ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สิทธิในการพิสูจน์สัญชาติ: การแสดงตนเป็นคนต่างด้าวตั้งแต่แรกย่อมไม่อาจอ้างสิทธิพิสูจน์สัญชาติภายหลังได้
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่าเป็นคนสัญชาติไทย แต่พี่ชายส่งผู้ร้องไปเรียนหนังสือที่ประเทศจีน ผู้ร้องได้เดินทางกลับเข้ามาในประเทศไทย ต่อมาพนักงานตรวจคนเข้าเมืองได้จับผู้ร้องในข้อหาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยมิได้รับอนุญาต ผู้ร้องอ้างว่าเกิดในประเทศไทย มีสัญชาติเป็นคนไทยขอให้ปล่อยตัวพนักงานตรวจคนเข้าเมืองแจ้งให้ผู้ร้องขอพิสูจน์ให้ศาลสั่งว่าเป็นคนไทยเสียก่อน จึงขอให้ศาลมีคำสั่งว่าผู้ร้องเป็นคนสัญชาติไทยตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2493 มาตรา 43 ได้ความว่าผู้ร้องเข้ามาในราชอาณาจักรไทยตั้งแต่ พ.ศ. 2489 ครั้งยังใช้พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2480 อยู่ ขณะเข้ามาในราชอาณาจักรไทย ผู้ร้องได้แสดงตนเป็นคนต่างด้าวและทำหนังสือสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวไปแล้ว โดยมิได้ขอพิสูจน์ว่าเป็นคนไทยตามมาตรา 28 แต่อย่างใดการมายื่นคำร้องนี้จึงไม่มีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง จะอาศัยอำนาจตามบทกฎหมายดังกล่าวหาได้ไม่ บุคคลใดจะใช้สิทธิทางศาลดังบัญญัติไว้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 นั้น ต้องมีกฎหมายสนับสนุนหรือรับรองให้ใช้สิทธิเช่นนั้นไว้ เมื่อกรณีนี้จะอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมืองไม่ได้แล้วผู้ร้องย่อมยังไม่มีสิทธิจะเสนอคดีต่อศาลเช่นนี้ได้ หากผู้ร้องถือว่าตนถูกโต้แย้งสิทธิ ก็ชอบที่จะฟ้องผู้โต้แย้งสิทธิเป็นคดีต่อศาลได้ (อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 657/2498)