ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการในคดีข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 77/2553 หมายเลขแดงที่ 142/2561 ของสถาบันอนุญาโตตุลาการ สำนักอนุญาโตตุลาการ สำนักงานศาลยุติธรรม เฉพาะในส่วนที่วินิจฉัยว่า ผู้ร้องได้โอนสิทธิเรียกร้องให้แก่ธนาคาร ท. แล้ว และผู้ร้องได้โอนสิทธิเรียกร้องไปแล้วตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม 2547 ก่อนที่ผู้ร้องจะถูกพิทักษ์ทรัพย์ในวันที่ 31 พฤษภาคม 2553 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงไม่มีอำนาจเข้ามาดำเนินคดีใช้สิทธิแทนผู้ร้องแล้ว กรณีก็ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยข้อเรียกร้องประเด็นอื่น ๆ ของผู้ร้องอีกต่อไป กับให้คณะอนุญาโตตุลาการในคดีดังกล่าวทำคำวินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นข้อพิพาทที่ยังไม่ได้วินิจฉัยชี้ขาดให้ครบถ้วน
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
ระหว่างพิจารณา ผู้คัดค้านยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาล ศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม ส่วนศาลปกครองกลางมีความเห็นพ้องกับศาลชั้นต้นว่าคดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมเช่นกัน ศาลชั้นต้นจึงดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. 2542 มาตรา 10 (1)
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ยกคำร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
ผู้ร้องอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า บริษัท น. จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มีวัตถุประสงค์ในการประกอบธุรกิจวางท่อน้ำมันและท่อส่งก๊าซธรรมชาติ ส่วนผู้คัดค้านจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายว่าด้วยบริษัทมหาชนจำกัด มีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการปิโตรเลียม ก่อสร้าง วางท่อ ซื้อ ขาย ผลิตภัณฑ์ ปิโตรเลียม เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2547 บริษัท น. กับผู้คัดค้านตกลงทำสัญญา "ONSHORE PIPELINE SYSTEM FOR THIRD TRANSMISSION PIPELINE PROJECT CONTRACT NO. PTT/GAS/3/21/47" หรือโครงการวางท่อส่งก๊าซระยะที่สาม ระบบท่อส่งบนฝั่ง สัญญาเลขที่ พีทีที/จีเอเอส/3/21/47 โดยผู้คัดค้านว่าจ้างบริษัท น. ให้ดำเนินการก่อสร้างและวางท่อส่งก๊าซธรรมชาติเส้นทางที่สามของระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติบนบกของผู้คัดค้าน เพื่อใช้เป็นท่อรับก๊าซธรรมชาติจากแหล่งผลิตในอ่าวไทย เริ่มตั้งแต่บริเวณชายฝั่งทะเลจังหวัดระยองจากสถานีชายฝั่งเข้าสู่โรงแยกก๊าซธรรมชาติของผู้คัดค้านในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด และส่งผ่านท่อส่งก๊าซไปยังโรงไฟฟ้าบางปะกง รวมเป็นระยะทางประมาณ 115 กิโลเมตร ซึ่งต่อมามีการแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาดังกล่าวกันอีก 4 ครั้ง วันที่ 31 พฤษภาคม 2553 ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์บริษัท น. เด็ดขาด ในคดีล้มละลายของศาลล้มละลายกลางคดีหมายเลขแดงที่ ล.6677/2553 ผู้ร้องแต่ผู้เดียวจึงมีอำนาจจัดการ เก็บรวบรวม ประนีประนอมยอมความ ฟ้องร้อง หรือต่อสู้คดีใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินของบริษัท น. ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 มาตรา 22 วันที่ 8 กันยายน 2553 ผู้ร้องยื่นคำเสนอข้อพิพาทต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการ สำนักงานศาลยุติธรรม ขอให้คณะอนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาดให้ผู้คัดค้านชำระเงินค่าว่าจ้างค้างชำระและค่าเสียหายอื่น ๆ แก่ผู้ร้อง อันได้แก่ ค่าว่าจ้างตามสัญญาเดิมและสัญญาแก้ไขเพิ่มเติม ค่าว่าจ้างตามหนังสือเปลี่ยนแปลงคำสั่ง ค่าว่าจ้างตามคำขอให้มีคำสั่งเปลี่ยนแปลง ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเพิ่มเติม ดอกเบี้ย การสูญเสียโอกาสเนื่องจากการชำระเงินล่าช้า การเสื่อมเสียชื่อเสียงทางการค้าเนื่องจากการชำระเงินล่าช้า และค่าเสียหายเพิ่มเติมเนื่องจากการชำระเงินล่าช้าอันเกิดจากค่าใช้จ่ายในการจัดการและบริหารงาน ค่าวิชาชีพ กับค่าธรรมเนียมธนาคารสำหรับการคงไว้ซึ่งหลักประกันการปฏิบัติตามสัญญา รวมเป็นเงินจำนวน 6,576,076,914.12 บาท และ 42,574,820.14 ดอลลาร์สหรัฐ ชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับตั้งแต่วันถัดจากวันยื่นคำเสนอข้อพิพาทไปจนกว่าผู้คัดค้านจะชำระเสร็จ ชำระค่าธรรมเนียมธนาคารในอัตราร้อยละ 1 ต่อปี สำหรับหลักประกันการปฏิบัติตามสัญญาของผู้ร้องสองฉบับ นับแต่วันถัดจากวันยื่นคำเสนอข้อพิพาทไปจนกว่าผู้ร้องจะได้รับหลักประกันการปฏิบัติตามสัญญาคืนจากผู้คัดค้าน ชำระค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีอนุญาโตตุลาการ ค่าวิชาชีพสำหรับอนุญาโตตุลาการ ค่าทนายความ และค่าวิชาชีพอื่น ๆ อันเกิดขึ้นเกี่ยวเนื่องกับกระบวนพิจารณาอนุญาโตตุลาการนี้แทนผู้ร้อง คืนหลักประกันการปฏิบัติตามสัญญาทุกฉบับที่เกี่ยวกับสัญญาโครงการวางท่อส่งก๊าซระยะที่สามซึ่งออกให้โดยธนาคาร ท. ให้แก่ผู้ร้อง ชำระค่าภาษีมูลค่าเพิ่มในเงินทั้งหมดที่ต้องชำระข้างต้น สถาบันอนุญาโตตุลาการรับเป็นข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 77/2553 วันที่ 17 มีนาคม 2554 ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านและข้อเรียกร้องแย้ง ขอให้คณะอนุญาโตตุลาการยกคำเสนอข้อพิพาทของผู้ร้อง ให้ผู้ร้องรับผิดชดใช้เงินค่าปรับ เงินตามสิทธิการเรียกเงินคืน เงินตามสิทธิที่เกิดจากคำสั่งเปลี่ยนแปลงงานหมายเลข 034 และค่าว่าจ้างสำหรับการควบคุมงานก่อสร้างของที่ปรึกษาโครงการ พร้อมดอกเบี้ยรวมเป็นเงิน 149,959,771.78 บาท และ 5,029,131.18 ดอลลาร์สหรัฐ ให้แก่ผู้คัดค้าน พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 112,250,621.46 บาท และ 3,722,596.72 ดอลลาร์สหรัฐ นับถัดจากวันยื่นข้อเรียกร้องแย้งไปจนกว่าผู้ร้องจะชำระเงินแก่ผู้คัดค้านจนครบถ้วน ให้ผู้ร้องชำระค่าป่วยการอนุญาโตตุลาการ ค่าใช้จ่ายในการดำเนินกระบวนพิจารณา ค่าทนายความ และค่าใช้จ่ายทั้งปวงอันเกี่ยวเนื่องกับการอนุญาโตตุลาการในข้อพิพาทนี้เป็นอย่างสูงแทนผู้คัดค้านด้วย หากคณะอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยให้ผู้คัดค้านต้องชำระเงินค่าจ้างหรือค่าเสียหายใด ๆ ตามข้อพิพาทนี้ให้แก่ผู้ร้อง ผู้คัดค้านขอให้คณะอนุญาโตตุลาการนำเงินจำนวนที่ผู้ร้องมีหน้าที่ต้องชำระให้แก่ผู้คัดค้านตามคำคัดค้านนี้ไปหักกลบกับค่าว่าจ้างหรือเงินจำนวนใด ๆ ที่ผู้คัดค้านจะต้องชำระให้แก่ผู้ร้องตามคำวินิจฉัยของคณะอนุญาโตตุลาการเสียก่อน คณะอนุญาโตตุลาการพิจารณาแล้วกำหนดประเด็นข้อพิพาทดังนี้
1. ผู้ร้องมีอำนาจเรียกร้องหรือไม่ และเสนอข้อพิพาทโดยสุจริตหรือไม่
2. คำเสนอข้อพิพาทเคลือบคลุมหรือไม่
3. ผู้ร้องหรือผู้คัดค้านเป็นฝ่ายผิดสัญญาหรือไม่
4. ผู้คัดค้านจะต้องรับผิดต่อผู้ร้องตามข้อเรียกร้องของผู้ร้องหรือไม่ เพียงใด
5. ผู้ร้องจะต้องรับผิดต่อผู้คัดค้านตามข้อเรียกร้องแย้งของผู้คัดค้านหรือไม่ เพียงใด
6. ข้อเรียกร้องขาดอายุความหรือไม่
7. ผู้ร้องจะต้องรับผิดต่อผู้คัดค้านตามข้อเรียกร้องแย้งของผู้คัดค้านหรือไม่ เพียงใด
8. ผู้คัดค้านมีสิทธิเรียกร้องแย้งสำหรับค่าใช้จ่ายของที่ปรึกษาโครงการหรือไม่ เพียงใด
9. ข้อเรียกร้องแย้งเรื่องความชำรุดบกพร่องและที่ปรึกษาโครงการขาดอายุความหรือไม่
10. ข้อเรียกร้องแย้งในส่วนค่าใช้จ่ายที่ปรึกษาโครงการของผู้คัดค้านเคลือบคลุมหรือไม่
วันที่ 21 มกราคม 2556 ศาลล้มละลายกลางมีคำพิพากษาให้บริษัท น. ลูกหนี้ล้มละลาย วันที่ 30 พฤศจิกายน 2561 คณะอนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาดให้ยกคำร้องของผู้ร้องและยกคำร้องแย้งของผู้คัดค้าน โดยวินิจฉัยว่า ปัญหาต้องพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามประเด็นข้อ 1 ว่า ผู้ร้องเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการเป็นไปตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ตามสัญญาอนุญาโตตุลาการหรือไม่นั้น เห็นว่า กรณีถือว่าได้ดำเนินการตามขั้นตอนข้อกำหนดสัญญาอนุญาโตตุลาการแล้ว ผู้ร้องสามารถยื่นคำร้องขอให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัยข้อเรียกร้องของตนได้ ส่วนปัญหาว่าผู้ร้องเสนอข้อพิพาทโดยสุจริตหรือไม่นั้น ยังไม่พอฟังว่าการกำหนดค่าเสียหายจำนวนมากอย่างผิดปกตินั้นเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต คำร้องของผู้ร้องจึงไม่เสียไป ปัญหาว่าผู้ร้องโอนสิทธิเรียกร้องให้แก่ธนาคาร ท. หรือไม่นั้น คณะอนุญาโตตุลาการฟังข้อเท็จจริงว่าการโอนสิทธิเรียกร้องสมบูรณ์แล้ว ที่ผู้ร้องอ้างว่าสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องเป็นเพียงสัญญาประกันหนี้อย่างหนึ่งนั้น ข้ออ้างดังกล่าวไม่มีน้ำหนักและเหตุผลเพียงพอที่จะให้รับฟังได้ เมื่อสิทธิเรียกร้องโอนไปยังผู้รับโอนก่อนแล้ว ผู้รับโอนย่อมเข้าสู่ฐานะเจ้าหนี้แทนที่ผู้โอน เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงไม่มีอำนาจเข้ามาดำเนินคดีหรือใช้สิทธิแทน กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยข้อเรียกร้องประเด็นอื่น ๆ ของผู้ร้องอีกต่อไป ส่วนปัญหาตามประเด็นข้อ 7 ว่าผู้ร้องจะต้องรับผิดต่อผู้คัดค้านตามข้อเรียกร้องแย้งของผู้คัดค้านหรือไม่ เพียงใดนั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2553 ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ผู้ร้องเด็ดขาดแล้ว การบังคับชำระหนี้จึงต้องเป็นไปตามกฎหมายล้มละลาย ผู้คัดค้านจึงไม่อาจยื่นคำร้องแย้งเพื่อบังคับให้ผู้ร้องชำระหนี้ในคดีนี้ได้ ตามสำเนาคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ สถาบันอนุญาโตตุลาการ สำนักอนุญาโตตุลาการ สำนักงานศาลยุติธรรม ข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ 142/2561 วันที่ 25 ธันวาคม 2561 ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้คณะอนุญาโตตุลาการทำคำชี้ขาดเพิ่มเติม และวันที่ 8 มกราคม 2562 ผู้คัดค้านยื่นคำร้องขอให้แก้ไขข้อผิดพลาดหรือการพิมพ์ที่ผิดพลาด วันที่ 18 มกราคม 2562 คณะอนุญาโตตุลาการพิจารณาแล้ว เห็นว่า มีข้อผิดหลงเล็กน้อยเนื่องจากมีการพิมพ์ผิดพลาดจึงมีคำสั่งให้แก้ไขคำชี้ขาด
กรณีเห็นสมควรวินิจฉัยก่อนว่าอุทธรณ์ของผู้ร้องเป็นอุทธรณ์ที่ต้องห้ามตามกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 มาตรา 45 บัญญัติว่า "ห้ามมิให้อุทธรณ์คำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลตามพระราชบัญญัตินี้ เว้นแต่ (1) การยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดนั้นจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน (2) คำสั่งหรือคำพิพากษานั้นฝ่าฝืนต่อบทกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน (3) คำสั่งหรือคำพิพากษานั้นไม่ตรงกับคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ (4) ผู้พิพากษาหรือตุลาการซึ่งพิจารณาคดีนั้นได้ทำความเห็นแย้งไว้ในคำพิพากษา หรือ (5) เป็นคำสั่งเกี่ยวด้วยการใช้วิธีการชั่วคราวเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของคู่พิพาท ตามมาตรา 16 ..." พระราชบัญญัติดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อให้การระงับข้อพิพาทโดยการอนุญาโตตุลาการเป็นไปด้วยความรวดเร็ว สมดังเจตนาของคู่พิพาทที่เลือกใช้วิธีระงับข้อพิพาทโดยการอนุญาโตตุลาการแทนการนำข้อพิพาทไปฟ้องคดีต่อศาล จึงบัญญัติให้คำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการจะได้รับการพิจารณาจากศาลเพียงชั้นเดียว ยกเว้นเป็นคำสั่งหรือคำพิพากษาตามกรณีมาตรา 45 (1) ถึง (5) จึงจะอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาได้ ที่ผู้ร้องอุทธรณ์ทำนองว่า คณะอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทไม่เป็นไปตามเจตนาของคู่สัญญาระหว่างบริษัท น. กับธนาคาร ท. ที่ทำสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องระหว่างกัน ขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 171 และ 368 โดยเจตนาที่แท้จริงและประเพณีปฏิบัติระหว่างคู่สัญญาดังกล่าวหาใช่การโอนสิทธิเรียกร้องแต่เป็นเพียงการมอบอำนาจให้รับเงินแทนหรือเป็นเพียงการให้หลักประกันในการขอสินเชื่อเพื่อประโยชน์ในการอนุมัติสินเชื่อทางธุรกิจของธนาคาร ท. เท่านั้น ทั้งข้อเท็จจริงตามคำชี้ขาดคดีนี้กับข้อเท็จจริงในคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ สถาบันอนุญาโตตุลาการ สำนักอนุญาโตตุลาการ สำนักงานศาลยุติธรรม ข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 38/2553 หมายเลขแดงที่ 27/2557 ก็เป็นข้อพิพาทระหว่างคู่ความรายเดียวกัน คือ บริษัท น. กับผู้คัดค้าน และเป็นการว่าจ้างก่อสร้างและวางท่อก๊าซธรรมชาติเช่นเดียวกับในคดีนี้ เพียงแต่แตกต่างกันในเรื่องของสถานที่ก่อสร้างเท่านั้น โดยคดีดังกล่าวมีประเด็นเรื่องการโอนสิทธิเรียกร้องให้แก่ธนาคาร ท. เช่นเดียวกัน แต่คณะอนุญาโตตุลาการในคดีดังกล่าววินิจฉัยว่าสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องระหว่างบริษัท น. กับธนาคาร ท. เป็นเพียงหลักประกันที่บริษัท น. วางไว้เพื่อประกันการชำระหนี้แก่ธนาคารเท่านั้น ไม่ใช่การโอนสิทธิเรียกร้องตามกฎหมาย ผู้คัดค้านยื่นคำร้องขอเพิกถอนคำชี้ขาดดังกล่าว ศาลชั้นต้นในคดีดังกล่าวมีคำสั่งยกคำร้อง ผู้คัดค้านฎีกา ศาลฎีกาในคดีดังกล่าววินิจฉัยว่าการพิจารณาสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องนั้นต้องพิจารณาจากการแสดงเจตนาที่แท้จริงของคู่สัญญาตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5560 - 5563/2562 ผลคำวินิจฉัยของทั้งสองคดีจึงแตกต่างกันทั้งที่มีข้อเท็จจริงเหมือนกัน การที่คณะอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องในคดีนี้โดยมิได้พิจารณาถึงเจตนาที่แท้จริงจึงเป็นการวินิจฉัยฝ่าฝืนต่อบทกฎหมาย นอกจากนี้ สัญญาโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวยังตกเป็นโมฆะเนื่องจากข้อเท็จจริงได้ความว่าผู้คัดค้านไม่ได้ให้ความยินยอมเป็นหนังสือก่อนการทำสัญญาโอนสิทธิเรียกร้อง ขัดต่อสัญญาโครงการพิพาทซึ่งผู้คัดค้านได้ปฏิเสธมาโดยตลอดว่าไม่เคยให้ความยินยอมในการโอนสิทธิเรียกร้องค่าว่าจ้างตามสัญญาแก้ไขเพิ่มเติมทุกฉบับเนื่องจากผู้คัดค้านไม่เคยลงลายมือชื่อในหนังสือให้ความยินยอม คำวินิจฉัยของคณะอนุญาโตตุลาการและคำพิพากษาศาลชั้นต้นจึงฝ่าฝืนต่อบทกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ทำให้การยอมรับหรือบังคับตามคำชี้ขาดขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนนั้น เห็นว่า อุทธรณ์ของผู้ร้องดังกล่าวแม้จะกล่าวอ้างว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน แต่เนื้อหาตามอุทธรณ์ของผู้ร้องล้วนเป็นการยกข้อเท็จจริงขึ้นอ้างโต้แย้งการรับฟังพยานหลักฐานของคณะอนุญาโตตุลาการ เพื่อให้ศาลฎีการับฟังข้อเท็จจริงว่าสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องที่ทำกันระหว่างบริษัท น. กับธนาคาร ท. นั้น แท้จริงแล้วคู่สัญญาดังกล่าวมิได้มีเจตนาโอนสิทธิเรียกร้องระหว่างกัน แต่เป็นเพียงการมอบอำนาจให้รับเงินแทนหรือเป็นเพียงการให้หลักประกันในการขอสินเชื่อเพื่อประโยชน์ในการอนุมัติสินเชื่อทางธุรกิจของธนาคาร ท. หรือเพื่อให้ศาลฎีการับฟังข้อเท็จจริงว่าสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวตกเป็นโมฆะ อันเป็นการโต้แย้งการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานและดุลพินิจในการวินิจฉัยฟังข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานในสำนวนของคณะอนุญาโตตุลาการ ส่วนที่ผู้ร้องอ้างว่าข้อเท็จจริงตามคำชี้ขาดในคดีนี้ขัดกับข้อเท็จจริงตามคำชี้ขาดข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ 27/2557 และคดีตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5560 - 5563/2562 นั้น ได้ความว่า สัญญาว่าจ้างระหว่างบริษัท น. กับผู้คัดค้าน และคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวนั้น คือ สัญญาโครงการวางท่อก๊าซธรรมชาติไทรน้อย – โรงไฟฟ้าพระนครเหนือ/ใต้ มีระยะทางในการวางท่อก๊าซตามสัญญาประมาณ 66.5 กิโลเมตร ซึ่งตกลงทำสัญญากันวันที่ 9 มีนาคม 2548 ส่วนสัญญาว่าจ้างในคดีนี้ คือ สัญญาโครงการวางท่อส่งก๊าซธรรมชาติระยะที่สาม เริ่มตั้งแต่บริเวณชายฝั่งทะเลจังหวัดระยองจากสถานีชายฝั่งเข้าสู่โรงแยกก๊าซธรรมชาติของผู้คัดค้านในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด และส่งผ่านท่อส่งก๊าซไปยังโรงไฟฟ้าบางปะกง รวมระยะทางประมาณ 115 กิโลเมตร ซึ่งตกลงทำสัญญากันวันที่ 15 กรกฎาคม 2547 กรณีจึงเห็นได้ว่า สัญญาพิพาทในคดีที่ผู้ร้องยกขึ้นอ้างกับคดีนี้เป็นสัญญาคนละฉบับกัน ตกลงทำสัญญาและดำเนินการต่างช่วงเวลากัน ทั้งสถานที่และระยะทางในการปฏิบัติตามสัญญาก็แตกต่างกัน แม้สัญญาพิพาทในคดีดังกล่าวจะมีคู่สัญญาเดียวกันและมีการทำสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องไปยังธนาคาร ท. เช่นเดียวกับในคดีนี้ แต่ข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ของคู่สัญญาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องรวมไปถึงการนำสืบพยานหลักฐานของคู่พิพาทในชั้นอนุญาโตตุลาการของแต่ละคดีย่อมมีความแตกต่างกัน การที่คณะอนุญาโตตุลาการในคดีที่ผู้ร้องยกขึ้นอ้างรับฟังพยานหลักฐานที่คู่พิพาทในคดีดังกล่าวนำสืบแล้วนำมาประกอบการวินิจฉัยว่าสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องในคดีมีผลอย่างไรย่อมไม่มีผลผูกพันคณะอนุญาโตตุลาการในคดีนี้ให้ต้องวินิจฉัยไปในทางเดียวกัน คำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการและคำพิพากษาศาลฎีกาที่ผู้ร้องยกขึ้นอ้างมีข้อเท็จจริงไม่ตรงกับในคดีนี้ เมื่อตามคำชี้ขาดในคดีนี้คณะอนุญาโตตุลาการรับฟังข้อเท็จจริงว่าการโอนสิทธิเรียกร้องสมบูรณ์แล้ว ส่วนข้ออ้างของผู้ร้องที่ว่าสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องเป็นเพียงสัญญาประกันหนี้อย่างหนึ่งนั้นไม่มีน้ำหนักและเหตุผลเพียงพอให้รับฟังได้ โดยไม่ปรากฏว่ามีการวินิจฉัยคดีผิดจากวิธีพิจารณาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนแต่อย่างใด ศาลย่อมไม่อาจตรวจสอบการใช้ดุลพินิจรับฟังพยานหลักฐานและการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานของคณะอนุญาโตตุลาการในเรื่องการโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวนี้ซ้ำได้อีก ข้ออ้างตามอุทธรณ์ดังกล่าวข้อผู้ร้องจึงเป็นอุทธรณ์ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 มาตรา 45 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
สำหรับที่ผู้ร้องอุทธรณ์ทำนองว่า การที่คณะอนุญาโตตุลาการไม่วินิจฉัยตามที่กำหนดประเด็นข้อพิพาทให้ครบทุกประเด็นเป็นการใช้ดุลพินิจตามอำเภอใจหรือเป็นการใช้ดุลพินิจโดยปราศจากขอบเขต ไร้หลักเกณฑ์ ขัดต่อประมวลจริยธรรมอนุญาโตตุลาการ ข้อบังคับของสำนักงานศาลยุติธรรมว่าด้วยอนุญาโตตุลาการ และไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรม ส่วนที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าการที่คณะอนุญาโตตุลาการไม่ได้วินิจฉัยประเด็นอื่นต่อไปอีกเป็นการรับฟังพยานหลักฐาน ชั่งน้ำหนัก และใช้ดุลพินิจในการพิจารณาตามกรอบอำนาจที่มี ยังถือไม่ได้ว่ากระบวนการพิจารณาของคณะอนุญาโตตุลาการมิได้เป็นไปตามที่คู่พิพาทตกลงกันไว้นั้น เป็นคำวินิจฉัยที่คลาดเคลื่อนต่อข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย คำวินิจฉัยของคณะอนุญาโตตุลาการและคำพิพากษาศาลชั้นต้นฝ่าฝืนต่อประมวลจริยธรรมอันเป็นกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ทำให้การยอมรับหรือบังคับตามคำชี้ขาดขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนนั้น เห็นว่า ในการดำเนินกระบวนพิจารณาของคณะอนุญาโตตุลาการนั้น ในกรณีที่คู่พิพาทไม่ได้ตกลงกันหรือพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 ไม่ได้บัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น คณะอนุญาโตตุลาการมีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาใด ๆ ได้ตามที่เห็นสมควร รวมทั้งอาจนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งว่าด้วยพยานหลักฐานมาใช้ได้โดยอนุโลม ตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 มาตรา 25 วรรคสอง และวรรคสาม เมื่อข้อเท็จจริงตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการในคดีนี้ได้ความว่า บริษัท น. ได้โอนสิทธิเรียกร้องตามสัญญาว่าจ้างพิพาทไปยังธนาคาร ท. แล้วตั้งแต่ปี 2547 ก่อนที่จะถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดภายหลังในปี 2553 ผู้ร้องในฐานะเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ย่อมไม่มีอำนาจดำเนินคดีต่อผู้คัดค้านโดยใช้สิทธิเรียกร้องดังกล่าวของบริษัท น. ได้ การที่ศาลชั้นต้นเห็นว่าที่คณะอนุญาโตตุลาการไม่วินิจฉัยประเด็นอื่นของผู้ร้องต่อไปเพราะประเด็นที่เหลือไม่จำเป็น ต้องวินิจฉัยนั้นเป็นการวินิจฉัยที่ใช้ดุลพินิจปกติและเป็นการใช้ดุลพินิจที่ชอบแล้ว เนื่องจากคณะอนุญาโตตุลาการมีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาตามที่เห็นสมควร รวมทั้งมีอำนาจวินิจฉัยในเรื่องการรับฟังพยานหลักฐานและการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งปวงและอาจนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งว่าด้วยพยานหลักฐานมาใช้โดยอนุโลมได้ตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 มาตรา 25 นั้น คำวินิจฉัยดังกล่าวของศาลชั้นต้นจึงเป็นคำวินิจฉัยที่ชอบแล้ว เพราะในการวินิจฉัยชี้ขาดคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งนั้น หากเห็นว่าประเด็นปัญหาใดแม้วินิจฉัยให้ก็ไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลงไป ก็อาจใช้ดุลพินิจไม่วินิจฉัยในประเด็นปัญหาดังกล่าวได้ อันเป็นอำนาจทั่วไป เหตุที่ผู้ร้องยกขึ้นอุทธรณ์จึงเป็นการโต้แย้งการวิเคราะห์พยานหลักฐานและดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานในสำนวนของคณะอนุญาโตตุลาการและโต้แย้งการให้เหตุผลในการวินิจฉัยของศาลชั้นต้น โดยไม่ปรากฏว่ามีการวินิจฉัยผิดจากวิธีพิจารณาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่อย่างใด อุทธรณ์ข้อดังกล่าวของผู้ร้องจึงต้องห้ามตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 มาตรา 45 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยเช่นกัน
พิพากษายกอุทธรณ์ของผู้ร้อง คืนค่าขึ้นศาลในชั้นอุทธรณ์แก่ผู้ร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมอื่นนอกจากที่สั่งคืนให้เป็นพับ