โจทก์ฟ้องว่าจำเลยแจ้งความเท็จ ทำหลักฐานเท็จ ทุจริตต่อหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137, 157, 162, 172, 179, 200, 267, 310,83 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2502 มาตรา 13 ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วพิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยข้อหาตามมาตรา 137, 172, 179, 267, 310ต้องห้ามอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193 ทวิข้อหาตามมาตรา 157, 162, 200 เห็นว่าไม่มีมูลความผิด พิพากษายืน โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า "โจทก์ฎีกาว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193 ทวิ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2517มาตรา 3 ใช้บังคับในกรณีที่จำเลยตกอยู่ในฐานะเป็นจำเลยแล้วเท่านั้น แต่คดีนี้ยังอยู่ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องเป็นเรื่องระหว่างโจทก์กับศาล โจทก์จึงไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ฎีกาในข้อเท็จจริงดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย ทั้งเอกสารหมาย จ.1 (รายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีประจำวันที่ 2 กันยายน 2519 ของสถานีตำรวจภูธรอำเภอวัฒนานคร) และเอกสารหมาย ล.1 (บันทึกการจับกุมที่จำเลยที่ 2 ถึงจำเลยที่ 4ได้บันทึกเมื่อจับกุมโจทก์) ผู้จดหรือผู้เขียนข้อความมิได้มาสืบประกอบจึงรับฟังไม่ได้ คดีของโจทก์พอมีมูลที่จะรับไว้พิจารณา
ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว เห็นว่าการกระทำที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137, 172, 179, 267 และ 310นั้นเป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวกับความผิดตามมาตรา 157, 162 และ 200ที่โจทก์ขอให้ลงโทษจำเลยซึ่งมีอัตราโทษจำคุกเกินกว่า 3 ปี เมื่อกระทงความผิดที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท และความผิดในบทหนักมีกำหนดโทษจำคุกเกินกว่า 3 ปี หรือปรับเกินกว่า 6,000 บาทแล้วถึงแม้ความผิดบทอื่นในกระทงความผิดเดียวกันจะมีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ก็ต้องถือว่าในกระทงความผิดนั้นทุกบทไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง เพราะการที่จะพิจารณาว่าจะต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงหรือไม่ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 193 ทวินั้น จะต้องพิจารณาอัตราโทษที่บัญญัติไว้ในกฎหมายสำหรับข้อหาแต่ละกระทงความผิด ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 95/2521 คดีระหว่างพนักงานอัยการจังหวัดลำพูน โจทก์ นายพิบูลย์ น้อยมะกอก กับพวก จำเลยที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137,172, 179, 267 และ 310 นั้น หาชอบไม่ ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น
ฎีกาของโจทก์ที่ว่า เอกสารหมาย จ.1 และ ล.1 ศาลจะรับฟังได้หรือไม่นั้นประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226 บัญญัติว่า เอกสารซึ่งน่าจะพิสูจน์ได้ว่าจำเลยมีผิดหรือบริสุทธิ์ให้อ้างเป็นพยานหลักฐานได้ ส่วนวิธีการนำเอกสารมาสืบ ซึ่งบัญญัติไว้ในมาตรา 238 ถึง 240 ก็ไม่ได้บังคับว่าต้องนำผู้เขียนหรือผู้จดมาเบิกความประกอบ จึงชอบที่ศาลจะฟังเป็นพยานหลักฐานได้ ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
เมื่อวินิจฉัยว่าความผิดที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 137, 172, 179, 267 และ 310 ไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ แต่ศาลอุทธรณ์ยังมิได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงตามบทความผิดดังกล่าว เห็นควรให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยข้อเท็จจริงดังกล่าวนั้น เพื่อให้การวินิจฉัยความผิดของจำเลยเป็นไปตามลำดับศาล
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี"