โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 334, 335, 357, 83 ริบของกลาง และให้จำเลยคืนเงินจำนวน 7,000 บาท ที่ยังไม่ได้คืนให้แก่ผู้เสียหายด้วย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (1) (3) (7) (8) วรรคสอง ประกอบมาตรา 336 ทวิ, 83 ลงโทษจำคุก 6 ปี คำให้การของจำเลยในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 4 ปี ริบของกลาง ให้จำเลยคืนเงินสดจำนวน 7,000 บาท แก่ผู้เสียหายด้วย ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (1) (3) (7) (8) วรรคสอง, 83 ลงโทษจำคุก 4 ปี ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุก 2 ปี 8 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "เห็นว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 336 ทวิ เป็นบทบัญญัติถึงเหตุที่จะทำให้ผู้กระทำความผิดตามมาตรา 335 ต้องระวางโทษหนักกว่าที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้นๆ กึ่งหนึ่ง หาใช่เป็นความผิดอีกบทหนึ่งต่างหากไม่ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 แก้ไขคำพิพากษาศาลชั้นต้นโดยไม่ได้ใช้อัตราโทษตามที่มาตรา 336 ทวิ กำหนดไว้ แต่ยังคงพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (1) (3) (7) (8) วรรคสอง ตามที่ศาลชั้นต้นยกขึ้นปรับบท จึงเป็นเพียงการแก้ไขเล็กน้อย และให้ลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกินห้าปี จำเลยจึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ศาลอุทธรณ์ภาค 9 วินิจฉัยพยานหลักฐานของโจทก์แล้วฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยร่วมกับพวกเข้าไปลักทรัพย์ในบ้านผู้เสียหายในเวลากลางคืน ต่อมาถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมพร้อมของกลาง ที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ไม่มีประจักษ์พยานรู้เห็นเหตุการณ์ขณะที่คนร้ายเข้าไปลักทรัพย์ของผู้เสียหายมาสืบ คงมีแต่ดาบตำรวจมานิต เต็มนิล ผู้ตรวจค้นจับกุมจำเลยกับพวกเป็นพยานแวดล้อมและมีคำให้การรับสารภาพของจำเลยในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนซึ่งเป็นพยานบอกเล่าเท่านั้น พยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบมาไม่พอฟังลงโทษจำเลยนั้นเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 9 อันเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง และที่จำเลยฎีกาเพิ่มเติมขอให้ลงโทษจำเลยในสถานเบาโดยรอการลงโทษและคุมความประพฤติไว้ ก็เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการกำหนดโทษของศาลอุทธรณ์ภาค 9 อันเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงเช่นกัน จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทบัญญัติดังกล่าวข้างต้น จำเลยฎีกาพร้อมกับคำร้องขออนุญาตฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ซึ่งแม้คำร้องของจำเลยดังกล่าวใช้คำว่าขอให้ "ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์" อนุญาตให้ฎีกาโดยมิได้ระบุชื่อผู้พิพากษา แต่พอถือได้ว่าจำเลยประสงค์ให้ผู้พิพากษาซึ่งลงลายมือชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 9 เป็นผู้พิจารณาอนุญาตให้จำเลยฎีกานั่นเอง แต่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งคำร้องขออนุญาตฎีกาของจำเลยว่า กรณีคดีไม่ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ให้ยกคำร้องและมีคำสั่งรับฎีกาของจำเลยนั้น จึงเป็นการสั่งโดยผิดหลงและเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบ ถือว่าไม่ได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามบทบัญญัติว่าด้วยการพิจารณาคดี ศาลฎีกามีอำนาจที่จะหยิบยกขึ้นวินิจฉัยโดยให้เพิกถอนคำสั่งและการดำเนินการดังกล่าวของศาลชั้นต้นที่ไม่ชอบเสียได้ และสั่งให้ศาลชั้นต้นดำเนินการให้ถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 208 (2) ประกอบด้วยมาตรา 225"
พิพากษาเพิกถอนคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้รับฎีกาของจำเลยและที่ให้ยกคำร้องขออนุญาตฎีกาของจำเลย ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการให้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิจารณาคำร้องของจำเลยฉบับลงวันที่ 28 ตุลาคม 2547 ว่าสมควรอนุญาตให้จำเลยฎีกาหรือไม่ แล้วให้ศาลชั้นต้นพิจารณาสั่งฎีกาของจำเลยตามรูปคดีต่อไป