โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 91, 278, 279, 317, 319 และริบของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 279 (ที่ถูก มาตรา 279 วรรคแรก) ที่กระทำต่อ ด.ช. น. หรือเอ็ม ด.ช. ล. หรือโต้ง จำคุกกระทงละ 6 เดือน กระทำต่อ ด.ช. ม. หรือลม จำคุก 4 เดือน กระทำต่อ ด.ช. ช. ด.ช. ณ. หรือวาต จำคุกกระทงละ 1 เดือนรวมเป็นจำคุก 18 เดือน ริบทรัพย์สินตามบัญชีของกลางคดีอาญาเฉพาะลำดับที่ 1 ที่ 5 ที่ 6 และที่ 7 คำขออื่นยก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 วรรคสามด้วย จำคุกกระทงละ 5 ปี รวม 5 กระทง เป็นจำคุก25 ปี ลงโทษจำคุกในความผิดฐานกระทำอนาจารตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา279 วรรคแรก กระทงละ 1 ปี รวม 5 กระทง เป็นจำคุก 5 ปี รวมโทษจำคุกทุกกระทงแล้วเป็นจำคุก 30 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า จำเลยมีความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลเพื่อการอนาจารตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 วรรคสาม ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์หรือไม่ โดยจำเลยฎีกาอ้างว่า การกระทำของจำเลยมิได้เป็นการล่วงล้ำอำนาจปกครองของบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลของเด็กทั้งห้า เด็กทั้งห้ามาที่ห้องพักของจำเลยเอง หรือมาที่ห้องพักเพราะเพื่อนเป็นผู้ชักชวนโดยจำเลยไม่ได้ใช้กลอุบายล่อลวงมาและเด็กทุกคนมีอิสระที่จะไปไหนมาไหนหรือจะกระทำการหรือไม่กระทำการใดด้วยสมัครใจของตนเองนั้นเห็นว่า ความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกิน 15 ปี ไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 แม้จะมุ่งคุ้มครองมิให้มีผู้ใดมาก่อการรบกวน หรือกระทำการใด ๆ อันจะกระทบต่ออำนาจปกครองของบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลเด็ก แต่กรณีจะเป็นความผิดดังกล่าวได้จะต้องมีการกระทำที่เป็นการพราก ซึ่งหมายถึง การพาเอาไปเสียประกอบด้วย แต่จากพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบได้ความว่า ด.ช. น. รู้จักนายแอนดี้ซึ่งเคยพักอยู่ห้องเดียวกับจำเลยมาก่อนและเคยมาพักที่ห้องพักของจำเลยด้วย หลังจากนั้น ด.ช. น. ได้แนะนำ ด.ช. ล. หรือโต้ง สรสิทธิ์ เด็กชาย ช. หรือเอ้ และเด็กชาย ม. หรือลม บู่เรือง ให้รู้จักจำเลยและมาที่ห้องพักดังกล่าวเนื่องจากมีของเล่นและคอมพิวเตอร์ ส่วนเด็กชาย ณ. หรือวาต มีนายแอนดี้เป็นผู้แนะนำให้รู้จักจำเลย และมาเล่นคอมพิวเตอร์ที่ห้องพักของจำเลยเช่นกัน ทุกครั้งที่มาจำเลยจะให้อาหารและขนมหรือเงินแก่เด็กทั้งห้าโดยเฉพาะเด็กชาย ช.หรือเอ้เบิกความตอบคำถามค้านของทนายจำเลยด้วยว่า เหตุที่มาที่ห้องพักของจำเลยเพราะอยู่บ้านก็ไม่มีอะไรจะทำ ซึ่งแสดงว่าเด็กทั้งห้ามาที่ห้องพักของจำเลยเองด้วยความเต็มใจ จำเลยไม่เคยเป็นผู้พามา และเด็กทั้งห้าสามารถกลับบ้านของตนเองได้เสมอหากต้องการเช่นนั้น เช่นนี้จำเลยจึงมิได้กระทำการใด ๆ อันเป็นพรากเด็กทั้งห้าไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล จำเลยย่อมไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 วรรคสาม ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดดังกล่าวมาด้วยนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการต่อมาว่า มีเหตุสมควรกำหนดโทษจำเลยในความผิดฐานกระทำอนาจารตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 279 วรรคแรก แต่ละกระทงลดหลั่นกันไปตามลักษณะการกระทำต่อเด็กแต่ละคนดังที่ศาลชั้นต้นกำหนดหรือไม่ เห็นว่า แม้จำเลยจะกระทำอนาจารต่อเด็กแต่ละคนด้วยวิธีการอันแตกต่างกัน แต่การกระทำของจำเลยดังกล่าวก็ส่อเจตนาเช่นเดียวกันในการแสวงหาความสุขทางเพศต่อเด็กที่ยังอ่อนเดียงสา ก่อให้เกิดผลกระทบเชิงพฤติกรรมแก่เด็กเหล่านั้นในลักษณะเดียวกัน และจะเป็นผลเสียหายต่อสังคมต่อไป ที่ศาลอุทธรณ์ใช้ดุลพินิจกำหนดโทษจำเลยในความผิดดังกล่าวให้จำคุกกระทงละ 1 ปี รวม 5 กระทง นับว่าเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งความผิดแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษาแก้เป็นว่า ยกฟ้องจำเลยในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 317 วรรคสาม คงลงโทษจำเลยในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 279 วรรคแรก จำคุกกระทงละ 1 ปี รวม 5 กระทง เป็นจำคุก 5 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์