โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันหรือแทนกันดำเนินการให้จำเลยที่ 1 ส่งมอบหุ้นของจำเลยที่ 4 จำนวน 1,260 หุ้น คืนให้แก่โจทก์ และให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันให้จำเลยที่ 4 ดำเนินการเปลี่ยนแปลงบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 4 จัดทำและยื่นบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นใหม่ของจำเลยที่ 4 ต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ถ้าจำเลยทั้งสี่ไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา ให้จำเลยทั้งสี่ยุติการเรียกประชุมผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 4 และยุติการจัดทำและการยื่นคำขอให้โจทก์ออกจากการเป็นกรรมการของจำเลยที่ 4 ถ้าจำเลยทั้งสี่ไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา กับให้จำเลยที่ 2 จัดประชุมคณะกรรมการของจำเลยที่ 4 เพื่อมีมติให้โจทก์เป็นผู้มีอำนาจในการเบิกถอนเงิน และการทำธุรกรรมต่าง ๆ ในบัญชีธนาคารของจำเลยที่ 4 ถ้าไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา
จำเลยทั้งสี่ให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันหรือแทนกันดำเนินการให้จำเลยที่ 1 ส่งมอบหุ้นจำนวน 1,260 หุ้น คืนให้แก่โจทก์เพื่อให้โจทก์เป็นผู้ถือหุ้นจำนวน 6,860 หุ้น ของจำเลยที่ 4 และให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันให้จำเลยที่ 4 ดำเนินการเปลี่ยนแปลงบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 4 และจัดทำและยื่นบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นใหม่ของจำเลยที่ 4 ต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ถ้าจำเลยทั้งสี่ไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสี่ กับให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 20,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยทั้งสี่อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยทั้งสี่ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 4 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการด้านการไฟฟ้า โดยได้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ เดิมมีโจทก์และครอบครัวเป็นผู้ถือหุ้น มีทุนจดทะเบียน 1,000,000 บาท วันที่ 30 เมษายน 2558 โจทก์กับจำเลยที่ 2 ทำสัญญาซื้อขายโครงการผลิตกระแสไฟฟ้าประเภทพลังงานแสงอาทิตย์ขนาดกำลังการผลิตไฟ 8.0 เมกะวัตต์ โดยโจทก์ตกลงขายหุ้นในบริษัทจำเลยที่ 4 ให้แก่จำเลยที่ 2 ในอัตราร้อยละ 51 จากจำนวนหุ้นทั้งหมด เป็นเงิน 30,600,000 บาท และค่าตอบแทนพิเศษอีก 1,000,000 บาท เมื่อหักค่าใช้จ่ายเป็นค่าซื้อที่ดินสำหรับจัดตั้งโครงการ 32,716,600 บาท ซึ่งโจทก์ต้องลงทุนในอัตราร้อยละ 49 เป็นเงิน 16,031,134 บาท และค่าใช้จ่ายในการดำเนินการอีก 5,309,150 บาท แล้ว คงเหลือเงินที่จำเลยที่ 2 ชำระให้แก่โจทก์ 10,259,716 บาท ซึ่งโจทก์ได้รับเงินไปแล้วในวันทำสัญญา ในส่วนโครงสร้างผู้ถือหุ้น โจทก์ตกลงให้จำเลยที่ 2 ใช้บริษัทในเครือและ/หรือบุคคลที่จำเลยที่ 2 กำหนดเป็นผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 4 คือ จำเลยที่ 1 ถือหุ้นในบริษัทจำเลยที่ 4 จำนวนหุ้นร้อยละ 98 และบุคคลที่จำเลยที่ 2 กำหนดอีกร้อยละ 2 โดยให้บริษัท อ. ถือหุ้นในบริษัทจำเลยที่ 1 จำนวนหุ้นร้อยละ 99 และบุคคลที่จำเลยที่ 2 กำหนดอีกร้อยละ 1 ซึ่งจำเลยที่ 2 ตกลงถือหุ้นในบริษัท อ. จำนวนหุ้นร้อยละ 51 ส่วนโจทก์ตกลงถือหุ้นในบริษัท อ. จำนวนหุ้นร้อยละ 49 และโจทก์ตกลงให้กรรมการทั้งหมดยื่นเรื่องลาออกเพื่อเปลี่ยนแปลงกรรมการและอำนาจกรรมการตามที่จำเลยที่ 2 กำหนด วันที่ 22 มิถุนายน 2558 ที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 4 มีโจทก์เป็นประธานในที่ประชุมมีมติให้เปลี่ยนแปลงกรรมการเป็นจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 3 และโจทก์ โดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 มีอำนาจลงลายมือชื่อพร้อมประทับตราสำคัญของบริษัทผูกพันจำเลยที่ 4 ได้ วันที่ 29 มิถุนายน 2558 มีการโอนหุ้นของจำเลยที่ 1 ให้แก่บริษัท พ. ทำให้บริษัท อ. ไม่ได้ถือหุ้นร้อยละ 99 ในบริษัทจำเลยที่ 1 จึงเป็นเหตุให้โจทก์ไม่เป็นผู้ถือหุ้นทางอ้อมจำนวนร้อยละ 49 ในบริษัทจำเลยที่ 4 อีกต่อไป วันที่ 30 มิถุนายน 2558 ที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 4 ครั้งที่ 2/2558 มีมติให้เพิ่มทุนบริษัทจำเลยที่ 4 จำนวน 39,000,000 บาท รวมเป็นเงิน 40,000,000 บาท เพื่อนำเงินที่ได้จากการเพิ่มทุนไปซื้อที่ดินสำหรับก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่จังหวัดราชบุรี วันที่ 24 กรกฎาคม 2558 ที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 4 ครั้งที่ 4/2558 มีมติเพิ่มทุนบริษัทจำเลยที่ 4 จำนวน 100,000,000 บาท รวมเป็นเงิน 140,000,000 บาท เพื่อนำเงินที่ได้จากการเพิ่มทุนมาเป็นค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างโรงไฟฟ้า วันที่ 10 กันยายน 2558 จำเลยที่ 4 ทำสัญญาขอสินเชื่อกับธนาคาร ก. เพื่อก่อสร้างโรงไฟฟ้าวงเงิน 470,000,000 บาท ซึ่งจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 และนางสาวฐณัฐฎา ผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 4 ในขณะนั้นนำหุ้นทั้งหมดของจำเลยที่ 4 จำนำไว้แก่ธนาคาร ก. ต่อมาเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2558 โจทก์กับจำเลยที่ 2 ทำบันทึกข้อตกลงโอนหุ้นในบริษัทจำเลยที่ 4 ร้อยละ 49 ให้แก่โจทก์ และวันที่ 3 ธันวาคม 2558 โจทก์กับจำเลยที่ 2 ทำบันทึกข้อตกลงเพิ่มเติมว่า การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้ถือหุ้นจะดำเนินการได้เมื่อได้รับอนุมัติจากธนาคาร ก. โจทก์จึงมีชื่อเป็นผู้ถือหุ้นจำนวน 6,859 หุ้น ต่อมาโจทก์ตรวจสอบพบว่า การถือหุ้นของโจทก์ในบริษัทจำเลยที่ 4 ได้ถูกโอนไปเป็นของจำเลยที่ 1 โดยโจทก์ไม่ยินยอม วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2560 โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ในข้อหาร่วมกันลงข้อความเท็จในบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 4 เป็นคดีอาญาหมายเลขดำที่ 342/2560 ของศาลอาญา ต่อมาเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2560 โจทก์กับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ทำบันทึกข้อตกลงในคดีอาญาร่วมกัน โดยมีข้อตกลงว่า ข้อ 2 จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ตกลงชำระค่าเสียหายและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ให้แก่โจทก์ 15,000,000 บาท ข้อ 3.1 ให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ดำเนินการส่งมอบใบหุ้นและเปลี่ยนแปลงบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 4 จำนวน 5,599 หุ้น จากหุ้นทั้งหมด 14,000 หุ้น ให้แก่โจทก์และตัวแทนภายใน 30 วัน นับแต่วันทำสัญญานี้ ข้อ 3.2 ให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ดำเนินการส่งมอบใบหุ้นและเปลี่ยนแปลงบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 4 จำนวน 1,260 หุ้น จากจำนวนหุ้นทั้งหมด 14,000 หุ้น ให้แก่โจทก์ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่สถาบันการเงินผู้ให้สินเชื่ออนุมัติหรือให้ความยินยอมการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นอัตราร้อยละ 49 ข้อ 4 ให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ดำเนินการเปลี่ยนแปลงอำนาจกรรมการผู้ลงลายมือชื่อผูกพันจำเลยที่ 4 เป็นจำเลยที่ 2 และโจทก์ลงลายมือชื่อร่วมกันและประทับตราสำคัญของบริษัทภายใน 30 วัน ข้อ 5 โจทก์และจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ไม่ติดใจที่จะดำเนินคดีแพ่งและอาญากับอีกฝ่ายหนึ่งอันเกี่ยวเนื่องกับการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนบริษัทและการโอนหุ้นของจำเลยที่ 4 อีกต่อไป หลังจากทำบันทึกข้อตกลง จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ปฏิบัติตามข้อตกลงด้วยการชำระค่าเสียหาย ส่งมอบใบหุ้นและเปลี่ยนแปลงบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 4 จำนวน 5,599 หุ้น หรือร้อยละ 40 ให้แก่โจทก์แล้ว ต่อมาวันที่ 30 ตุลาคม 2560 โจทก์ได้ถอนฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ในคดีอาญา แต่ในส่วนหุ้นอีก 1,260 หุ้น หรือร้อยละ 9 ตามบันทึกข้อตกลง ข้อ 3.2 ยังไม่มีการโอนให้แก่โจทก์ ทั้งนี้ จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ดำเนินการเปลี่ยนแปลงให้โจทก์เป็นกรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 4 ตามบันทึกข้อตกลง ข้อ 4 แล้ว ต่อมาวันที่ 20 ธันวาคม 2560 ที่ประชุมใหญ่วิสามัญผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 4 มีมติถอดถอนโจทก์ออกจากการเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 4 และแต่งตั้งจำเลยที่ 2 กับนางสาวธิติมา เป็นกรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 4 จึงดำเนินการขอจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงแก้ไขกรรมการ ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำขอของโจทก์ที่ขอให้จำเลยทั้งสี่ยุติการเรียกประชุมผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 4 และยุติการจัดทำและการยื่นคำขอให้โจทก์ออกจากการเป็นกรรมการของจำเลยที่ 4 กับยกคำขอให้จำเลยที่ 2 จัดประชุมคณะกรรมการของจำเลยที่ 4 เพื่อมีมติให้โจทก์เป็นผู้มีอำนาจในการเบิกถอนเงินและทำธุรกรรมต่าง ๆ ในบัญชีธนาคารของจำเลยที่ 4 โจทก์ไม่ฎีกาในส่วนนี้ จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสี่ประการแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 4 หรือไม่ เห็นว่า โจทก์ฟ้องโดยมีคำขอบังคับให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันส่งมอบหุ้น 1,260 หุ้น คืนแก่โจทก์ กับให้ดำเนินการเปลี่ยนแปลงบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น จัดทำและยื่นบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา ดังนั้น การที่จะบังคับตามคำขอของโจทก์ดังกล่าวจึงต้องปฏิบัติตามข้อบังคับของจำเลยที่ 4 และข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องด้วย โดยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1134 บัญญัติให้บริษัทออกใบหุ้นให้แก่ผู้ถือหุ้นเมื่อมีข้อบังคับของบริษัทอนุญาตไว้ มาตรา 1138 บัญญัติให้บริษัทจำกัดต้องมีสมุดจดทะเบียนผู้ถือหุ้นมีรายการตามที่กำหนด และมาตรา 1139 วรรคสอง บัญญัติให้เป็นหน้าที่ของกรรมการที่จะส่งสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ที่ยังคงเป็นผู้ถือหุ้นอยู่ทั้งหมดในเวลาที่ประชุมและรายชื่อผู้ที่ขาดจากเป็นผู้ถือหุ้นนับแต่วันประชุมสามัญครั้งที่แล้วไปยังนายทะเบียนอย่างน้อยปีละครั้ง จากบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวจึงเป็นหน้าที่ของบริษัทจำเลยที่ 4 หรือกรรมการของจำเลยที่ 4 ซึ่งกระทำการในนามบริษัทจำเลยที่ 4 ที่จะต้องออกใบหุ้น และดำเนินการเปลี่ยนแปลงบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นให้แก่โจทก์เพื่อให้การโอนหุ้นตามบันทึกข้อตกลงมีผลสมบูรณ์ ดังนี้ แม้จำเลยที่ 4 มิได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ทำบันทึกข้อตกลงในคดีอาญา โจทก์ก็มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 4 ให้ร่วมดำเนินการตามคำขอของโจทก์ในส่วนนี้ได้ ฎีกาของจำเลยทั้งสี่ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสี่ประการต่อมาว่า จำเลยทั้งสี่ต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์หรือไม่ เห็นว่า บันทึกข้อตกลงทำขึ้นเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2560 โดยข้อ 3.2 ระบุเงื่อนไขการโอนหุ้น 1,260 หุ้น ของจำเลยที่ 1 ซึ่งถืออยู่ในบริษัทจำเลยที่ 4 ให้แก่โจทก์ว่า จะต้องได้รับอนุมัติหรือความยินยอมจากสถาบันการเงินผู้ให้สินเชื่อ ซึ่งหมายถึงธนาคาร ก. เมื่อปรากฏว่าในการพิจารณาคดีอาญาวันที่ 3 ตุลาคม 2560 โจทก์กับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ได้ทำบันทึกข้อตกลงกันเบื้องต้น โดยโจทก์ประสงค์จะนำบันทึกข้อตกลงดังกล่าวไปปรึกษาทนายโจทก์ก่อน หากเห็นพ้องด้วยก็จะถอนฟ้อง ซึ่งในนัดต่อ ๆ มาโจทก์ได้ทำบันทึกข้อตกลงกับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 และถอนฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 โจทก์เป็นกรรมการของจำเลยที่ 4 ในขณะนั้นย่อมทราบและสามารถตรวจสอบเงื่อนไขการขออนุมัติหรือขอความยินยอมในการโอนหุ้นดังกล่าวจากธนาคาร ก. ได้ สอดคล้องกับที่โจทก์เบิกความตอบคำถามค้านทนายจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ว่า โจทก์ทราบเงื่อนไขดังกล่าวแล้วในวันที่มีการทำบันทึกข้อตกลง เมื่อโจทก์ทราบเงื่อนไขดังกล่าวแล้วยังสมัครใจทำบันทึกข้อตกลงดังกล่าว จึงต้องผูกพันตามข้อตกลงดังกล่าว กรณีถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ทำบันทึกข้อตกลงโดยไม่สุจริต ส่วนเหตุที่จำเลยทั้งสี่ไม่อาจโอนหุ้น 1,260 หุ้น ให้แก่โจทก์ นั้น นายคณธี พนักงานของธนาคาร ก. พยานโจทก์เบิกความว่า การทำสัญญาสินเชื่อมีการจำนำหุ้นของจำเลยที่ 4 กับธนาคารทั้งหมดร้อยละ 100 โดยมีเงื่อนไขว่า ห้ามเปลี่ยนแปลงสัดส่วนการผู้ถือหุ้น เว้นแต่ได้รับความยินยอมจากธนาคาร หากมีการเปลี่ยนแปลงกรรมการหรือผู้ถือหุ้นต้องแจ้งให้ธนาคารทราบ และนายคณธีเบิกความตอบคำถามค้านทนายจำเลยที่ 1 อีกว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 มีหนังสือถึงธนาคารขอเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้ถือหุ้นโดยลดสัดส่วนการถือหุ้นคงเหลือร้อยละ 51 ธนาคารมีมติคณะกรรมการว่า ธนาคารยินยอมให้จำเลยที่ 4 เปลี่ยนแปลงโครงสร้างการถือหุ้นของบริษัทจำเลยที่ 4 โดยกำหนดให้จำเลยที่ 1 คงสัดส่วนการถือหุ้นไม่ต่ำกว่าร้อยละ 60 ทั้งนี้บริษัทจำเลยที่ 4 สามารถเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้ถือหุ้นในส่วนที่เหลือร้อยละ 40 โดยขายให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิม กับนายคณธีเบิกความตอบคำถามค้านทนายจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 อีกว่า จำเลยที่ 4 เคยมีหนังสือถึงธนาคารขออนุมัติโอนหุ้นให้แก่โจทก์ร้อยละ 49 แต่ธนาคารอนุมัติให้ร้อยละ 40 โดยให้นำหุ้นที่โอนให้โจทก์ร้อยละ 40 มาจำนำแก่ธนาคารด้วย แต่โจทก์ไม่นำหุ้นดังกล่าวไปจำนำแก่ธนาคาร จึงเป็นเหตุหนึ่งที่คณะกรรมการของธนาคาร ก. ไม่อนุมัติให้โอนหุ้นแก่โจทก์อีกร้อยละ 9 ตามร่างรายงานการประชุม 3 ฝ่าย นายคณธีเป็นเจ้าหน้าที่ธนาคารไม่มีส่วนได้เสียกับฝ่ายใด คำเบิกความของพยานปากนี้จึงมีน้ำหนักให้รับฟัง และเมื่อรับฟังประกอบร่างรายงานการประชุม 3 ฝ่ายระหว่างโจทก์ ฝ่ายจำเลย และธนาคาร ก. เพื่อยุติปัญหาในการบริหารโครงการโรงไฟฟ้าและการผิดสัญญาสินเชื่อว่า ธนาคาร ก. ประสงค์ให้โจทก์ปฏิบัติตามสัญญาสินเชื่อ สัญญาหลักประกันและนำหุ้นในบริษัทจำเลยที่ 4 ทั้งหมดจำนวน 6,859 หุ้น เข้าจำนำแก่ธนาคาร ก. และประสงค์ให้บริษัทจำเลยที่ 4 ปฏิบัติตามสัญญาสินเชื่อและสัญญาหลักประกันที่ทำไว้กับธนาคาร ก. ให้ถูกต้องเนื่องจากธนาคาร ก. ไม่รับรู้รับทราบถึงข้อตกลงที่เกิดขึ้นระหว่างผู้ถือหุ้นในภายหลังการเข้าทำสัญญากับธนาคารสินเชื่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งธนาคาร ก. ได้ออกเงินทุนในสัดส่วนร้อยละ 75 ของค่าใช้จ่ายสำหรับโครงการทั้งหมดซึ่งที่ประชุมมีแนวทางแก้ปัญหาว่า ธนาคาร ก. จะเสนอคณะกรรมการของธนาคาร ก. เพื่อขออนุมัติให้จำเลยที่ 4 โอนหุ้นที่เหลืออีกร้อยละ 9 หรือจำนวน 1,260 หุ้น ให้แก่โจทก์ โดยหลังจากที่ธนาคาร ก. อนุมัติการโอน โจทก์ตกลงนำหุ้นของจำเลยที่ 4 ที่อยู่ในความครอบครองทั้งหมดรวมถึงหุ้นที่ได้รับอนุมัติการโอนเพิ่มเติมไปจำนำไว้แก่ธนาคาร ก. โดยเร็วที่สุด แสดงให้เห็นว่า ก่อนการประชุมดังกล่าวธนาคาร ก. รับทราบเงื่อนไขและปัญหาการโอนหุ้นของจำเลยที่ 4 จำนวน 1,260 หุ้น แล้ว จึงเป็นเหตุให้ธนาคารต้องจัดการประชุมแก้ไขปัญหาดังกล่าวเพื่อมิให้มีการผิดสัญญาสินเชื่อ จึงเชื่อว่าฝ่ายจำเลยได้แจ้งให้ธนาคาร ก. พิจารณาเรื่องการโอนหุ้น 1,260 หุ้น ให้แก่โจทก์ตามบันทึกข้อตกลงแล้ว แต่ธนาคาร ก. ไม่อนุมัติเนื่องจากโจทก์ไม่จำนำหุ้นที่ได้รับโอนทั้งหมด 5,599 หุ้น ไว้แก่ธนาคารตามเงื่อนไขในสัญญาสินเชื่อ ซึ่งโจทก์ก็เบิกความตอบคำถามค้านทนายจำเลยที่ 1 รับว่า โจทก์ไม่ได้จำนำหุ้นแก่ธนาคาร ก. ตามที่ตกลงกันในการประชุม 3 ฝ่าย ดังนั้น การที่จำเลยทั้งสี่ไม่สามารถโอนหุ้น 1,260 หุ้น ให้แก่โจทก์ ตามบันทึกข้อตกลง ข้อ 3.2 เนื่องจากธนาคาร ก. ไม่อนุมัติให้โอนหุ้นดังกล่าวตามเงื่อนไขในสัญญาสินเชื่อ จึงไม่ใช่ความผิดของจำเลยทั้งสี่ ทั้งมิใช่กรณีที่จำเลยทั้งสี่ขัดขวางไม่ให้เงื่อนไขตามบันทึกข้อตกลงสำเร็จ พยานหลักฐานของจำเลยทั้งสี่ที่นำสืบมามีน้ำหนักมากกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ ข้อเท็จจริงรับฟังไม่ได้ว่า จำเลยทั้งสี่ผิดบันทึกข้อตกลง จำเลยทั้งสี่จึงไม่ต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยทั้งสี่ไม่ส่งเอกสารคำฟ้องและบันทึกข้อตกลงให้แก่ธนาคาร ก. ทราบเพื่อมิให้ธนาคาร ก. อนุมัติการโอนหุ้นเป็นการขัดขวางไม่ให้เงื่อนไขตามบันทึกข้อตกลงดังกล่าวสำเร็จลงเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต จำเลยทั้งสี่จึงต้องส่งมอบหุ้น 1,260 หุ้น ให้แก่โจทก์ นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสี่ข้อนี้ฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ