โจทก์ฟ้องว่า วัดปรกพม่าเป็นนิติบุคคล พระอูเกลาสะเป็นเจ้าอาวาสได้มอบอำนาจให้ฟ้องคดีนี้ จำเลยทั้งสามเคยเป็นกรรมการวัดโจทก์ มีเจตนาทุจริตเบียดบังเอาเงินของโจทก์ไป 99,299 บาท ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352, 353, 83
จำเลยให้การปฏิเสธ และต่อสู้ว่าพระอูเกลาสะมิใช่เจ้าอาวาสวัดปรกพม่า ไม่มีอำนาจเป็นโจทก์
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "คดีมีปัญหามาสู่ศาลฎีกาว่าพระอูเกลาสะเป็นผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดปรกพม่า ซึ่งมีอำนาจฟ้องคดีแทนวัดหรือไม่ ในปัญหานี้ ข้อเท็จจริงที่ศาลล่างฟังต้องกันมาลำดับได้ว่าวัดปรกพม่าเป็นวัดพม่า สถานฑูตพม่าได้ร้องขอคืนให้เป็นของชนชาวพม่าในกรุงเทพฯ กรมการศาสนาจึงนำเรื่องถวายสังฆมนตรีว่าการองค์การปกครองพิจารณา สังฆมนตรีว่าการองค์การปกครองมีบัญชาว่าเห็นควรคืนให้ไป กระทรวงวัฒนธรรมจึงได้ตอบคืนแก่สถานฑูตพม่า (เอกสารหมาย ล.5) ต่อมาเจ้าอาวาสซึ่งเป็นพระภิกษุพม่ามรณภาพ วัดไม่มีเจ้าอาวาส เจ้าคณะตำบลยานนาวาได้มีคำสั่งแต่งตั้งพระอูเกลาสะ ซึ่งเป็นพระภิกษุพม่าให้เป็นผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาส ตั้งแต่วันที่ 6 กันยายน 2499 (เอกสาร จ.20) ได้มีเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมคณะสังฆมนตรีครั้งที่ 18 วันที่ 28 ธันวาคม 2499 ที่ประชุมพิจารณาแล้ว มีมติให้แจ้งสถานฑูตพม่าว่า เพราะได้มอบคืนวัดให้แล้ว คำสั่งแต่งตั้งผู้รักษาการเจ้าอาวาสภายหลังแต่วันมอบคืน จึงฟังไม่ได้ในราชการ และได้สั่งให้ถอนแล้ว กับให้แจ้งแก่เจ้าคณะอำเภอยานนาวาว่า ถ้ามีคำสั่งแต่งตั้งผู้รักษาการเจ้าอาวาสจริงก็ให้ถอนเสีย (เอกสารหมาย ล.5) กรมการศาสนาจึงได้มีหนังสือถึงเจ้าคณะอำเภอยานนาวา เพื่อให้ดำเนินการตามมติสังฆมนตรีแล้วตามสำเนาหนังสือที่ 2091/2500 ลงวันที่ 25 มีนาคม2500 (เอกสารหมาย ล.6) ครั้นต่อมาเจ้าคณะตำบลวัดพระยาไกร มีคำสั่งที่ 41/2509 สั่ง ณ วันที่ 19 ตุลาคม 2509 แต่งตั้งพระอูเกลาสะเป็นผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดปรกพม่า (เอกสารหมาย จ.21) อีกเมื่อทางวัดร้องทุกข์คดีอาญา พนักงานสอบสวนสอบถามไปทางสถานฑูตพม่าประจำประเทศไทย สถานฑูตพม่าประจำประเทศไทยมีหนังสือแจ้งไม่ยอมรับนับถือพระอูเกลาสะเป็นเจ้าอาวาส (เอกสารหมาย ล.18) และอธิบดีสงฆ์พม่าประจำประเทศไทยได้มีหนังสือแจ้งขับพระอูเกลาสะให้ออกไปจากวัดปรกพม่าตั้งแต่ก่อนฟ้องคดีนี้แล้ว (เอกสาร ล.112)
พิเคราะห์แล้ว เห็นว่าวัดปรกพม่า เป็นวัดที่ชนชาวพม่าได้ร่วมกันจัดสร้างขึ้น และต่อมาทางราชการด้วยความเห็นชอบของสังฆมนตรีว่าการองค์การปกครองได้มอบคืนการปกครองวัดนี้ให้แก่สถานฑูตพม่าประจำประเทศไทยไปแล้ว กรณีแต่งตั้งพระอูเกลาสะในคดีนี้ คำสั่งแต่งตั้งของเจ้าคณะตำบลยานนาวา ลงวันที่ 6 กันยายน 2499 (เอกสารหมาย จ.20)อยู่ในระยะเวลาพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2484 บังคับใช้ ส่วนคำสั่งแต่งตั้งของเจ้าคณะตำบลวัดพระยาไกร ลงวันที่ 19 ตุลาคม 2509 (เอกสารหมาย จ.21) อยู่ภายใต้บังคับพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2484 มาตรา 58 บัญญัติว่า "การปกครองคณะสงฆ์อื่น นอกจากคณะสงฆ์ไทย ให้เป็นไปตามกฎกระทรวง" และพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 มาตรา 46 บัญญัติไว้เช่นเดียวกันว่า"การปกครองคณะสงฆ์อื่นนอกจากคณะสงฆ์ไทยให้เป็นไปตามกฎกระทรวง"ดังนี้ จะเห็นได้ว่าพระราชบัญญัติคณะสงฆ์เป็นบทบัญญัติมุ่งใช้เฉพาะสงฆ์ไทยเท่านั้น มิได้บังคับใช้แก่คณะสงฆ์อื่นและไม่ประสงค์ที่จะให้คณะสงฆ์ไทยไปก้าวก่ายในการปกครองคณะสงฆ์อื่นด้วย การปกครองคณะสงฆ์อื่นในประเทศไทยจะให้ดำเนินการอย่างใดจะต้องออกเป็นกฎกระทรวงต่อไป และตั้งแต่ประกาศใช้พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ทั้งสองฉบับมายังไม่มีกฎกระทรวงออกมาสำหรับใช้แก่การปกครองคณะสงฆ์อื่นในประเทศไทยเลย กรณีตามคดีนี้ เกี่ยวกับการปกครองวัดปรกพม่า "จึงเป็นไปตามแบบพิธีการของคณะสงฆ์พม่าเอง ซึ่งอยู่ในความควบคุมของสถานฑูตพม่าประจำประเทศไทย คณะสงฆ์ไทยจึงไม่มีอำนาจออกคำสั่งเกี่ยวกับการปกครองของวัดปรกพม่าได้ และได้มีมติของที่ประชุมคณะสังฆมนตรี ครั้งที่ 18 วันที่ 28 ธันวาคม 2499 สั่งว่า คำสั่งแต่งตั้งดังกล่าวฟังไม่ได้ในราชการให้เพิกถอนเสีย (เอกสารหมาย ล.5) ไว้แล้ว คำสั่งแต่งตั้งพระอูเกลาสะทั้งสองฉบับดังกล่าวจึงใช้บังคับไม่ได้และเมื่อพระอูเกลาสะเป็นผู้ที่สถานฑูตพม่าประจำประเทศไทยและอธิบดีสงฆ์พม่าประจำประเทศไทยไม่รับรองให้เป็นผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดปรกพม่า พระอูเกลาสะจึงไม่ใช่ผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดปรกพม่า ไม่มีอำนาจฟ้องคดีแทนวัดได้ ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้วฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน