ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การกำหนดเขตที่ดินพิพาท: โจทก์มีหน้าที่นำสืบก่อนหากอ้างว่าที่ดินอยู่ในโฉนดของตน
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยบุกรุกที่พิพาทซึ่งอยู่ในเขตโฉนดของโจทก์ จำเลยให้การว่าที่ดินตามโฉนดของโจทก์มีอาณาเขตติดกับที่ดินตามโฉนดของจำเลยจริง จำเลยไม่ได้บุกรุกที่ดินของโจทก์ และว่าที่พิพาทเป็นที่ดินอยู่ในเขตโฉนดซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยแล้ว ประเด็นจึงมีว่า ที่พิพาทอยู่ในเขตโฉนดของโจทก์หรือจำเลยเท่านั้น โจทก์มีหน้าที่นำสืบก่อน จำเลยมิได้ยอมรับว่าที่พิพาทเป็นที่ธรณีสงฆ์ซึ่งมีชื่อโจทก์เป็นเจ้าของในโฉนด หรือต่อสู้ว่าจำเลยได้กรรมสิทธิ์ที่พิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ต่อโจทก์ โจทก์จะยกเอาข้อสันนิษฐานของกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1373 มาเป็นประโยชน์ในคดีนี้ว่าจำเลยมีหน้าที่นำสืบหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายข้อนี้ จำเลยมีหน้าที่นำสืบก่อน ดังนี้ ย่อมไม่ได้
เมื่อศาลฟังว่า ที่พิพาทอยู่ในโฉนดของจำเลยทั้งสองมิได้ฟังว่าเป็นที่ธรณีสงฆ์ซึ่งอยู่ในโฉนดของโจทก์ซึ่งเป็นวัด ไม่จำต้องหยิบยกเอาพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 ใช้บังคับ
จำเลยให้การต่อสู้คดีว่า ที่พิพาทเป็นที่ดินที่จำเลยซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในโฉนด ไม่ใช่ที่ดินในโฉนดของโจทก์ แม้จำเลยจะไม่ฟ้องแย้งด้วย ก็มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยอยู่แล้วว่า ที่พิพาทเป็นที่ดินในเขตโฉนดของโจทก์หรือของจำเลย ศาลย่อมวินิจฉัยไปตามประเด็นนั้นได้โดยไม่ต้องให้จำเลยฟ้องแย้ง คำวินิจฉัยของศาลที่เชื่อว่าที่พิพาทอยู่ในเขตโฉนดของจำเลยพิพากษายกฟ้อง จึงเป็นคำวินิจฉัยชี้ขาดในประเด็น ไม่ขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142