โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยชั้นที่สุดของคณะกรรมการพิจารณาการทุ่มตลาดและการอุดหนุนที่มีจำเลยเป็นกรรมการและได้มีคำวินิจฉัยชั้นที่สุด ให้เรียกเก็บอากรตอบโต้การทุ่มตลาดในการนำเข้าสินค้าบล็อกแก้วชนิดใส ตามพิกัดอัตราศุลกากรประเภทที่ 7016.900.001 ที่มีแหล่งกำเนิดจากสาธารณรัฐอินโดนีเซีย ซึ่งผลิตจากบริษัท PT Mulia Glass จำกัด โดยโจทก์เป็นผู้นำเข้าจากต่างประเทศมาจำหน่ายในราชอาณาจักร
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย โจทก์ต้องฟ้องคณะกรรมการดังกล่าวทั้งคณะ อย่างไรก็ตามคณะกรรมการพิจารณาการทุ่มตลาดและการอุดหนุนได้พิจารณาและมีคำสั่งไปโดยชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาจำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายอ้างว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยเนื่องจากอธิบดีกรมจำเลยเป็นเพียงเลขานุการและกรรมการคนหนึ่งของคณะกรรมการพิจารณาการทุ่มตลาดและการอุดหนุน โจทก์ต้องฟ้องคณะกรรมการทั้งคณะเป็นจำเลย
โจทก์ยื่นคำแถลงคัดค้าน
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งงดสืบพยานและวินิจฉัยว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยและขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนคำวินิจฉัยชั้นที่สุดของคณะกรรมการพิจารณาการทุ่มตลาดและการอุดหนุนได้ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า "มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์เพียงว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยเพื่อขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยชั้นที่สุดของคณะกรรมการพิจารณาการทุ่มตลาดและการอุดหนุนที่ให้เรียกเก็บอากรตอบโต้การทุ่มตลาดในการนำเข้าสินค้าบล็อกแก้วชนิดใสตามพิกัดอัตราศุลกากรประเภทที่ 7016.900.001 ที่มีแหล่งกำเนิดจากสาธารณรัฐอินโดนีเซีย ซึ่งผลิตโดยบริษัท PT Mulia Glass จำกัด หรือไม่ เห็นว่า ตามกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ พ.ศ.2545 ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์อาศัยอำอาจตามความในมาตรา 8 ฉ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 ออกกฎกระทรวงฉบับนี้ไว้ ตามที่ปรากฏในสำนวนได้กำหนดให้กรมจำเลยมีอำนาจหน้าที่ดำเนินมาตรการป้องกันและตอบโต้ทางการค้าเพื่อรักษาผลประโยชน์ทางการค้า โดยให้มีสำนักมาตรการปกป้องและตอบโต้ทางการค้าเป็นส่วนราชการในกรมจำเลย และให้สำนักดังกล่าวมีอำนาจหน้าที่ (ก) ดำเนินการเกี่ยวกับงานเลขานุการคณะกรรมการพิจารณาการทุ่มตลาดและการอุดหนุน (ข) ศึกษา วิเคราะห์คำร้อง ไต่สวน พิสูจน์ความเสียหาย เมื่อมีการนำเข้าในลักษณะทุ่มตลาด อุดหนุนและนำเข้าที่เพิ่มขึ้นรวมทั้งเสนอความเห็นเพื่อประกอบการกำหนดมาตรการตอบโต้ (ค) ศึกษา วิเคราะห์ เปรียบเทียบกฎหมายและการใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด การอุดหนุนและมาตรการปกป้องของประเทศต่าง ๆ (ง) ศึกษา วิเคราะห์ผลการไต่สวนของประเทศคู่ค้ากรณีที่ถูกเก็บอากรตอบโต้หรือกรณีไม่ถูกเก็บอากร และกรณีที่ทำความตกลง รวมทั้งพิจารณาผลกระทบต่ออุตสาหกรรมในประเทศ (จ) ศึกษา วิเคราะห์การดำเนินมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด การอุดหนุนและมาตรการปกป้องของประเทศที่กล่าวหาเพื่อให้เป็นไปตามพันธกรณีขององค์การการค้าโลกและดำเนินการเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลืออุตสาหกรรมภายในที่ถูกไต่สวน (ฉ) จัดเตรียมกลยุทธ์และกำหนดท่าทีในการต่อสู้คดี ในกรณีที่ถูกกล่าวหาว่าดำเนินมาตรการไม่สอดคล้องกับพันธกรณีขององค์การการค้าโลก รวมทั้งร้องเรียนประเทศคู่ค้าในกรณีเดียวกัน (ช) ตรวจสอบการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น ตลอดจนการกีดกันและอุปสรรคการเข้าสู่ตลาดของสินค้าไทยในต่างประเทศ (ซ) ส่งเสริมและเผยแพร่ให้เกิดการเรียนรู้เกี่ยวกับมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนและมาตรการปกป้องเพื่อให้การตอบโต้การดำเนินการค้าที่ไม่เป็นธรรมและการปกป้องผลประโยชน์ทางการค้าภายใต้มาตรการเป็นไปอย่างมีศักยภาพ รวมทั้งให้คำปรึกษาแนะนำแก่ผู้เกี่ยวข้อง (ฌ) ติดตามการใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด การอุดหนุนและมาตรการปกป้องของประเทศต่าง ๆ รวมทั้งการจัดทำระบบข้อมูลเตือนภัยของสินค้าดังกล่าว (ญ) ติดตามภาวะการนำเข้าสินค้าที่มีแนวโน้มจะทุ่มตลาดและวิเคราะห์ผลกระทบที่จะเกิดกับอุตสาหกรรมภายใน (ฎ) ศึกษา วิเคราะห์ข้อพิพาทการใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด การอุดหนุนและมาตรการปกป้อง ดังนี้ จะเห็นได้ว่า การดำเนินการทั้งปวงเกี่ยวกับการปกป้องและตอบโต้การทุ่มตลาดและอุดหนุนตามกฎหมาย เป็นอำนาจหน้าที่โดยตรงของส่วนราชการในกรมจำเลย ทั้งตามพระราชบัญญัติการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ พ.ศ.2542 ได้บัญญัติถึงอำนาจหน้าที่ของกรมจำเลยในส่วนที่ 2 การเริ่มต้นกระบวนพิจารณา และส่วนที่ 3 การไต่สวนการทุ่มตลาดและความเสียหายไว้ว่า ให้ผู้ยื่นคำขอให้คณะกรรมการดำเนินการพิจารณาตอบโต้การทุ่มตลาดยื่นคำขอต่อกรมจำเลยและกำหนดให้กรมจำเลยเป็นผู้พิจารณาคำขอในเบื้องต้นว่ามีรายละเอียดหรือหลักฐานครบถ้วนถูกต้องหรือไม่ จากนั้นให้กรมจำเลยเสนอคำขอต่อคณะกรรมการเพื่อพิจารณาและเมื่อคณะกรรมการมีคำวินิจฉัยว่าคำขอมีมูลเกี่ยวกับการทุ่มตลาดและความเสียหายแล้ว ตามกฎหมายยังกำหนดให้กรมจำเลยเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการไต่สวนในประเด็นการทุ่มตลาดและความเสียหาย เสร็จแล้วให้กรมจำเลยสรุปผลการไต่สวนและเสนอความเห็นต่อคณะกรรมการเพื่อพิจารณาวินิจฉัยต่อไป และแม้คณะกรรมการพิจารณาการทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นประธานกรรมการจะมีอำนาจหน้าที่เป็นอิสระ ไม่ได้อยู่ในการกำกับดูแลของกรมจำเลย แต่คณะกรรมการดังกล่าวก็มีอธิบดีกรมจำเลยเป็นกรรมการและเลขานุการ ทั้งยังมีข้าราชการจากกรมจำเลยเป็นผู้ช่วยเลขานุการ เมื่อพิจารณาถึงอำนาจหน้าที่ของกรมจำเลยดังกล่าวข้างต้นแล้ว อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศซึ่งเป็นผู้แทนกรมจำเลยจึงเป็นกรรมการที่มีบทบาทสำคัญในเนื้อหางานของคณะกรรมการดังกล่าว ประกอบกับการฟ้องกรมจำเลยก็เท่ากับเป็นการฟ้องอธิบดีกรมจำเลยซึ่งเป็นกรรมการและเลขานุการในคณะกรรมการพิจารณาการทุ่มตลาดและการอุดหนุน จึงถือว่าเป็นการฟ้องคณะกรรมการพิจารณาการทุ่มตลาดและการอุดหนุนแล้วไม่จำต้องฟ้องกรรมการทุกคน และการที่โจทก์ฟ้องเฉพาะกรมจำเลยดังกล่าว กรมจำเลยก็สามารถให้การต่อสู้คดีชี้แจงเหตุผลโต้แย้งคำฟ้องของโจทก์ได้แล้ว ไม่ทำให้คณะกรรมการดังกล่าวเสียเปรียบแต่อย่างใด ทั้งยังมีผลให้การดำเนินกระบวนพิจารณาเป็นไปด้วยความรวดเร็ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องกรมจำเลยเพื่อขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยชั้นที่สุดของคณะกรรมการพิจารณาการทุ่มตลาดและการอุดหนุนที่ให้เรียกเก็บอากรตอบโต้การทุ่มตลาดในการนำเข้าสินค้าบล็อกแก้วชนิดใส ตามพิกัดอัตราศุลกากรประเภทที่ 7016.900.001 ที่มีแหล่งกำเนิดจากสาธารณรัฐอินโดนีเซีย ซึ่งผลิตโดยบริษัท PT Mulia Glass จำกัด ได้ โดยไม่จำต้องฟ้องกรรมการทุกคน การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งงดสืบพยานและพิพากษายกฟ้องเป็นการไม่ชอบ กรณีต้องฟังข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานที่คู่ความจะนำสืบต่อไป อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น"
พิพากษายกคำพิพากษาและคำสั่งงดสืบพยานของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิจารณาและพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่