คดีได้ความตามฟ้องโจทก์และจำเลยรับสารภาพว่าจำเลยทั้งสองบังอาจทำร้ายร่างกายซึ่งกันและกันในท้องถนนหลวง โดย นายฟองจำเลยที่ ๑ ใช้มือชกใช้เท้าเตะ และใช้ดุ้นฟืนทำร้าย นายชิต ดังปรากฏตามรายงาน ชันสูตรบาดแผล นายชิต จำเลยท้ายฟ้องว่า ขอบตาขวาฟกช้ำ แขนขวาขัดยอก รักษา ๕ วันหาย ฝ่ายนายชิต จำเลยที่ ๒ ได้ใช้สูปจักรยานทำร้าย นายฟอง จำเลยจนได้รับบาดเจ็บดังปรากฏตามรายงานชันสูตรบาดแผล นายฟอง จำเลยท้ายฟ้องว่า แผลที่ได้ราวนมเบื้องขวากว้าง ๐.๕ ซ.ม. ยาว ๐.๕ ซ.ม. ลึก ๒ ๑/๒ ซ.ม. หายภายใน ๒๐ วัน
ศาลชั้นต้นลงโทษ นายชิต จำเลยที่ ๒ ตาม ก.ม. อาญา ม.๒๕๔ ดังที่โจทก์ขอมาในท้ายคำฟ้องโดยลดตาม ม.๕๙ และกำหนดโทษจำคุก ๑ เดือน รอการลงโทษไว้ ยกฟ้องปล่อย นายฟองจำเลยที่ ๑ โดยเห็นว่าบาดแผลของ นายชิต ที่ถูกนายฟองทำร้าย ไม่ถึงบาดเจ็บ และจะลงโทษ ตาม ก.ม.อาญา ม.๓๓๘ ข้อ ๓ ไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องวิวาท จะลงตาม ม.๓๓๕ ข้อ ๖ ก็ไม่ได้ เพราะโจทก์มิได้ประสงค์ขอให้ลงโทษ
โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษ นายฟอง จำเลยตาม ม.๒๕๔ หรือ ม.๓๓๕ (๖)
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า บาดแผลของ นายขิต จำเลยไม่ถึงบาดเจ็บ นายฟอง จำเลยที่ ๑ ไม่ผิดตาม ม.๒๕๔ ส่วน ม.๓๓๕ (๖) ถ้าโจทก์ประสงค์ให้ลงโทษก็น่าจะอ้างมา เมื่อไม่อ้างมาถือได้ว่าโจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษตามมาตรานี้ พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ข้อเท็จจริงเรื่องบาดแผลยังหาเข้าเกณฑ์ลักษณะบาดเจ็บตาม ก.ม.อาญา ม.๒๕๔ ไม่แม้จำเลยจะรับตามฟ้องก็ดี รายงานชันสูตรบาดแผลท้ายฟ้องย่อมเป็นส่วนหนึ่งของฟ้อง เมื่อบาดแผลตามรายงานชันสูตรบาดแผลท้ายฟ้องเพียงฟกช้ำเท่านั้น ยังไม่ถึงเกณฑ์บาดเจ็บทุพพลภาพตามกฎหมาย
เมื่อบาดแผลไม่ถึงบาดเจ็บตาม ม.๒๕๔ แล้วจะลงโทษนายฟองจำเลยที่ ๑ ฐานวิวาทต่อสู้กันในถนนหลวง โดยที่ฟ้อง โจทก์ได้กล่าวบรรยายการกระทำผิดของจำเลย ฐานวิวาท ทำร้ายร่างกายซึ่งกันและกันในถนนหลวงไว้ แต่มิได้อ้าง ม.๓๓๕ (๖) อันเป็นบทลงโทษมา ได้หรือไม่นั้น เห็นว่าความผิดฐานประทุษร้ายต่อร่างกายกับความผิดฐานวิวาทต่อสู้กันในถนนหลวงหรือในที่สาธารณะสถาน เป็นความผิด คนละประเภท และบทบัญญัติความผิดก็คนละหมวดหมู่กัน เมื่อโจทก์มิได้ขอให้ลงโทษจำเลยตาม ม.๓๓๕ (๖) มาด้วย จึงลงโทษ นายฟอง จำเลยที่ ๑ ไม่ได้ พิพากษายืน.