โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ที่ 2 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 2,268,039 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงิน 2,161,540 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์กับให้จำเลยที่ 3 ชำระเงินจำนวน520,730 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงิน 474,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2ได้ทำสัญญารับเหมาก่อสร้างดาดคอนกรีตคลองส่งน้ำ โดยมีจำเลยที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกันการผิดสัญญาของจำเลยที่ 1ต่อโจทก์ดังฟ้องจริง จำเลยที่ 1 ได้ก่อสร้างได้งานคิดมูลค่าเป็นเงิน 3,034,540 บาท ได้ส่งมอบงานแก่โจทก์แล้วรวม 2 งวดและโจทก์ได้จ่ายค่าจ้างแล้ว เป็นเงิน 1,301,976 บาท คงค้างรับเป็นเงิน 1,732,564 บาท แต่เมื่อคิดหักจากผลงานที่เสียหายเนื่องจากน้ำท่วมเป็นเงิน 188,000 บาท แล้วคงเหลืองานที่โจทก์ยังไม่ได้ตรวจรับเป็นเงิน 1,544,564 บาท เท่าจำนวนที่โจทก์ระบุในคำฟ้อง จำเลยที่ 1 มิได้ปฏิบัติตามสัญญาตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม 2523 จนสิ้นสุดสัญญา เนื่องจากได้เกิดอุทกภัยน้ำท่วมในบริเวณที่ก่อสร้าง ทำให้จำเลยที่ 1 ไม่อาจปฏิบัติงานตามสัญญาได้อันเป็นเหตุสุดวิสัย เป็นพฤติการณ์ที่เกิดขึ้นภายหลังที่ได้ก่อหนี้ ซึ่งจำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดชอบและฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 3 ได้ทำสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ดังฟ้องจริง การที่จำเลยที่ 1 ทำการก่อสร้างไม่เสร็จภายในกำหนดตามสัญญาเพราะโจทก์เป็นผู้สั่งระงับการก่อสร้างเนื่องจากเหตุอื่นอันไม่ได้กำหนดไว้ในสัญญาจำเลยที่ 1 ได้บอกเลิกสัญญาแก่โจทก์แล้ว สัญญาค้ำประกันจึงเป็นอันเลิกกัน โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 3 และโจทก์ได้ใช้สิทธิหักกลบลบหนี้ในเงินค่าก่อสร้างที่โจทก์ค้างชำระจำเลยที่ 1 กับเงินค้ำประกันจำนวน 474,000 บาทแล้ว ไม่มีหนี้ที่จำเลยที่ 1 จะต้องชำระอีก โจทก์ไม่ได้จ้างนางจริยา จันทวาราทำงานส่วนที่เหลือจากที่จำเลยที่ 1 ทำไปแล้วเป็นเงิน 2,990,000บาท หรือจ้างเหมาผู้ใดทำการก่อสร้างต่อแต่อย่างใด โจทก์จึงไม่เสียหาย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 474,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 19 กันยายน 2524 เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะชำระเสร็จแก่โจทก์
โจทก์และจำเลยที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2ร่วมกันชำระค่าปรับให้โจทก์เป็นเงิน 532,500 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 19 กันยายน 2524เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จในจำนวนเงินดังกล่าว ให้จำเลยที่ 3ร่วมรับผิดชำระเป็นเงิน 474,000 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2525 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยดังกล่าวคิดถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 46,730 บาท ตามที่โจทก์ขอ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัย
โจทก์ฎีกาข้อแรกว่า ศาลอุทธรณ์ต้องวินิจฉัยให้จำเลยที่ 1ที่ 2 ร่วมรับผิดในค่าปรับซึ่งเป็นสิทธิของโจทก์ก่อนบอกเลิกสัญญาเต็มจำนวนตามเงื่อนไขในสัญญาจ้างเหมาเอกสารหมาย จ.2ข้อ 19(1) จะนำสิทธิริบผลงานที่จำเลยที่ 1 ได้ทำไปแล้วตามสัญญาข้อ 21 อันเป็นสิทธิของโจทก์หลังจากโจทก์บอกเลิกสัญญามาเป็นข้อวินิจฉัยลดค่าปรับไม่ได้นั้น เห็นว่าค่าปรับที่โจทก์และจำเลยที่ 1 ตกลงกำหนดกันไว้นั้น ถือได้ว่าเป็นเบี้ยปรับเพื่อการที่จะชดใช้หรือบรรเทาความเสียหายอันอาจจะมีหรือเกิดขึ้นไว้ล่วงหน้าถ้าเบี้ยปรับนั้นสูงเกินส่วน ศาลจะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรก็ได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 383 และข้อตกลงให้โจทก์ริบเอาผลงานที่จำเลยที่ 1ได้ทำไปแล้ว โดยจำเลยที่ 1 จะเรียกร้องค่าตอบแทนและค่าเสียหายใด ๆ ไม่ได้ ก็เป็นข้อตกลงที่มีลักษณะเป็นการที่จำเลยที่ 1 ให้สัญญาว่าจะทำการชำระหนี้อย่างอื่นที่มิใช่จำนวนเงินให้เป็นเบี้ยปรับแก่โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 382 ถ้าเบี้ยปรับนั้นสูงเกินส่วน ศาลมีอำนาจลดลงให้เหลือเป็นจำนวนพอสมควรตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 383 เช่นกัน แม้สิทธิริบผลงานที่จำเลยที่ 1 ทำไปแล้วเป็นสิทธิของโจทก์ หลังจากโจทก์บอกเลิกสัญญา แต่เมื่อถือว่าเป็นเบี้ยปรับเช่นเดียวกับค่าปรับ ศาลจึงนำมาเป็นข้อวินิจฉัยลดค่าปรับได้ หากเห็นว่าโจทก์จะได้รับเบี้ยปรับสูงเกินส่วนซึ่งข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 15438/2525 ที่คู่ความรับกันนั้น จำเลยที่ 1 มีผลงานที่ยังไม่ส่งมอบอีกเป็นมูลค่า 1,544,564 บาท ซึ่งตกเป็นกรรมสิทธิ์แก่โจทก์โดยไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ชำระค่าจ้างในส่วนนี้ และศาลฎีกาได้ลดเบี้ยปรับในคดีดังกล่าวให้จำเลยที่ 1จำนวน 500,000 บาท โจทก์ได้รับผลงานมูลค่า 1,044,564 บาทจากจำเลยที่ 1 มาแล้วโดยไม่ต้องจ่ายค่าจ้าง ดังนั้น การที่ศาลอุทธรณ์ใช้ดุลพินิจลดค่าปรับรายวันตามสัญญาข้อ 19(1)ลงเหลือวันละ 2,500 บาท ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 383 โดยเมื่อคำนวณจากวันที่ล่วงเลยวันครบกำหนดตามสัญญาจนถึงวันบอกเลิกสัญญาเป็นเวลา 213 วัน เป็นเงินค่าปรับจำนวน 532,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าชอบด้วยเหตุผลและประโยชน์ได้เสียของโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้แล้ว ไม่มีเหตุจะต้องแก้ไข
โจทก์ฎีกาต่อไปว่า โจทก์มีสิทธิเรียกร้องค่าจ้างที่แพงเพิ่มขึ้นจากการจ้างบุคคลอื่นทำการก่อสร้างงานแทนจำเลยที่ 1 แม้บุคคลอื่นจะทำการก่อสร้างงานแล้วเสร็จหรือไม่ก็ตาม เห็นว่า ตามสัญญาข้อ 5 ข้อ 6 มีสาระสำคัญว่าถ้าจำเลยที่ 1 ทำผิดสัญญาข้อหนึ่งข้อใด โจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญานี้ได้ และมีอำนาจจ้างผู้อื่นทำงานต่อจากจำเลยที่ 1 ได้ด้วยโดยจำเลยที่ 1 ยอมจ่ายเงินค่าจ้าง ฯลฯ และค่าใช้จ่ายอื่นใดตามจำนวนที่โจทก์ต้องเสียไปโดยสิ้นเชิง นอกจากนี้ตามสัญญาข้อ 20(4) กำหนดไว้ว่า ถ้าผู้ว่าจ้างบอกเลิกสัญญาแล้วผู้รับจ้างยอมให้เรียกค่าเสียหายอันพึงมีได้อีกด้วย เห็นว่าแม้ข้อเท็จจริงยังไม่ปรากฏว่าผู้รับจ้างรายใหม่ หลังจากโจทก์บอกเลิกสัญญาได้ทำการก่อสร้างงานตามสัญญาต่อจากจำเลยที่ 1จนงานแล้วเสร็จบริบูรณ์หรือไม่ แต่ตามข้อความในสัญญาจ้างเหมาเอกสารหมาย จ.2 ข้อ 5 ข้อ 6 และข้อ 20(2)(4) นั้นเองเห็นเจตนารมณ์ได้ว่า ถ้าหากจำเลยที่ 1 ผิดสัญญา โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะจ้างบุคคลอื่นทำการก่อสร้างงานแทนจำเลยที่ 1โดยจำเลยที่ 1 ต้องเสียค่าใช้จ่าย และโจทก์มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากการที่ต้องเสียค่าจ้างแพงกว่าเดิมโดยมิพักต้องรอให้งานก่อสร้างที่กระทำภายหลังต้องสำเร็จเสียก่อน เพราะเป็นที่เห็นได้ชัดว่าเป็นความเสียหายอันเกิดจากการผิดสัญญาของจำเลยที่ 1 เมื่อพิเคราะห์สำเนาหนังสือของโจทก์ที่ กษ 1101/8815 ลงวันที่ 2 สิงหาคม 2526 แสดงว่าภายหลังโจทก์บอกเลิกสัญญากับจำเลยที่ 1 โจทก์ได้ทำสัญญาจ้างนางจริยาก่อสร้างงานส่วนที่เหลือในอัตราค่าจ้าง 2,990,000 บาทซึ่งสูงกว่าราคางานที่จำเลยที่ 1 ก่อสร้างค้างอยู่1,893,460 บาท เป็นจำนวน 1,096,540 บาท แม้ไม่ปรากฏว่านางจริยาได้ลงมือก่อสร้างงานไปแล้วเพียงใด แต่เมื่อคำนึงถึงความเป็นไปของเศรษฐกิจ โจทก์ต้องได้รับความเสียหายอันควรได้รับชดใช้จากจำเลยที่ 1 รวมทั้งจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ ซึ่งตามพฤติการณ์ศาลฎีกาสมควรกำหนดค่าเสียหายให้โจทก์ได้รับชดใช้ในส่วนนี้จำนวน 500,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่19 กันยายน 2524
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ร่วมกันชำระค่าเสียหายเพิ่มเติมจากการผิดสัญญาเป็นเงิน 500,000 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 19กันยายน 2524 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์