โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 177,843 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 171,500 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องว่า จำเลยที่ 1 ว่าจ้างบริษัทรักษาความปลอดภัย จ. ดูแลความปลอดภัยของอาคารชุด ขอให้เรียกบริษัทดังกล่าวเข้ามาเป็นจำเลยร่วมที่ 1 ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยร่วมทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงิน 171,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2561 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ทั้งนี้ ดอกเบี้ยคำนวณถึงวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 13 กันยายน 2561) ต้องไม่เกิน 6,343 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 ที่ 2 ทั้งสองชั้นศาลให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้ฎีกาโต้แย้งกันรับฟังได้เป็นยุติว่า โจทก์เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์ จากนายวีระศักดิ์ มีระยะเวลาคุ้มครอง 1 ปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 30 มกราคม 2560 สิ้นสุดวันที่ 30 มกราคม 2561 โดยมีวงเงินคุ้มครองรถยนต์เสียหาย สูญหาย หรือเพลิงไหม้ 170,000 บาท ต่อครั้ง จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลอาคารชุด มีหน้าที่จัดการและดูแลรักษาทรัพย์ส่วนกลาง จำเลยที่ 2 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัด และเป็นผู้รับประกันภัยอาคารชุดของจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2561 เวลาประมาณ 16 นาฬิกา นายเสริมศักดิ์ ขับรถยนต์ไปจอดที่ลานจอดรถชั้นใต้ดิน P1 ซึ่งเป็นทรัพย์ส่วนกลางของจำเลยที่ 1 ต่อมาวันที่ 15 มกราคม 2561 เวลาประมาณ 15 นาฬิกา เกิดเหตุเพลิงไหม้ภายในห้องพักของพนักงานรักษาความปลอดภัยซึ่งเป็นลูกจ้างจำเลยร่วมที่ 1 ที่อยู่ในบริเวณลานจอดรถดังกล่าว เป็นเหตุให้เพลิงลุกลามไหม้รถยนต์ได้รับความเสียหาย โจทก์ชำระค่าสินไหมทดแทนรถยนต์เป็นเงิน 170,000 บาท ให้แก่ผู้เอาประกันภัย และค่าลากรถไปอู่ซ่อมรถเป็นเงิน 1,500 บาท รวมเป็นเงิน 171,500 บาท ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์เฉพาะในส่วนของจำเลยทั้งสอง คดีในส่วนของจำเลยร่วมทั้งสองจึงเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่จำเลยทั้งสองได้รับอนุญาตให้ฎีกาว่า การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่า จำเลยที่ 1 กระทำละเมิด โดยวินิจฉัยถึงเหตุที่เกิดเพลิงไหม้ว่าเกิดเพราะกระแสไฟฟ้าลัดวงจร และโจทก์ได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 84/1 เป็นคำพิพากษานอกฟ้องนอกประเด็นและขัดต่อพยานหลักฐานหรือไม่ เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่า เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2561 เวลาประมาณ 15 นาฬิกา เกิดเหตุเพลิงไหม้บริเวณลานจอดรถชั้นใต้ดิน P1 อันเกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 กล่าวคือ จำเลยที่ 1 ปล่อยปละละเลยไม่ดำเนินการหรือจัดให้มีการดับเพลิงอย่างทันท่วงทีจนเป็นเหตุให้ไฟลุกลามไปไหม้รถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยเสียหายทั้งคัน คำบรรยายฟ้องเช่นนี้จึงเป็นการแสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหา ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่าจำเลยที่ 1 กระทำละเมิดและให้จำเลยที่ 1 รับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 หาได้บรรยายฟ้องหรือตั้งประเด็นว่า เหตุละเมิดเกิดจากกระแสไฟฟ้าซึ่งเป็นทรัพย์อันตรายลัดวงจร การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าเหตุเกิดจากกระแสไฟฟ้าลัดวงจร และโจทก์ได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐาน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 84/1 แล้วพิพากษาให้จำเลยที่ 1 รับผิดจึงเป็นการนอกฟ้องนอกประเด็น อันเป็นการไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสองฟังขึ้น
อนึ่ง ทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาเป็นเงิน 177,843 บาท ซึ่งต้องเสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาเป็นเงิน 3,556 บาท ซึ่งจำเลยที่ 1 และที่ 2 ต่างยื่นฎีกาแยกกันโดยต่างเสียค่าขึ้นศาล ซึ่งค่าขึ้นศาลดังกล่าวเมื่อรวมแล้วมีจำนวนสูงกว่าที่จำเลยทั้งสองต้องชำระกรณีที่ยื่นฎีการวมกัน เมื่อกรณีแห่งคดีมีลักษณะเป็นคดีที่มีมูลความแห่งคดีอันไม่อาจแบ่งแยกได้ จึงต้องคืนค่าขึ้นศาลส่วนที่เกินมานั้นให้แก่จำเลยทั้งสองตามส่วนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 150 วรรคห้า
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยทั้งสองเสียด้วย ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสองทั้งสามศาลให้เป็นพับ คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาส่วนที่เกินมาแก่จำเลยที่ 1 จำนวน 2,432 บาท และคืนแก่จำเลยที่ 2 จำนวน 1,778 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์