โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 86, 157, 162 (4)
จำเลยทั้งแปดให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณาจำเลยที่ 2 ที่ 4 ถึงที่ 8 แถลงรับว่า ในวันที่ 13 มิถุนายน 2551 งานก่อสร้างในงวดที่ 10 และ 11 ยังไม่แล้วเสร็จตามฟ้องแต่จำเลยที่ 4 และที่ 5 ได้ทำใบรับรองว่างานก่อสร้างดังกล่าวเสร็จเรียบร้อยแล้ว ส่วนจำเลยที่ 6 ถึงที่ 8 อ้างว่า เหตุที่ทำหนังสือส่งงานก่อสร้าง เนื่องจากจำเลยที่ 7 และที่ 8 ได้รับรายงานจากผู้ควบคุมงานของจำเลยที่ 6 ถึงที่ 8 ว่างานก่อสร้างเสร็จแล้วตามรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ 23 พฤศจิกายน 2561
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 4 และที่ 5 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 162 (4) (ที่ถูก มาตรา 157 (เดิม), 162 (4) (เดิม)) ประกอบมาตรา 83 จำเลยที่ 6 ถึงที่ 8 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 162 (4) (ที่ถูก มาตรา 157 (เดิม), 162 (4) (เดิม)) ประกอบมาตรา 83, 86 (ที่ถูก ประกอบมาตรา 86) การกระทำของจำเลยที่ 4 และที่ 5 เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 (ที่ถูก มาตรา 157 (เดิม)) ประกอบมาตรา 83 อันเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 3 ปี คำรับของจำเลยที่ 4 และที่ 5 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสาม คงจำคุกจำเลยที่ 4 และที่ 5 คนละ 2 ปี การกระทำของจำเลยที่ 6 ถึงที่ 8 เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 (ที่ถูก มาตรา 157 (เดิม)) ประกอบมาตรา 83, 86 (ที่ถูก ประกอบมาตรา 86) อันเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ปรับจำเลยที่ 6 เป็นเงิน 12,000 บาท และจำคุกจำเลยที่ 7 และที่ 8 คนละ 2 ปี คำรับของจำเลยที่ 6 ถึงที่ 8 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสาม คงปรับจำเลยที่ 6 เป็นเงิน 8,000 บาท และจำคุกจำเลยที่ 7 และที่ 8 คนละ 1 ปี 4 เดือน หากจำเลยที่ 6 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 ยกฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3
โจทก์และจำเลยที่ 4 ถึงที่ 8 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบพิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 (เดิม),162 (4) (เดิม) ประกอบมาตรา 83 จำเลยที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 (เดิม), 162 (4) (เดิม) ประกอบมาตรา 86 การกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 (เดิม) ประกอบมาตรา 83 กับให้ลงโทษจำเลยที่ 3 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 (เดิม) ประกอบมาตรา 86 อันเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 2 คนละ 3 ปี ส่วนจำเลยที่ 3 จำคุก 2 ปี ทางนำสืบของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้คนละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 2 คนละ 2 ปี ส่วนจำเลยที่ 3 คงจำคุก 1 ปี 4 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติว่าขณะเกิดเหตุ จำเลยที่ 1 รับราชการในตำแหน่งปลัดเทศบาลตำบลวิเชียรบุรี มีอำนาจหน้าที่บังคับบัญชาพนักงานเทศบาลและลูกจ้างเทศบาล และรับผิดชอบควบคุมดูแลราชการประจำของเทศบาลให้เป็นไปตามนโยบายและมีอำนาจหน้าที่อื่นตามที่กฎหมายกำหนดหรือตามที่นายกเทศมนตรีมอบหมาย จำเลยที่ 2 รับราชการตำแหน่งนายช่างโยธาองค์การบริหารส่วนตำบลพุขาม จำเลยที่ 3 เป็นกรรมการชุมชน จำเลยที่ 4 รับราชการตำแหน่งนายช่างโยธา 7 ว เทศบาลตำบลวิเชียรบุรี จำเลยที่ 5 รับราชการตำแหน่งนายช่างโยธา 6 ว เทศบาลตำบลวิเชียรบุรี จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐและมีฐานะเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา จำเลยที่ 1 ได้รับคำสั่งแต่งตั้งให้เป็นประธานกรรมการตรวจการจ้าง จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้รับคำสั่งแต่งตั้งให้เป็นกรรมการตรวจการจ้างโครงการก่อสร้างถนนคอนกรีตเสริมเหล็กสายบวงสรวง - น้ำร้อน หมู่ที่ 12 และ 16 ตำบลท่าโรง อำเภอวิเชียรบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์ ส่วนจำเลยที่ 4 และที่ 5 ได้รับคำสั่งแต่งตั้งให้เป็นช่างควบคุมงานโครงการดังกล่าว ตามคำสั่งเทศบาลตำบลวิเชียรบุรี ที่ 236/2550 จำเลยที่ 6 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด ขณะเกิดเหตุมีจำเลยที่ 7 และที่ 8 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2550 เทศบาลตำบลวิเชียรบุรีได้ตกลงทำสัญญาจ้างเลขที่ 25/2550 ว่าจ้างจำเลยที่ 6 ให้เป็นผู้รับจ้างก่อสร้างถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก ถนนสายบวงสรวง-น้ำร้อน หมู่ที่ 12 และ 16 ตำบลท่าโรง อำเภอวิเชียรบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นเงิน 29,080,000 บาท ตกลงชำระเงินค่าจ้างรวม 12 งวด ตามความสำเร็จของงาน หากก่อสร้างไม่แล้วเสร็จตามสัญญา ผู้รับจ้างยินยอมชำระค่าปรับเป็นเงินวันละ 72,700 บาท กำหนดให้ผู้รับจ้างเริ่มทำงานภายในวันที่ 5 กันยายน 2550 และให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 1 มิถุนายน 2551 เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2551 คู่สัญญาตกลงขยายเวลาส่งมอบงานเป็นวันที่ 8 มิถุนายน 2551 โดยไม่ต้องชำระค่าปรับ จำเลยที่ 6 ส่งมอบงานมีการตรวจรับงานและเบิกจ่ายเงินให้จำเลยที่ 6 ไปแล้ว 9 งวด รวมเป็นเงิน 23,374,504 บาท เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2551 คู่สัญญาตกลงตัดค่างานในส่วนที่ขาดหายไปเป็นเงิน 338,737 บาท ต่อมา จำเลยที่ 6 ถึงที่ 8 ได้ทำหนังสือฉบับลงวันที่ 13 มิถุนายน 2551 ถึงจำเลยที่ 1 ขอส่งงานก่อสร้าง งวดที่ 10 งวดที่ 11 และงวดสุดท้ายโดยระบุว่า ก่อสร้างคันหินรางตื้นแล้วเสร็จ งานก่อสร้างทางเชื่อม ทางเท้าแล้วเสร็จ งานก่อสร้างเดินท่อร้อยสายไฟพร้อมติดตั้งดวงโคมไฟฟ้าแล้วเสร็จ งานติดตั้งหม้อแปลงไฟฟ้า งานหยอดยางรอยต่อพื้นถนนคอนกรีต งานตีเส้นเครื่องหมายจราจร งานติดตั้งเครื่องหมาย หลักกันโค้งงานส่วนที่เหลือทั้งหมดแล้วเสร็จครบถ้วนตามแบบรูปและรายการก่อสร้าง พร้อมทั้งทำความสะอาดบริเวณสถานที่ก่อสร้างให้เรียบร้อย ราคางานก่อสร้าง 5,705,496 บาท โดยไม่ตัดค่างานตามบันทึกแนบท้ายสัญญาฉบับลงวันที่ 4 มิถุนายน 2551 จำเลยที่ 4 และที่ 5 ได้จัดทำเอกสารและลงลายมือชื่อในใบรับรองของช่างผู้ควบคุมงานก่อสร้าง ลงวันที่ 13 มิถุนายน 2551 ว่างานก่อสร้างงวดที่ 10 และ 11 คืองานก่อสร้างคันหินรางตื้นแล้วเสร็จ งานก่อสร้างทางเชื่อม ทางเท้าแล้วเสร็จ และงานก่อสร้างเดินท่อร้อยสายไฟพร้อมติดตั้งดวงโคมไฟฟ้าแล้วเสร็จ เกินกำหนดส่งมอบงานตามสัญญาจ้าง 4 วัน ค่าปรับวันละ 72,700 บาท รวมเป็นเงิน 290,800 บาท ผลการก่อสร้างเสร็จ 100 เปอร์เซ็นต์ เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2551 จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 กรรมการตรวจการจ้าง ร่วมกันจัดทำใบตรวจรับงานจ้างเหมาและลงลายมือชื่อตรวจรับงานก่อสร้างโครงการดังกล่าวในงวดที่ 10 และ 11 โดยการก่อสร้างงานก่อสร้างคันหินรางตื้นแล้วเสร็จ งานก่อสร้างทางเชื่อมทางเท้าแล้วเสร็จ และงานก่อสร้างเดินท่อร้อยสายไฟพร้อมติดตั้งดวงโคมไฟฟ้าแล้วเสร็จถูกต้องครบถ้วนและส่งมอบงานถูกต้องเรียบร้อยแล้ว ตั้งแต่วันที่ 13 มิถุนายน 2551 และจัดทำใบตรวจรับงานจ้างรายงานนายกเทศมนตรีตำบลวิเชียรบุรีพร้อมเสนอความเห็นสมควรจ่ายเงินตามสัญญาเป็นเงิน 4,997,443 บาท ให้แก่จำเลยที่ 6 และในวันเดียวกันจำเลยที่ 6 โดยจำเลยที่ 7 หุ้นส่วนผู้จัดการมีหนังสือถึงนายกเทศมนตรีตำบลวิเชียรบุรีเพื่อขอรับเงินค่าก่อสร้าง งวดที่ 10 และ 11 จากเทศบาลตำบลวิเชียรบุรี ต่อมาในวันที่ 22 กรกฎาคม 2551 จำเลยที่ 6 โดยจำเลยที่ 8 หุ้นส่วนผู้จัดการทวงถามเงินค่าก่อสร้าง งวดที่ 10 และ 11 เป็นเงิน 4,997,443 แต่เทศบาลตำบลวิเชียรบุรีไม่อนุมัติให้จ่ายเงินแก่จำเลยที่ 6 เนื่องจากงานก่อสร้างงวดที่ 10 และ 11 ยังไม่แล้วเสร็จ จำเลยที่ 4 และที่ 5 ศาลฎีกาอนุญาตให้ถอนฎีกา จำเลยที่ 6 ถึงที่ 8 ศาลฎีกามีคำสั่งไม่อนุญาตให้ฎีกาคดีสำหรับจำเลยที่ 4 ถึงที่ 8 จึงเป็นข้อยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 กระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์หรือไม่ และฎีกาของจำเลยที่ 3 ว่าคดีสำหรับจำเลยที่ 3 ขาดอายุความหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ 3 ในปัญหาว่า คดีสำหรับจำเลยที่ 3 ขาดอายุความหรือไม่เสียก่อน เห็นว่า โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 3 ว่า จำเลยที่ 3 ได้รับคำสั่งแต่งตั้งให้เป็นกรรมการตรวจการจ้างโครงการก่อสร้างถนน คสล. สายบวงสรวง - น้ำร้อน ร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นกรรมการตรวจการจ้างจัดทำเอกสารและลงลายมือชื่อทำการตรวจรับงานก่อสร้างโครงการดังกล่าว งวดที่ 10 และ 11 แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2551 อันเป็นการรับรองเป็นหลักฐาน ซึ่งข้อเท็จจริงอันเป็นเอกสารนั้นมุ่งพิสูจน์ความจริงอันเป็นเท็จเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 162 (4) ประกอบมาตรา 86 การกระทำของจำเลยที่ 3 จึงเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท การนับอายุความจึงต้องเริ่มนับพร้อมกัน โดยถือเอาคำฟ้องโจทก์ที่กล่าวหาจำเลยที่ 3 ในฐานะกรรมการตรวจการจ้างลงลายมือชื่อในเอกสารตรวจรับงานโครงการก่อสร้างถนน คสล. สายบวงสรวง - น้ำร้อน เป็นการกระทำความผิด และความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานรับรองเป็นหลักฐานซึ่งข้อเท็จจริงอันเอกสารนั้นมุ่งพิสูจน์ความจริงอันเป็นเท็จและจะเป็นความผิดต่อเมื่อเจ้าพนักงานผู้นั้นลงลายมือชื่อรับรองในเอกสารดังกล่าวตราบใดที่เจ้าพนักงานผู้นั้นยังไม่ได้ลงลายมือรับรองเอกสารแล้วความผิดยังไม่เกิดขึ้นสัญญาโครงการก่อสร้างถนน คสล. สายบวงสรวง - น้ำร้อน กำหนดอายุโครงการก่อสร้างแล้วเสร็จวันที่ 8 มิถุนายน 2551 จึงไม่ใช่วันกระทำความผิด เพราะจำเลยที่ 3 ไม่ได้ลงลายมือชื่อรับรองเอกสารตรวจรับงาน ส่วนจำเลยที่ 6 ถึงที่ 8 ได้ทำหนังสือขอส่งมอบงานงวดที่ 10 และ 11 เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2551 หลังจากพ้นกำหนดระยะเวลาตามสัญญาแล้วก็ไม่มีผลทำให้เกิดการกระทำความผิดในวันที่ 8 มิถุนายน 2551 ตามที่จำเลยที่ 3 ฎีกา ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2551 จำเลยที่ 3 ได้ลงลายมือชื่อรับรองในใบตรวจรับงานจ้างเหมาว่าจำเลยที่ 6 ทำงานงวดที่ 10 และ 11 ถูกต้องครบถ้วนเป็นไปตามแบบรูปรายละเอียดและข้อกำหนดในสัญญาจ้างแล้วเสร็จ และได้ส่งมอบงานถูกต้องเรียบร้อยแล้ว ตั้งแต่วันที่ 13 มิถุนายน 2551 จึงถือว่าจำเลยที่ 3 กระทำความผิดในวันที่ 30 มิถุนายน 2551 อายุความจึงเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2551 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2561 จึงอยู่ภายในอายุความสิบปีฟ้องโจทก์ไม่ขาดอายุความ ฎีกาของจำเลยที่ 3 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ส่วนปัญหาฎีกาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 กระทำความผิดตามที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาหรือไม่ เห็นว่า หนังสือส่งงานก่อสร้างว่า จำเลยที่ 6 ได้ทำงานงวดที่ 10 งวดที่ 11 และงวดสุดท้ายเสร็จสิ้นวันที่ 13 มิถุนายน 2551 จึงเป็นความเท็จซึ่งความจริงงานงวดที่ 10 งวดที่ 11 และงวดสุดท้ายยังไม่แล้วเสร็จตามสัญญา จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 รู้อยู่แล้วว่างานงวดที่ 10 งวดที่ 11 และงวดสุดท้ายที่จำเลยที่ 6 ทำหนังสือส่งงานก่อสร้างยังไม่แล้วเสร็จตามสัญญา จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ในฐานะคณะกรรมการตรวจการจ้างต้องไม่รับตรวจงานจ้างดังกล่าว แต่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 กลับทำใบรับงานจ้างเหมาว่าผู้รับจ้างทำงานงวดที่ 10 และ 11 ถูกต้องครบถ้วนเป็นไปตามแบบรูปรายละเอียดและข้อกำหนดในสัญญาจ้างแล้วเสร็จและได้ส่งมอบงานถูกต้องเรียบร้อยแล้วตั้งแต่วันที่ 13 มิถุนายน 2551 จึงเห็นสมควรจ่ายเงินให้ผู้รับจ้างตามสัญญา จึงเป็นการทำเอกสารในฐานะคณะกรรมการตรวจการจ้างรับรองเป็นหลักฐานซึ่งข้อเท็จจริงอันเอกสารนั้นมุ่งพิสูจน์ความจริงอันเป็นความเท็จ จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นเจ้าพนักงาน จึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 162 (4) (เดิม) และมาตรา 157 (เดิม) ประกอบมาตรา 83 ส่วนจำเลยที่ 3 ไม่มีฐานะเป็นเจ้าพนักงานจึงมีความผิดฐานสนับสนุนจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 162 (4) (เดิม) และมาตรา 157 (เดิม) ประกอบมาตรา 86 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นชอบแล้วศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน