โจทก์ฟ้องว่า เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยที่ 1 หมายเรียกโจทก์ไปทำการตรวจสอบ แล้วมีหนังสือแจ้งการประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีภาษี พ.ศ. 2526 และ 2527 ให้โจทก์ชำระภาษีเงินได้ เบี้ยปรับและเงินเพิ่มให้จำเลยที่ 1 เป็นเงินรวม 91,840.65 บาท โดยอ้างว่าโจทก์มีเงินได้พึงประเมินประเภทดอกเบี้ยจากการรับจำนองในปีพ.ศ. 2526 และ 2527 เป็นเงิน 71,875 บาท และ 225,000 บาทตามลำดับ โจทก์เห็นว่า การประเมินไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงได้ยื่นอุทธรณ์ต่อจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ซึ่งเป็นคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ว่า โจทก์มิได้มีเงินได้ดังกล่าว จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4พิจารณาอุทธรณ์ของโจทก์แล้วมีคำวินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์ ซึ่งโจทก์ไม่เป็นพ้องด้วย เพราะการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ขัดต่อความจริง กล่าวคือ สัญญาจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 6431, 6433 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ระหว่างโจทก์ซึ่งเป็นมารดากับนายพฤกษ์ กอแสงเรืองผู้จำนองซึ่งเป็นบุตรนั้น ความจริงโจทก์ซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้นายพฤกษ์ แต่กลัวว่านายพฤกษ์จะนำทรัพย์ดังกล่าวไปจำหน่ายจ่ายโอนหรือก่อให้เกิดภาระหนี้สินขึ้น จึงให้นายพฤกษ์ทำสัญญาจำนองแก่โจทก์ แล้วโจทก์ยึดโฉนดไว้ ไม่มีการรับจ่ายเงินและดอกเบี้ยกันแต่ประการใด โจทก์จึงไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีตามกฎหมาย ขอให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์
จำเลยทั้งสี่ให้การว่า สัญญาจำนองตามฟ้องเป็นหนังสือสำคัญของทางราชการแสดงว่าโจทก์เป็นผู้รับเงินได้พึงประเมิน เจ้าพนักงานประเมินจึงมีอำนาจเรียกเก็บภาษีตามมาตรา 61(2) แห่งประมวลรัษฎากรที่โจทก์อ้างว่าไม่ได้รับดอกเบี้ยตามที่ระบุไว้ในสัญญา โจทก์ไม่สามารถพิสูจน์ได้ การประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ชอบแล้วขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยว่า โจทก์เป็นคนต่างด้าวไม่อาจถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินได้ จึงให้นายพฤกษ์บุตรชายเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวไว้แทน เพื่อมิให้นายพฤกษ์นำที่ดินนั้นไปจำหน่ายจ่ายโอนหรือก่อให้เกิดภาระติดพัน จึงได้ให้นายพฤกษ์ทำสัญญาจำนองที่ดินนั้นเป็นประกันหนี้ไว้ต่อโจทก์ตามที่นายสัก กอแสงเรืองบุตรชายของโจทก์และเป็นพี่ชายของนายพฤกษ์แนะนำ จึงเชื่อว่าไม่มีการชำระดอกเบี้ยแก่กันโจทก์ไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษี พิพากษาให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ที่กล่าวแล้ว
จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า "ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์เป็นหม้าย นายสัก กอแสงเรือง และนายพฤกษ์ กอแสงเรือง เป็นบุตรโจทก์ ปรากฏตามโฉนดที่ 6431 และ 6433 ว่า เมื่อวันที่ 5 กันยายน2526 นายพฤกษ์ได้ซื้อที่ดินโฉนดที่กล่าวแล้วว่า วันเดียวกันนายพฤกษ์ได้จำนองที่ดินนั้นพร้อมด้วยสิ่งปลูกสร้างเป็นประกันเงินกู้ที่นายพฤกษ์กู้จากโจทก์เป็นเงิน 1,500,000 บาท ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ15 ต่อปี รายละเอียดปรากฏตามภาพถ่ายสัญญาจำนองเอกสารหมาย จ.6วันที่ 12 มิถุนายน 2529 เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยที่ 1 หมายเรียกโจทก์มาตรวจสอบไต่สวนแล้วแจ้งการประเมินให้โจทก์ชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในฐานะที่โจทก์ได้รับดอกเบี้ยตามสัญญาจำนองให้จำเลยที่ 1 โจทก์อุทธรณ์การประเมินในที่สุดได้นำคดีมาฟ้องมีปัญหาว่า โจทก์ได้รับดอกเบี้ยตามสัญญาจำนองดังกล่าวหรือไม่...
พิเคราะห์แล้วเห็นว่า นายพฤกษ์มีอาชีพเป็นเพียงนายหน้าหาประกันไม่มีอาชีพอย่างอื่น ทั้งปรากฏตามหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายตามภาพถ่ายที่เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ส่งมาเพื่อประกอบการพิจารณาของศาลว่า ในปี พ.ศ. 2526 และ 2527 นายพฤกษ์ได้รับค่านายหน้าจากการประกอบอาชีพเป็นนายหน้าหาประกันเพียง 22,473.55 บาท และ18,108.32 บาท ตามลำดับเท่านั้น จึงไม่มีเหตุผลที่โจทก์ในฐานะมารดาซึ่งย่อมทราบข้อเท็จจริงเหล่านี้จะให้นายพฤกษ์กู้เงินถึง1,500,000 บาท ทั้งไม่ปรากฏหลักฐานที่แสดงว่านายพฤกษ์ได้ชำระดอกเบี้ยตามสัญญาจำนองให้โจทก์แล้ว พฤติการณ์ตามรูปคดี น่าเชื่อว่าสัญญาจำนองและสัญญากู้เงินรายนี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเพราะโจทก์และนายพฤกษ์สมคบกันแสดงเจตนาลวง สัญญาดังกล่าวจึงเป็นโมฆะตามกฎหมาย ฉะนั้น แม้โจทก์จะมีชื่อในสัญญาในฐานะผู้รับจำนองดังที่จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์ ก็ถือไม่ได้ว่าโจทก์มีเงินได้ประเภทดอกเบี้ยเงินกู้ยืมที่จะต้องชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้จำเลยที่ 1 ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาคดีชอบแล้ว อุทธรณ์จำเลยทั้งสี่ฟังไม่ขึ้น"
พิพากษายืน.