โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1โดยจำเลยที่ 2 ได้มีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์ โดยอ้างว่าโจทก์ขาดความตั้งใจและความรับผิดชอบในการปฏิบัติงานทำให้งานผิดพลาดบกพร่องล้าช้าอยู่เสมอ แม้ผู้บังคับบัญชาจะว่ากล่าวตักเตือนและชี้แนะการปฏิบัติงานหลายครั้ง แต่โจทก์ก็มิได้ปรับปรุงตัวให้ดีขึ้น ความจริงโจทก์ไม่เคยขาดความตั้งใจและความรับผิดชอบในการปฏิบัติงานอันทำให้งานผิดพลาด จำเลยเลิกจ้างโจทก์ไม่ชอบด้วยกฎหมายและระเบียบข้อบังคับ จึงเป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมและมิได้บอกกล่าวล่วงหน้า ขอให้จำเลยชดใช้ค่าขาดรายได้เงินบำเหน็จ เงินโบนัส ค่ารักษาพยาบาล ค่าเสียหาย ค่าจ้างสำหรับวันหยุด 10 วันเป็นเงิน 3,107 บาท รวมเป็นเงิน 4,082,987 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ย และให้ออกใบผ่านงานให้โจทก์
จำเลยทั้งสี่ให้การว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์เนื่องจากโจทก์ปฏิบัติงานขาดความรับผิดชอบต่อหน้าที่ ผลักภาระรับผิดชอบของตนให้เพื่อนร่วมงานเป็นประจำ ปฏิบัติงานผิดพลาดบ่อย ๆ ตักเตือนแล้วไม่สนใจจะแก้ไข จำเลยจึงจำเป็นต้องเลิกจ้าง โดยได้จ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และเงินบำเหน็จให้โจทก์แล้วจำเลยมีเหตุสมควรในการเลิกจ้างโจทก์ จึงเป็นการเลิกจ้างที่เป็นธรรม โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหาย เงินบำเหน็จล่วงหน้าเงินโบนัสล่วงหน้า
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าประเด็นข้อ 1 น่าเชื่อว่าการปฏิบัติงานของโจทก์ล่าช้า ไม่ติดตามผลงานและผลงานต่ำกว่ามาตรฐานตามที่โจทก์ถูกตักเตือนเป็นหนังสือ การที่จำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์จึงมีเหตุแห่งการเลิกจ้าง ทั้งได้ความว่าเมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์แล้ว จำเลยจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามกฎหมาย กับเงินบำเหน็จตามข้อบังคับของจำเลยให้โจทก์ครบถ้วนแล้ว การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงมิใช่เป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม ประเด็นข้อ 2 ข้อเท็จจริงปรากฏว่าในปี2529 โจทก์หยุดพักผ่อนแล้ว 4 วันคงเหลือ 6 วันในปี 2530 โจทก์ยังมิได้หยุดพักผ่อนประจำปีแต่โจทก์ติดใจเรียกร้องเพียง 10 วัน จึงให้จำเลยรับผิดเพียง 10 วัน ประเด็นข้อ 3 ในปีที่โจทก์ถูกเลิกจ้าง โจทก์ถูกเลิกจ้างก่อนมีการจ่ายโบนัสจึงไม่มีสิทธิได้รับโบนัสประจำปี 2529 ประเด็นข้อ 4 เมื่อฟังว่าการที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์มิใช่เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมแล้ว จำเลยไม่ต้องชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ ประเด็นข้อ 5 จำเลยที่ 2 ลงนามในหนังสือเลิกจ้างในฐานะผู้จัดการตามตำแหน่งหน้าที่จึงไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัวจำเลยที่ 3 ที่ 4 มิใช่นายจ้างของโจทก์ไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 พิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 3,107.00 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จ แต่จำเลยที่ 2ไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัว กับให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ทำใบสำคัญหรือหนังสือรับรองการทำงานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา585 ให้โจทก์ คำขอของโจทก์นอกจากนี้ให้ยกเสีย และให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 3 และที่ 4
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า 'โจทก์อุทธรณ์ประการแรกว่าตามข้อบังคับฉบับที่ 4 ข้อ 19 (2) การบกพร่องในการปฏิบัติงานผู้จัดการจะมีสิทธิเลิกจ้างได้เฉพาะพนักงานผู้นั้นบกพร่องในการปฏิบัติงานอยู่เนือง ๆ เพียงแต่บกพร่องในการปฏิบัติงานผู้จัดการไม่มีสิทธิเลิกจ้าง เพราะการปฏิบัติบกพร่องอยู่เนือง ๆ ย่อมหมายถึงการที่พนักงานของจำเลยที่ 1 เป็นผู้ปฏิบัติงานบกพร่องอย่างต่อเนื่องตลอดไปไม่มีทางที่จะแก้ไขได้เป็นระยะเวลามานานหลายปี มีการลงโทษมาหลายครั้งแต่ข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางรับฟังนั้นน่าเชื่อว่า การปฏิบัติงานของโจทก์ล่าช้า ไม่ติดตามผลงาน และผลงานต่ำกว่ามาตรฐานตามที่โจทก์ถูกตักเตือนเป็นหนังสือ ข้อเท็จจริงดังกล่าวยังไม่สามารถจะถือได้ว่าการทำงานของโจทก์เป็นการบกพร่องในการปฏิบัติงานอยู่เนืองๆ พิเคราะห์แล้วเห็นว่าข้อบังคับฉบับที่ 4 ตามเอกสารหมาย จ.12ข้อ 19 (2) เป็นข้อบังคับที่ใช้ในการพิจารณาเรื่องการลงโทษทางวินัยของลูกจ้างกล่าวคือถ้าปรากฏว่าลูกจ้างได้กระทำผิดวินัยตามที่ระบุไว้ ก็ถือเป็นเหตุที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 ผู้เป็นนายจ้างจะลงโทษโจทก์ผู้เป็นลูกจ้างได้ แต่คดีนี้เป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ 2 ผู้เป็นนายจ้างว่าเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ.2522 มาตรา 49 ซึ่งบัญญัติว่า 'การพิจารณาคดีในกรณีนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้าง ถ้าศาลแรงงานเห็นว่าการเลิกจ้างลูกจ้างผู้นั้นไม่เป็นธรรมต่อลูกจ้าง ฯลฯ 'ความที่ว่า 'การเลิกจ้างลูกจ้างผู้นั้นไม่เป็นธรรมต่อลูกจ้าง' มีความหมายว่าการที่นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างเป็นการเลิกจ้างโดยไม่มีเหตุที่จะเลิกจ้างได้เลย หรือแม้จะมีเหตุแห่งการเลิกจ้างอยู่บ้างก็เป็นเหตุเพียงเล็กน้อยไม่สมควรถึงกับจะเลิกจ้างลูกจ้าง แต่คดีของโจทก์ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติตามคำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางว่าการปฏิบัติงานของโจทก์ล่าช้า ไม่ติดตามผลงานและผลงานต่ำกว่ามาตรฐานตามที่โจทก์ถูกตักเตือนเป็นหนังสือ การที่จำเลยที่ 1ที่ 2 เลิกจ้างโจทก์จึงเป็นการเลิกจ้างโดยมีเหตุอันสมควร ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าการเลิกจ้างดังกล่าวมิใช่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมจึงชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น โจทก์อุทธรณ์ประการต่อไปว่า การลงโทษถึงขั้นเลิกจ้างเป็นการลงโทษความผิดวินัยตามข้อบังคับฉบับที่ 9 ข้อ 7 ซึ่งจะต้องมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนก่อนการเลิกจ้าง แต่ข้อเท็จจริงในคดีนี้ปรากฏว่ามิได้มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนก่อนเลิกจ้างจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ยังไม่มีสิทธิเลิกจ้างเห็นว่าคดีนี้เป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ.2522 มาตรา 49 ซึ่งการวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวจะต้องพิเคราะห์ถึงเหตุแห่งการเลิกจ้างว่าเป็นอย่างไรมีเหตุอันสมควรที่จะเลิกจ้างได้หรือไม่ โดยมิพักต้องพิจารณาว่าก่อนการเลิกจ้างดังกล่าวได้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นสอบสวนแล้วหรือไม่ การสอบสวนของคณะกรรมการได้กระทำไปโดยชอบหรือไม่ เพราะมิใช่เหตุที่จะทำให้การเลิกจ้างเป็นธรรมหรือไม่ อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น'
พิพากษายืน.