คดีทั้งเจ็ดสำนวนนี้ศาลชั้นต้นสั่งรวมพิจารณาและพิพากษาเข้าด้วยกัน โจทก์ฟ้องทั้งเจ็ดสำนวนมีใจความว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดิน 1 แปลง โดยซื้อจากผู้มีชื่อและครอบครองโดยสงบเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของเกินกว่า 10 ปีแล้ว ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2521โจทก์ได้ร้องขอออกโฉนดที่ดินแปลงดังกล่าว เมื่อประมาณ 9 หรือ 10 ปีก่อนฟ้อง จำเลยทั้งเจ็ดได้ขออาศัยที่ดินดังกล่าวบางส่วนทางด้านทิศตะวันออกปลูกบ้านอาศัยอยู่โดยไม่มีกำหนดเวลา ต่อมาโจทก์ต้องการใช้ที่ดินเพื่อทำกิจการของโจทก์ จึงบอกกล่าวให้จำเลยทั้งเจ็ดรื้อถอนออกไป แต่จำเลยทั้งเจ็ดไม่ปฏิบัติ ขอให้พิพากษาขับไล่จำเลยทั้งเจ็ดและให้รื้อถอนบ้านที่จำเลยทั้งเจ็ดปลูกอยู่กับขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่ดินของโจทก์
จำเลยทั้งเจ็ดให้การในทำนองเดียวกันว่า ที่พิพาทมิใช่เป็นของโจทก์ โจทก์ไม่เคยเข้ายึดถือครอบครองที่พิพาท และจำเลยทั้งเจ็ดไม่ได้ขออาศัยที่ดินของโจทก์อยู่ที่พิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน จำเลยทั้งเจ็ดได้เข้าครอบครองที่พิพาทโดยการปลูกบ้านอยู่อาศัยเป็นเวลาติดต่อกัน 10 ปีเศษแล้วเมื่อโจทก์ไม่มีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิใด ๆ ในที่พิพาท โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ยกฟ้อง
ก่อนสืบพยานโจทก์ นางสายหยุด แก้วผึ้ง ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นจำเลยร่วมกับจำเลยที่ 7
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า ที่พิพาทเป็นลำลางสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภททรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันโจทก์ไม่ได้กรรมสิทธิ์ เพราะโจทก์ไม่เคยเข้าครอบครองที่พิพาทจึงไม่มีอำนาจฟ้อง พิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งเจ็ดสำนวนอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ทั้งเจ็ดสำนวนฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "โจทก์ทั้งเจ็ดสำนวนฟ้องว่า ที่พิพาทเป็นของโจทก์ทั้งเจ็ดให้จำเลยทั้งเจ็ดอาศัยโดยไม่มีกำหนดเวลา โจทก์ทั้งเจ็ดต้องการใช้ที่พิพาท จึงฟ้องขับไล่จำเลยทั้งเจ็ดให้รื้อบ้านออกจากที่พิพาท จำเลยทั้งเจ็ดให้การว่า ที่พิพาทเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน โจทก์ทั้งเจ็ดไม่มีอำนาจฟ้อง จึงเป็นกรณีโจทก์ทั้งเจ็ดฟ้องขับไล่จำเลยทั้งเจ็ดให้ออกจากอสังหาริมทรัพย์เมื่อจำเลยทั้งเจ็ดไม่ได้กล่าวอ้างว่าที่พิพาทเป็นของจำเลยทั้งเจ็ดจึงไม่เป็นการกล่าวแก้ข้อพิพาทด้วยกรรมสิทธิ์ แม้ว่านางสายหยุดแก้วผึ้ง จำเลยร่วมในสำนวนที่เจ็ดจะได้ยื่นคำร้องสอดขอเข้าเป็นจำเลยร่วมในสำนวนดังกล่าว โดยอ้างว่าที่พิพาทเป็นของจำเลยร่วมกับนายแก้วสามีก็ตาม แต่จำเลยร่วมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(2) ซึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 58 วรรคสอง บัญญัติว่า"ห้ามมิให้ผู้ร้องสอดที่ได้เป็นคู่ความตามอนุมาตรา (2) แห่งมาตราก่อน ใช้สิทธิอย่างอื่นนอกจากสิทธิที่มีอยู่แก่คู่ความฝ่ายซึ่งตนเข้าเป็นโจทก์ร่วมหรือจำเลยร่วมในชั้นพิจารณาเมื่อตนร้องสอดและห้ามมิให้ใช้สิทธิเช่นว่านั้นในทางที่ขัดกับสิทธิของโจทก์หรือจำเลยเดิม" ดังนั้นจำเลยร่วมจึงต่อสู้คดีด้วยข้อต่อสู้ของจำเลยเดิมคือ ต่อสู้ว่าที่พิพาทไม่ใช่ที่ดินของโจทก์แต่เป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน จึงต่อสู้โดยมิได้กล่าวแก้เป็นข้อพิพาทด้วยกรรมสิทธิ์แม้ข้อเท็จจริงตามสำนวนไม่ปรากฏว่าที่พิพาทอาจให้เช่าในขณะยื่นคำฟ้องเกินเดือนละ 5,000 บาทหรือไม่แต่ที่พิพาทมิได้ตั้งอยู่ในทำเลการค้าอันจะทำให้ค่าเช่าที่ดินสูงเป็นพิเศษและจำเลยทั้งเจ็ดใช้ที่พิพาทปลูกบ้านอยู่อาศัยแต่ละแปลงมีเนื้อที่เพียงเล็กน้อยเห็นได้ว่าที่พิพาทแต่ละแปลงอาจให้เช่าในขณะยื่นคำฟ้องได้ไม่เกินเดือนละ 5,000 บาท เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นคดีจึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคสอง โจทก์ทั้งเจ็ดฎีกาว่า มีอำนาจฟ้องเพราะที่พิพาทเป็นของโจทก์ทั้งเจ็ดจึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามฎีกาตามบทกฎหมายดังกล่าวศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของโจทก์ทั้งเจ็ดไว้ จึงไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
พิพากษายกฎีกาโจทก์ทั้งเจ็ด คืนค่าธรรมเนียมศาลชั้นฎีกาทั้งหมดแก่โจทก์ทั้งเจ็ดสำนวน ส่วนค่าทนายความให้เป็นพับ".