ 4,275,100 บาท แต่โจทก์ก็ยังมีภาระหนี้อย่างอื่น คือ ยังจะต้องใช้คืนเครื่องจักร 21 เครื่อง หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคารวมเป็นเงิน 31,375,143 บาท ดังนั้น การที่โจทก์คิดคำนวณหนี้ที่ผ่อนชำระไปแล้วจำนวน 11,350,000 บาท มาหักกับหนี้ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์จำนวน 4,275,100 บาท แล้วเรียกให้จำเลยทั้งสองคืนเงิน 4,377,929.11 บาท โดยอ้างว่าเป็นลาภมิควรได้นั้น จึงไม่ถูกต้อง เนื่องจากจำเลยทั้งสองรับชำระหนี้จากโจทก์ไว้โดยมีมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ มิใช่ลาภมิควรได้ ที่โจทก์ฎีกาว่า ควรแยกหนี้ค่าเสียหายกับหนี้ที่ต้องใช้คืนเครื่องจักร 21 เครื่อง หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคารวมเป็นเงิน 31,375,143 บาท ออกจากกัน จะเหลือหนี้ค่าเสียหายน้อยกว่าจำนวนเงินที่โจทก์ได้ชำระให้จำเลยทั้งสองนั้น เห็นว่า ตราบใดที่โจทก์ยังมิได้ใช้คืนเครื่องจักร 21 เครื่องโจทก์ก็มีภาระหนี้ต้องคืนเครื่องจักร หากคืนไม่ได้ก็ต้องใช้ราคาแทนร่วมกันกับหนี้ค่าเสียหายจนครบถ้วน ไม่อาจแบ่งแยกได้ ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ต่อไปว่า จำเลยทั้งสองต้องร่วมกันรับผิดชำระค่าบำรุงรักษาเครื่องจักรและค่าขาดประโยชน์ให้แก่โจทก์หรือไม่เพียงใด เห็นว่า ที่โจทก์ฎีกาอ้างว่าจำเลยที่ 1 ตกลงรับมอบเครื่องจักรไปจากโจทก์แล้วตั้งแต่วันที่ 18 กรกฎาคม 2549 นั้น แต่ข้อเท็จจริงได้ความตามคำเบิกความของนายธารณกรรมการโจทก์ตอบทนายจำเลยถามค้านว่า เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2549 โจทก์ตกลงกับนายณัฐพงศ์ตัวแทนจำเลยที่ 1 ว่า เครื่องจักรที่โจทก์จำเป็นต้องการใช้นั้นยังไม่ต้องคืน นายภาณุมาศ เจ้าพนักงานบังคับคดีซึ่งเป็นพยานโจทก์เบิกความยืนยันว่า วันดังกล่าวไม่มีการยึดทรัพย์ เนื่องจากเจรจากันอยู่ และนางสาวสุนีย์ กรรมการโจทก์ยังเบิกความรับว่า หลังจากเจรจา นายธารณให้เครื่องจักรทำงานต่อไปเพื่อหาเงินมาใช้หนี้ แสดงให้เห็นว่าโจทก์ยังมิได้ส่งมอบเครื่องจักรที่ต้องคืนจำนวน 21 รายการให้แก่จำเลยที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 18 กรกฎาคม 2549 แต่อย่างใด ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า ต่อมาวันที่ 15 พฤษภาคม 2552 โจทก์นำทรัพย์ไปวางต่อเจ้าพนักงานบังคับคดี ทำให้โจทก์หลุดพ้นภาระที่ต้องคืนทรัพย์ตามสัญญาเช่าทรัพย์แล้วนั้น ในข้อนี้ได้ความจากนายโชติพงศ์ หัวหน้ากลุ่มงานวางทรัพย์ สำนักงานวางทรัพย์กลาง กรมบังคับคดี เบิกความว่า หากเป็นกรณีวางเครื่องจักรเพื่อชำระหนี้ เจ้าพนักงานบังคับคดีจะตรวจสอบก่อนว่า เครื่องจักรนำมาวางตามมูลหนี้อะไร เป็นเครื่องจักรประเภทใด ใช้งานได้ดีหรือไม่ และสอบถามผู้วางทรัพย์ว่าจะให้ขนไปที่ใด หากไม่ยุ่งยากในการเก็บรักษากรมบังคับคดีจะรับการวางทรัพย์ไว้ หลังจากวางทรัพย์แล้วกรมบังคับคดีจะมีหนังสือแจ้งไปยังเจ้าหนี้ให้มารับทรัพย์ที่วางภายใน 15 วัน เจ้าหนี้สามารถปฏิเสธไม่รับทรัพย์ที่นำมาวางได้ ดังนั้น การที่จำเลยที่ 1 ในฐานะเจ้าหนี้ปฏิเสธไม่รับทรัพย์ที่นำมาวางตามแผ่นสุดท้าย โดยมีเหตุที่จะอ้างตามกฎหมายว่าโจทก์ไม่ได้ส่งมอบทรัพย์ที่เช่าคืนให้ถูกต้องตามคำพิพากษา เพราะยังไม่มีการตรวจสอบว่าทรัพย์ดังกล่าวใช้การได้ อีกทั้งโจทก์ต้องส่งมอบคืนยังสถานที่ที่ถูกต้องคือภูมิลำเนาของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 จึงมีสิทธิปฏิเสธไม่รับมอบได้ ถือไม่ได้ว่าโจทก์ได้ส่งมอบทรัพย์โดยชอบแล้ว โจทก์ในฐานะลูกหนี้จึงมีภาระต้องรักษาทรัพย์นั้นไว้จนกว่าจะได้ส่งมอบทรัพย์นั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 323 โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าบำรุงรักษาเครื่องจักรและค่าขาดประโยชน์จากจำเลยทั้งสอง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ