โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 2,880,263.94 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 2,630,049 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 2 ให้การและฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องและบังคับโจทก์ชำระเงิน 729,951 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องแย้งเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลยที่ 2
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 2,880,263.94 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 2,630,049 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2563) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 20,000 บาท ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีให้เป็นพับ ให้ยกฟ้องแย้งของจำเลยที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนฟ้องแย้งให้เป็นพับ
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 330,049 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2561 เป็นต้นไปจนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และอัตราร้อยละ 5 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยผิดนัดนับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปนั้น ถ้ากระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนอัตราโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาเมื่อใด ก็ให้ปรับเปลี่ยนไปตามนั้น แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามคำขอของโจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกาให้ใน 2 ประเด็น
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2560 จำเลยทั้งสองทำสัญญาว่าจ้างโจทก์ให้เป็นทนายความดำเนินคดีเรื่องที่ดินที่จำเลยทั้งสองมีข้อพิพาทกับทายาทอื่น โดยตกลงค่าจ้างเป็นค่าว่าความ ค่าวิชาชีพทนายความ และค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีรวมเป็นเงิน 3,000,000 บาท แบ่งชำระเป็น 3 งวด สัญญาข้อ 2.1 ระบุว่า งวดที่ 1 ชำระ 1,000,000 บาท เมื่อตกลงทำสัญญาจ้างว่าความให้ดำเนินคดี ข้อ 2.2 ระบุว่า งวดที่ 2 ชำระ 1,000,000 บาท เมื่อสืบพยานโจทก์จำเลยแล้วเสร็จ และข้อ 2.3 ระบุว่า งวดสุดท้ายชำระ 1,000,000 บาท ก่อนนัดฟังคำพิพากษาศาลชั้นต้น 15 วัน โจทก์ดำเนินการฟ้องร้องและดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลจังหวัดชุมพรให้แก่จำเลยทั้งสองรวม 3 คดี คือ คดีแพ่งหมายเลขดำที่ 278/2560 คดีแพ่งหมายเลขดำที่ 422/2560 และคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 423/2560 โดยในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 422/2560 โจทก์และจำเลยได้ทำการสืบพยานกันเสร็จสิ้นในวันที่ 11 พฤษภาคม 2561 และศาลได้นัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 15 มิถุนายน 2561 ส่วนคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 278/2560 และคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 423/2560 อยู่ระหว่างนัดสืบพยานโจทก์และพยานจำเลย ต่อมาวันที่ 22 พฤษภาคม 2561 คู่ความในคดีทั้งสามสามารถตกลงกันได้ โดยคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 278/2560 และคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 423/2560 คู่ความตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความและศาลมีคำพิพากษาตามยอม ส่วนคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 422/2560 จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นโจทก์ในคดีดังกล่าวได้ยื่นคำร้องขอถอนฟ้อง ศาลมีคำสั่งอนุญาตและให้จำหน่ายคดีจากสารบบความ
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อแรกมีว่า ฟ้องโจทก์ตามสัญญาจ้างว่าความ ข้อ 2.1 ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า โจทก์กับจำเลยทั้งสองตกลงว่าจ้างกันในราคา 3,000,000 บาท แบ่งชำระเป็น 3 งวด สัญญาข้อ 2.1 ระบุว่า งวดที่ 1 ชำระ 1,000,000 บาท เมื่อตกลงทำสัญญาจ้างว่าความให้ดำเนินคดี ข้อ 2.2 ระบุว่า งวดที่ 2 ชำระ 1,000,000 บาท เมื่อสืบพยานโจทก์จำเลยแล้วเสร็จ และข้อ 2.3 ระบุว่า งวดสุดท้ายชำระ 1,000,000 บาท ก่อนนัดฟังคำพิพากษาศาลชั้นต้น 15 วัน ทางพิจารณาได้ความว่าจำเลยที่ 2 ชำระเงินให้โจทก์มาแล้ว 9 ครั้ง รวมเป็นเงิน 369,951 บาท โดยชำระครั้งสุดท้ายในวันที่ 7 พฤษภาคม 2561 การชำระเงินแต่ละครั้งจำเลยที่ 2 มิได้ระบุว่าชำระหนี้ในงวดใด เมื่อปรากฏว่า ณ วันที่ 7 พฤษภาคม 2561 มีเฉพาะหนี้งวดที่ 1 ตามสัญญาข้อ 2.1 เท่านั้นที่ถึงกำหนดชำระ ส่วนหนี้งวดที่ 2 และงวดที่ 3 ยังไม่ถึงกำหนดชำระเนื่องจากทั้งสามคดียังสืบพยานโจทก์จำเลยไม่แล้วเสร็จและยังไม่มีคดีใดนัดฟังคำพิพากษา จึงต้องถือว่าเงินที่จำเลยที่ 2 ชำระให้แก่โจทก์ทั้ง 9 ครั้ง เป็นการชำระหนี้ในงวดที่ 1 ซึ่งถึงกำหนดชำระแล้ว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 328 วรรคสอง มีผลทำให้อายุความในหนี้ค่าจ้างว่าความงวดที่ 1 สะดุดหยุดลงตามมาตรา 193/14 (1) และต้องเริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่วันที่ 7 พฤษภาคม 2561 ตามมาตรา 193/15 วรรคสอง คำฟ้องโจทก์เป็นกรณีทนายความฟ้องเรียกเอาค่าการงานที่ทำให้ มีอายุความ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (16) เมื่อโจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้ในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2563 ยังไม่เกิน 2 ปี นับแต่วันที่จำเลยที่ 2 ชำระหนี้ครั้งสุดท้าย ฟ้องโจทก์ตามสัญญาจ้างว่าความข้อ 2.1 ในส่วนของจำเลยที่ 2 จึงยังไม่ขาดอายุความ อย่างไรก็ตามจำเลยทั้งสองเป็นลูกหนี้ร่วม มูลความแห่งคดีเป็นการชำระหนี้ซึ่งแบ่งแยกจากกันมิได้ การที่จำเลยที่ 2 ยกอายุความขึ้นต่อสู้ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้ยกอายุความขึ้นต่อสู้แล้วเช่นกัน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 59 (1) และข้อความจริงใดเมื่อเป็นเรื่องท้าวถึงตัวลูกหนี้ร่วมกันคนใดย่อมเป็นไปเพื่อคุณและโทษเฉพาะแต่ลูกหนี้คนนั้นเท่านั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 295 การที่จำเลยที่ 2 เพียงคนเดียวชำระหนี้ให้แก่โจทก์ อายุความจึงสะดุดหยุดลงเฉพาะแก่จำเลยที่ 2 หามีผลถึงจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ร่วมไม่ หนี้ค่าว่าความงวดที่ 1 ในส่วนของจำเลยที่ 1 จึงต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 11 กันยายน 2560 ซึ่งเป็นเวลาขณะที่โจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไปตามมาตรา 193/12 เมื่อนับถึงวันที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้ในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2563 เป็นระยะเวลาเกินกว่า 2 ปี ฟ้องโจทก์ตามสัญญาจ้างว่าความข้อ 2.1 ในส่วนของจำเลยที่ 1 จึงขาดอายุความ ฎีกาของโจทก์ประเด็นนี้ฟังขึ้นบางส่วน
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อที่สองมีว่า โจทก์ควรได้รับค่าจ้างว่าความเท่าใด เห็นว่า สัญญาจ้างว่าความเป็นสัญญาจ้างทำของตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 587 จึงถือเอาผลสำเร็จแห่งการงานที่จ้างเป็นสำคัญ และการจ่ายสินจ้างต้องถือเอาความสำเร็จของผลงานหรือตามที่ตกลงกันไว้ ดังนั้น คู่สัญญาอาจจะตกลงเงื่อนไข เงื่อนเวลา หรือขั้นตอนในการชำระหนี้กันอย่างไรก็ได้ การที่โจทก์กับจำเลยทั้งสองตกลงเงื่อนไขการชำระเงินค่าจ้างว่าความกันไว้โดยแบ่งชำระเป็น 3 งวด งวดที่ 1 จำนวน 1,000,000 บาท เมื่อตกลงทำสัญญาจ้างว่าความให้ดำเนินคดี งวดที่ 2 จำนวน 1,000,000 บาท เมื่อสืบพยานโจทก์จำเลยแล้วเสร็จ และงวดสุดท้ายจำนวน 1,000,000 บาท ก่อนนัดฟังคำพิพากษาศาลชั้นต้น 15 วัน ย่อมสามารถกระทำได้ และข้อตกลงดังกล่าวมิใช่เป็นการกำหนดค่าเสียหายกันไว้ล่วงหน้าอันมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับซึ่งหากสูงเกินส่วนศาลมีอำนาจลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยแต่อย่างใด เมื่อโจทก์ทำการงานโดยดำเนินคดีให้แก่จำเลยทั้งสองที่ศาลจังหวัดชุมพรรวม 3 คดี จนต่อมาวันที่ 22 พฤษภาคม 2561 จำเลยทั้งสองสามารถตกลงกับคู่กรณีในคดีทั้งสามได้ โดยคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 278/2560 และคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 423/2560 คู่ความตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความและศาลมีคำพิพากษาตามยอม ส่วนคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 422/2560 จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นโจทก์ในคดีดังกล่าวยื่นคำร้องขอถอนฟ้อง ศาลมีคำสั่งอนุญาตและให้จำหน่ายคดีจากสารบบความ ดังนี้ ย่อมถือได้ว่าโจทก์ได้ทำการงานสำเร็จตามที่ตกลงว่าจ้างกันแล้ว โจทก์ย่อมมีสิทธิได้รับสินจ้างตามผลแห่งการงานที่ได้กระทำไป อย่างไรก็ดี เมื่อคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 278/2560 และคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 423/2560 สำเร็จไปเพราะมีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความและศาลมีคำพิพากษาตามยอม ส่วนคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 422/2560 สำเร็จไปโดยจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นโจทก์ในคดีดังกล่าวยื่นคำร้องขอถอนฟ้อง ศาลย่อมมีอำนาจพิจารณาอัตราค่าจ้างให้ตามสมควรแก่ผลแห่งการงานที่โจทก์ได้กระทำไป เมื่อพิเคราะห์ถึงการงานที่โจทก์ทำ โดยในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 422/2560 โจทก์และจำเลยได้ทำการสืบพยานกันเสร็จสิ้นแล้ว อยู่ระหว่างนัดฟังคำพิพากษา ส่วนคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 278/2560 และคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 423/2560 อยู่ระหว่างนัดสืบพยานโจทก์และพยานจำเลย ยังมิได้มีการสืบพยานแต่อย่างใด ดังนี้ จึงเห็นควรกำหนดค่าจ้างว่าความให้โจทก์ตามสัญญาข้อ 2.1 ถึงข้อ 2.3 ในแต่ละงวดจำนวนครึ่งหนึ่ง กล่าวคือ งวดที่ 1 จำนวน 500,000 บาท งวดที่ 2 จำนวน 500,000 บาท และงวดที่ 3 จำนวน 500,000 บาท เมื่อนำเงินที่จำเลยที่ 2 ชำระให้แก่โจทก์มาแล้ว 369,951 ซึ่งเป็นการชำระหนี้ในงวดที่ 1 ตามที่ได้วินิจฉัยไว้แล้วมาหักออกจากค่าจ้างว่าความงวดที่ 1 คงเหลือค่าจ้างว่าความในงวดที่ 1 จำนวน 130,049 บาท รวมเป็นเงินค่าจ้างว่าความทั้งสามงวดที่จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสิ้น 1,130,049 บาท ส่วนจำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดในค่าจ้างว่าความงวดที่ 1 เนื่องจากคดีขาดอายุความ จึงคงเหลือค่าว่าความในงวดที่ 2 และงวดที่ 3 ที่จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสิ้น 1,000,000 บาท และโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยนับแต่วันที่จำเลยทั้งสองผิดนัดเป็นต้นไป โดยค่าจ้างว่าความงวดที่ 1 มีกำหนดเวลาชำระหนี้ตามวันแห่งปฏิทินในวันทำสัญญาคือวันที่ 11 กันยายน 2560 เมื่อจำเลยที่ 2 มิได้ชำระหนี้ให้โจทก์ครบถ้วนตามกำหนด จึงตกเป็นผู้ผิดนัดโดยมิพักต้องเตือนเลย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 204 วรรคสอง โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยผิดนัดได้ตามมาตรา 224 วรรคหนึ่ง นับแต่วันที่ 12 กันยายน 2560 เป็นต้นไป อย่างไรก็ดี เมื่อคำฟ้องโจทก์มีคำขอให้จำเลยทั้งสองชำระดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 19 พฤศจิกายน 2561 จึงกำหนดให้โจทก์คิดดอกเบี้ยสำหรับค่าจ้างว่าความงวดที่ 1 ได้นับแต่วันที่ 19 พฤศจิกายน 2561 ตามที่โจทก์ขอ สำหรับค่าจ้างว่าความงวดที่ 2 และงวดที่ 3 นั้น มิใช่หนี้ที่ได้กำหนดเวลาชำระหนี้ตามวันแห่งปฏิทิน เมื่อคดีที่โจทก์ว่าความให้แก่จำเลยทั้งสองในศาลจังหวัดชุมพรทั้งสามคดี จำเลยทั้งสองสามารถตกลงกับคู่กรณีได้ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2561 จึงถือว่าหนี้ค่าจ้างว่าความงวดที่ 2 และงวดที่ 3 ถึงกำหนดชำระในวันที่ดังกล่าว แต่ตราบใดที่โจทก์ยังมิได้เตือนให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้ จำเลยทั้งสองก็ยังไม่ได้ชื่อว่าผิดนัด ต่อมาเมื่อโจทก์มีหนังสือทวงถามไปยังจำเลยทั้งสองโดยกำหนดเวลาให้นำเงินมาชำระหนี้ภายใน 7 วัน จำเลยที่ 1 ได้รับหนังสือทวงถามเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2561 ครบกำหนด 7 วัน ในวันที่ 3 ธันวาคม 2561 จำเลยที่ 1 มิได้ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ ดังนี้ จึงถือว่าจำเลยที่ 1 ตกเป็นผู้ผิดนัดเพราะเขาเตือนแล้วตามมาตรา 204 วรรคหนึ่ง และโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยผิดนัดสำหรับค่าจ้างว่าความในงวดที่ 2 และงวดที่ 3 ได้นับแต่วันที่ 4 ธันวาคม 2561 เป็นต้นไป ส่วนจำเลยที่ 2 ได้รับหนังสือทวงถามเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2561 ครบกำหนด 7 วัน ในวันที่ 2 ธันวาคม 2561 จำเลยที่ 2 มิได้ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ตามหนังสือทวงถามดังกล่าว จำเลยที่ 2 จึงตกเป็นผู้ผิดนัดเพราะเขาเตือนแล้วตามมาตรา 204 วรรคหนึ่ง และโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยผิดนัดได้นับแต่วันที่ 3 ธันวาคม 2561 เป็นต้นไป ฎีกาของโจทก์ประเด็นนี้ฟังขึ้นบางส่วน
อนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้อัตราดอกเบี้ยผิดนัดนับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไป โดยมิได้กำหนดว่ากรณีที่กระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา ก็ให้ใช้ดอกเบี้ยที่ปรับเปลี่ยนนั้นและต้องบวกเพิ่มอีกร้อยละ 2 ต่อปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 ประกอบมาตรา 7 ที่แก้ไขใหม่ตามพระราชกฤษฎีกาแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. 2564 เป็นการไม่ชอบ ปัญหาเรื่องการคิดดอกเบี้ยที่กำหนดไว้ตามกฎหมาย เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นว่ากล่าวในชั้นฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5)
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ชำระเงิน 1,113,049 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 19 พฤศจิกายน 2561 และของต้นเงิน 1,000,000 บาท นับแต่วันที่ 3 ธันวาคม 2561 เป็นต้นไปจนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 ต้นเงินจำนวนดังกล่าวให้จำเลยที่ 1 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ชำระให้แก่โจทก์จำนวน 1,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 4 ธันวาคม 2561 เป็นต้นไปจนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และดอกเบี้ยของต้นเงินทุกจำนวนให้ชำระในอัตราร้อยละ 5 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ถ้ากระทรวงการคลังกำหนดปรับเปลี่ยนอัตราโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาเมื่อใด ก็ให้ใช้อัตราดอกเบี้ยที่ปรับเปลี่ยนไปนั้นบวกด้วยอัตราร้อยละ 2 ต่อปี แต่ทั้งนี้ไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามที่โจทก์ขอ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ