คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 5,550,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 12 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าว นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 30 กันยายน 2559) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแก่โจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ คดีถึงที่สุดแล้ว
จำเลยยื่นคำร้องขอให้แก้ไขคำพิพากษาเป็นให้จำเลยชำระเงิน 5,120,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 12 ต่อปี ของต้นเงิน 4,070,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
ศาลชั้นต้นตรวจคำร้องแล้วมีคำสั่งว่า กรณีเป็นการแก้ไขเล็กน้อย จึงมีคำสั่งให้แก้ไขคำพิพากษาในส่วนจำนวนเงินจากเดิมเป็น พิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 5,120,000 บาท แก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้คงเดิม
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 แผนกคดีผู้บริโภคพิพากษาแก้เป็นว่า ให้แก้ไขคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้จำเลยชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 12 ต่อปี ของต้นเงิน 4,070,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำสั่งศาลชั้นต้นลงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2562 คืนค่ารับรองสำเนาเอกสารรวม 600 บาท ค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ 200 บาท และค่าส่งคำคู่ความ 400 บาท แก่จำเลย ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นและชั้นอุทธรณ์นอกจากที่สั่งคืนให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา โดยศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคอนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภควินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่โจทก์ได้รับอนุญาตให้ฎีกาว่า การที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 แก้ไขจำนวนเงินที่จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นซึ่งถึงที่สุดแล้วเป็นการไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 143 ประกอบพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 7 หรือไม่ เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยกู้เงินไปจากโจทก์ 5,000,000 บาท ก่อนฟ้องคดีนี้จำเลยได้ชำระต้นเงินคืนแก่โจทก์ 500,000 บาท คงเหลือต้นเงิน 4,500,000 บาท และดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องเป็นเงิน 1,050,000 บาท รวมเป็นเงิน 5,550,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 5,550,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ดังนี้ คำฟ้องของโจทก์ได้บรรยายไว้โดยชัดแจ้งว่า จำเลยมีหนี้ค้างชำระในส่วนของต้นเงินเพียง 4,500,000 บาท เมื่อศาลชั้นต้นมีคำวินิจฉัยว่า จำเลยกู้เงินจากโจทก์แล้วผิดนัดไม่ชำระหนี้ จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญา แต่ดอกเบี้ยในอัตราผิดนัดมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับซึ่งสูงเกินส่วน จึงกำหนดอัตราดอกเบี้ยเป็นอัตราร้อยละ 12 ต่อปี โดยมิได้กล่าวถึงต้นเงินค้างชำระเป็นอย่างอื่น แสดงว่าศาลชั้นต้นวินิจฉัยให้จำเลยชำระดอกเบี้ยนับถัดจากวันฟ้องจากต้นเงิน 4,500,000 บาท ซึ่งเป็นจำนวนที่ถูกต้องตามที่โจทก์บรรยายมาในคำฟ้อง การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยของต้นเงิน 5,550,000 บาท นับถัดจากวันฟ้อง จึงไม่ตรงกับคำวินิจฉัย ถือได้ว่าคำพิพากษาศาลชั้นต้นมีข้อผิดพลาดเล็กน้อย จำเลยชอบที่จะขอให้ศาลมีคำสั่งแก้ไขต้นเงินที่ใช้คำนวณดอกเบี้ยนับถัดจากวันฟ้องจาก 5,550,000 บาท เป็น 4,500,000 บาท เพื่อให้ถูกต้องตรงตามคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 143 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 7 กรณีมิใช่เป็นการทำคำสั่งที่เป็นการกลับหรือแก้คำวินิจฉัยในคำพิพากษาเดิม ศาลมีอำนาจที่จะมีคำสั่งเพิ่มเติมแก้ไขคำพิพากษาที่มีข้อผิดพลาดเล็กน้อยดังกล่าวได้โดยหาจำต้องส่งสำเนาคำร้องให้โจทก์เพื่อคัดค้านและทำการไต่สวนก่อนไม่ ทั้งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 143 ไม่ได้บัญญัติให้การแก้ไขคำพิพากษาที่มีข้อผิดพลาดเล็กน้อยต้องกระทำก่อนที่การบังคับคดีเสร็จสิ้น แม้คดีนี้มีการบังคับคดีเสร็จสิ้นแล้วดังที่โจทก์ฎีกา จำเลยก็มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นแก้ไขคำพิพากษาที่มีข้อผิดพลาดเล็กน้อยได้ ส่วนที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 นำข้อเท็จจริงที่ได้ความจากทางพิจารณามาแก้ไขคำพิพากษาศาลชั้นต้นจากที่ให้จำเลยชำระเงิน 5,550,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยของต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้อง เป็นให้จำเลยชำระเงิน 5,120,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยของต้นเงิน 4,070,000 บาท นับถัดจากวันฟ้อง นั้น เห็นว่า แม้ชั้นพิจารณาโจทก์เบิกความรับว่า ภายหลังยื่นฟ้องคดีนี้จำเลยคืนต้นเงินแก่โจทก์ในคดีอาญาอีก 250,000 บาท คงเหลือต้นเงินที่จำเลยต้องชำระแก่โจทก์ 4,070,000 บาท และดอกเบี้ยค้างชำระ 1,050,000 บาท รวมเป็นเงิน 5,120,000 บาท แต่การจะนำเงินที่โจทก์ได้รับชำระหนี้ในคดีอื่นตามคำเบิกความของโจทก์มาลดยอดหนี้ที่จำเลยต้องรับผิดในคดีนี้ ศาลต้องพิจารณาจากพยานหลักฐานที่คู่ความนำสืบ เมื่อในคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นไม่ได้กล่าวถึงการได้รับชำระหนี้ภายหลังยื่นฟ้องของโจทก์ไว้เลย การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยรับผิดโดยไม่ได้นำจำนวนเงินที่โจทก์ได้รับชำระหนี้ภายหลังยื่นฟ้องมาหักออกก่อนจึงตรงตามที่ได้วินิจฉัยไว้แล้ว หากจำเลยเห็นว่าศาลชั้นต้นมิได้พิพากษาให้ครบถ้วนตามข้อเท็จจริงที่ได้ความจากทางพิจารณาเป็นการไม่ถูกต้อง จำเลยชอบที่จะอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นต่อศาลอุทธรณ์ภาค 1 เพื่อแก้ไขให้ถูกต้องต่อไป กรณีมิใช่คำพิพากษามีข้อผิดพลาดหรือผิดหลงเล็กน้อยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 143 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 7 จำเลยไม่อาจใช้วิธีการยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นเพื่อให้แก้ไขคำพิพากษาในส่วนนี้ได้เนื่องจากมีผลเป็นการแก้คำวินิจฉัยเกี่ยวกับจำนวนหนี้ในคำพิพากษาเดิม ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งและศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีคำพิพากษาให้แก้ไขคำพิพากษาศาลชั้นต้นมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้แก้ไขคำพิพากษาศาลชั้นต้น หน้าที่ 2 จากข้อความว่า "ให้จำเลยชำระเงิน 5,550,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 12 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้อง" เป็น "ให้จำเลยชำระเงิน 5,550,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 12 ต่อปี ของต้นเงิน 4,500,000 บาท นับถัดจากวันฟ้อง" นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามข้อความเดิม ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นและชั้นอุทธรณ์ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ