โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 มาตรา 4, 6 (1), 52 วรรคสาม พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 มาตรา 4, 9 วรรคหนึ่งและวรรคสาม, 11 วรรคแรกและวรรคสาม พระราชบัญญัติสถานบริการ พ.ศ.2509 มาตรา 3, 4, 26 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 282
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 มาตรา 6 (2) 52 วรรคสาม (เดิม) พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 มาตรา 9 วรรคสาม, 11 วรรคสาม ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 282 วรรคสาม (เดิม) ประกอบมาตรา 83 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันค้ามนุษย์ จำคุก 8 ปี ฐานร่วมกันเป็นเจ้าของกิจการ ผู้ดูแลหรือผู้จัดการ หรือผู้ควบคุมผู้กระทำการค้าประเวณีซึ่งมีเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีทำการค้าประเวณีอยู่ด้วย จำคุก 10 ปี ฐานร่วมกันเป็นธุระจัดหา ล่อไป ชักพาไปซึ่งบุคคลอายุยังไม่เกินสิบห้าปีเพื่อให้กระทำการค้าประเวณี กับฐานร่วมกันเป็นธุระจัดหา ล่อไป พาไปซึ่งเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีเพื่อสนองความใคร่ของผู้อื่นและเพื่อการอนาจาร เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 มาตรา 9 วรรคสาม ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 10 ปี รวมจำคุก 28 ปี ข้อหาอื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีค้ามนุษย์พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 มาตรา 6 (2) (เดิม), 52 วรรคสอง (เดิม) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ความผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 มาตรา 9 วรรคสอง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 และความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 282 วรรคสอง (เดิม) ประกอบมาตรา 83 เป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันเป็นธุระจัดหาบุคคลอายุกว่าสิบห้าปีแต่ยังไม่เกินสิบแปดปีเพื่อให้กระทำการค้าประเวณีตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 มาตรา 9 วรรคสอง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 6 ปี ยกฟ้องความผิดฐานร่วมกันเป็นผู้ดูแลหรือผู้จัดการกิจการการค้าประเวณีหรือสถานการค้าประเวณี หรือผู้ควบคุมผู้กระทำการค้าประเวณีในสถานการค้าประเวณีตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 มาตรา 11 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ขณะเกิดเหตุผู้เสียหายอายุ 14 ปี 1 เดือน 20 วัน ก่อนเกิดเหตุประมาณ 1 เดือน ผู้เสียหายออกจากบ้านไปพักอาศัยอยู่กับนางสาว พ. ซึ่งทำงานเป็นพนักงานเสิร์ฟที่ร้านอาหารแจ่วฮ้อน ซึ่งเป็นร้านที่เกิดเหตุ มีนาง ท. เป็นผู้ควบคุมดูแลกิจการ ในเดือนมิถุนายน 2555 ก่อนเกิดเหตุไม่นานนาง อ. ขอความช่วยเหลือจากศูนย์ประชาบดี กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ให้ช่วยติดตามนางสาว ร. หลานสาว เนื่องจากเชื่อว่าถูกจำเลยซึ่งเป็นญาติและทำงานเป็นพนักงานเสิร์ฟที่ร้านที่เกิดเหตุล่อลวงไปค้าประเวณีที่ร้านที่เกิดเหตุ ในวันเกิดเหตุศูนย์ประชาบดีโทรศัพท์แจ้งกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ให้ช่วยติดตามนางสาว ร. โดยให้นาง อ. ไปพบพันตำรวจโทมณฑล แล้วจึงวางแผนจับกุมจำเลย โดยนำธนบัตรฉบับละ 500 บาท 3 ฉบับ และฉบับละ 100 บาท 5 ฉบับ ไปลงประจำวันธุรการ จากนั้นพันตำรวจโทมณฑลและสิบตำรวจเอกอาคม พร้อมเจ้าพนักงานตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์อีกหลายคนเดินทางไปยังร้านที่เกิดเหตุโดยมีนาง อ. เป็นผู้นำทาง เมื่อไปถึงร้านที่เกิดเหตุเวลาประมาณ 21 นาฬิกา พันตำรวจโทมณฑลมอบหมายให้สิบตำรวจเอกอาคมและเจ้าพนักงานตำรวจอีก 2 คน เข้าไปในร้านที่เกิดเหตุเพื่อตามหานางสาว ร. โดยมอบธนบัตรเพื่อใช้ล่อซื้อการค้าประเวณีไปด้วย สิบตำรวจเอกอาคมกับพวกสั่งสุรามาดื่มและพูดคุยกับจำเลยได้ความว่านางสาว ร. ทำงานอยู่ในร้านที่เกิดเหตุ แต่วันนั้นไม่ไปทำงานและยังทราบว่าร้านที่เกิดเหตุมีการค้าประเวณีเด็ก จึงล่อซื้อประเวณีจากผู้เสียหายในราคา 1,300 บาท โดยมอบธนบัตรบางส่วนเป็นเงิน 1,300 บาท ให้แก่ผู้เสียหาย ผู้เสียหายมอบธนบัตรนั้นให้แก่จำเลย ซึ่งจำเลยนำไปมอบให้แก่นาง ท. อีกต่อหนึ่ง จากนั้นสิบตำรวจเอกอาคมกับพวกพาผู้เสียหายออกไปจากร้านที่เกิดเหตุ ส่วนพันตำรวจโทมณฑลกับพวกเข้าไปในร้านที่เกิดเหตุแสดงตนเป็นเจ้าพนักงานตำรวจและขอตรวจค้น พบธนบัตรฉบับละ 100 บาท 3 ฉบับ อยู่ในกระเป๋าใส่เงินที่เอวของนาง ท. จึงยึดเป็นของกลาง พันตำรวจโทมณฑลสอบถามที่อยู่ของนางสาว ร. จากจำเลย เมื่อได้ความว่านางสาว ร. พักอยู่ที่บ้านของจำเลยก็ให้จำเลยพาไปที่บ้านและนำนางสาว ร. ไปที่ร้านที่เกิดเหตุ จากนั้นควบคุมตัวจำเลยและนาง ท. พร้อมทั้งนำนางสาว ร. ไปกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์และมอบตัวนางสาว ร. แก่นาง อ. ชั้นสอบสวนพนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาแก่จำเลยและนาง ท. ว่าร่วมกันกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์โดยแสวงหาประโยชน์จากการค้าประเวณี ฐานเป็นธุระจัดหา ล่อไป หรือชักพาไปซึ่งเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีเพื่อการอนาจาร ฐานเป็นเจ้าของกิจการ ผู้ดูแลหรือผู้จัดการหรือผู้ควบคุมผู้กระทำการค้าประเวณี ฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลโดยปราศจากเหตุอันสมควร และฐานร่วมกันตั้งสถานบริการโดยไม่ได้รับอนุญาต จำเลยและนาง ท. ให้การปฏิเสธตามบันทึกคำให้การของผู้ต้องหา พนักงานอัยการฟ้องนาง ท. ต่อศาลชั้นต้นว่าร่วมกับจำเลยกระทำความผิดในข้อหาเช่นเดียวกับคดีนี้นาง ท. ให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่านาง ท. มีความผิดตามฟ้อง ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดรวมจำคุก 28 ปี 6 เดือน ลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 14 ปี 3 เดือน ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นคดีอาญาหมายเลขแดงที่ คม.60/2560 ในสำนวนการสอบสวนที่โจทก์ส่งต่อศาลชั้นต้น สำหรับความผิดของจำเลยที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ในความผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 มาตรา 6 (2) (เดิม), 52 วรรคสอง (เดิม) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 เป็นว่าความผิดดังกล่าวกับความผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 มาตรา 9 วรรคสอง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 และความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 282 วรรคสอง (เดิม) ประกอบมาตรา 83 เป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันเป็นธุระจัดหาบุคคลอายุกว่าสิบห้าปีแต่ยังไม่เกินสิบแปดปีเพื่อให้กระทำการค้าประเวณีตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 มาตรา 9 วรรคสอง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 6 ปี โจทก์และจำเลยมิได้ขออนุญาตฎีกาคดีในความผิดดังกล่าวข้างต้น จึงเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยกระทำความผิดฐานร่วมกันเป็นผู้ดูแลหรือผู้จัดการกิจการการค้าประเวณีหรือสถานการค้าประเวณี หรือผู้ควบคุมผู้กระทำการค้าประเวณีในสถานการค้าประเวณีตามฟ้อง หรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่าจำเลยมีหน้าที่เชียร์แขกและทำหน้าที่เสนอบริการทางเพศเด็กให้แก่แขก ติดต่อแนะนำลูกค้าเกี่ยวกับหญิงค้าประเวณีและเก็บค่าขายบริการทางเพศจากลูกค้า ถือว่าเป็นผู้ดูแลการค้าและเป็นผู้ควบคุมการค้าประเวณีในสถานการค้าประเวณีอันมีลักษณะเป็นปกติธุระอันเป็นความผิดตามฟ้อง ข้อเท็จจริงได้ความจากการไต่สวนผู้เสียหายว่า ในวันเกิดเหตุพยานและนางสาว พ. เข้าไปนั่งร่วมโต๊ะเสิร์ฟสุราและพูดคุยกับสิบตำรวจเอกอาคมกับพวกประมาณครึ่งชั่วโมง จากนั้นสิบตำรวจเอกอาคมกับพวกถามพยานว่ามีเด็กออกงานหรือไม่ แต่พยานไม่เคยขายบริการทางเพศมาก่อนจึงให้ไปถามจำเลย สิบตำรวจเอกอาคมกับพวกจึงเรียกจำเลยมาคุยที่โต๊ะอาหาร จำเลยบอกกับสิบตำรวจเอกอาคมกับพวกว่าออกงานทุกคน และมีการต่อรองราคาค่าค้าประเวณีของพยานระหว่างสิบตำรวจเอกอาคมกับพวกและจำเลย จากนั้นสิบตำรวจเอกอาคมกับพวกจึงถามพยานและนางสาว พ. ว่าจะออกไปกับสิบตำรวจเอกอาคมกับพวกหรือไม่ และผู้เสียหายเบิกความตอบทนายจำเลยขออนุญาตศาลถามว่า พยานไม่ทราบราคาในการออกงานของพนักงานเสิร์ฟคนอื่นๆ โดยก่อนเกิดเหตุพยานทราบเพียงว่าพนักงานเสิร์ฟที่ตกลงขายประเวณีแก่ลูกค้าจะพูดคุยต่อรองราคาค่าค้าประเวณีกับลูกค้าเอง และพนักงานเสิร์ฟต้องจ่ายเงินให้แก่นาง ท. ครั้งละ 200 บาท แต่ไม่ทราบว่าจะจ่ายให้แก่จำเลยด้วยหรือไม่ และเหตุที่พยานให้สิบตำรวจเอกอาคมกับพวกไปถามราคาค่าค้าประเวณีจากจำเลยและแบ่งเงินที่ได้จากการค้าประเวณี 100 บาท ให้แก่จำเลยก็เพราะพยานเป็นเด็กและจำเลยขอเงินดังกล่าว และยังได้ความจากพันตำรวจโทประสิทธิ์ พนักงานสอบสวน ตอบทนายจำเลยว่า จากการสอบสวนไม่ปรากฏว่าจำเลยเป็นเจ้าของกิจการร้านอาหารที่เกิดเหตุและไม่ได้ความว่าจำเลยเป็นผู้ดูแลกิจการร้านแทนนาง ว. ซึ่งเป็นผู้มีชื่อจดทะเบียนขอประกอบการร้านที่เกิดเหตุ จากข้อเท็จจริงที่ได้ความจากผู้เสียหายและพันตำรวจโทประสิทธิ์ ดังกล่าวได้ความเพียงว่า จำเลยเป็นเพียงพนักงานคนหนึ่ง ในร้านที่เกิดเหตุที่ช่วยแนะนำลูกค้าเกี่ยวกับหญิงที่ค้าประเวณีเท่านั้น โดยไม่ได้ดูแลกิจการของร้านที่เกิดเหตุทั้งหมดและไม่มีอำนาจสั่งการหรือกำหนดกฎเกณฑ์ให้หญิงค้าประเวณีปฏิบัติเพื่อกิจการการค้าประเวณี พยานหลักฐานโจทก์ในส่วนนี้จึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟังว่าจำเลยเป็นผู้ดูแลสถานการค้าประเวณีและเป็นผู้ควบคุมผู้กระทำการค้าประเวณีในสถานการค้าประเวณี ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 มาตรา 11 จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานดังกล่าว ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน