คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2539 ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 1,494,666.03 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี จากต้นเงินจำนวน 960,000 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (วันที่ 26 มกราคม 2539) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระให้ยึดที่ดินจำนองโฉนดเลขที่ 37526, 37527, 37536 และ 37537 พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้โจทก์ หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่น ๆ ของจำเลยออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้โจทก์จนครบ แต่จำเลยไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษา โจทก์ขอให้บังคับคดี วันที่ 16 พฤศจิกายน 2543 โจทก์ยื่นคำขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สินจำนอง แต่ผู้แทนโจทก์ส่งต้นฉบับโฉนด สัญญาจำนองและสำเนาทะเบียนบ้านของจำเลยไม่ครบจึงยึดไม่ได้ ต่อมาบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ. และบริษัทบริหารสินทรัพย์ ส. ยื่นคำร้องขอเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนโจทก์เดิมตามลำดับ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต จนกระทั่งวันที่ 16 มิถุนายน 2560 โจทก์ (ผู้เข้าสวมสิทธิแทน) ยื่นคำขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สินจำนองเพื่อจะนำออกขายทอดตลาดเอาเงินมาชำระหนี้ แต่เจ้าพนักงานบังคับคดีเห็นว่าโจทก์ยื่นคำขอเมื่อเกินระยะเวลาบังคับคดี 10 ปี นับแต่วันมีคำพิพากษาศาลชั้นต้นซึ่งเป็นคำพิพากษาของศาลชั้นที่สุด ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 (เดิม) จึงมีคำสั่งยกคำร้องเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2560
โจทก์ยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนคำสั่งเจ้าพนักงานบังคับคดี โดยให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์
ศาลชั้นต้นตรวจคำร้องแล้วมีคำสั่งว่า กรณีตามคำร้องไม่ได้เกิดจากการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของเจ้าพนักงานบังคับคดีแต่อย่างใด แต่เกิดจากความบกพร่องของโจทก์เอง คำสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดีชอบแล้ว ให้ยกคำร้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืน จำเลยไม่ได้แก้อุทธรณ์ จึงไม่กำหนดค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ให้
โจทก์ฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า โจทก์มีสิทธิร้องขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินทรัพย์จำนองของจำเลยออกขายทอดตลาดหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้หนี้ตามคำพิพากษาเป็นหนี้เงิน เมื่อจำเลยไม่ชำระหนี้ตามคำบังคับเป็นกรณีที่ต้องตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดียึดหรืออายัดทรัพย์สินของจำเลยออกขายทอดตลาดเพื่อนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ ปัญหาว่าโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาต้องดำเนินการบังคับคดีไปถึงขั้นตอนใดจึงจะถือว่าได้มีการร้องขอให้บังคับคดีภายใน 10 ปีแล้ว เมื่อพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 275 (เดิม) และมาตรา 278 (เดิม) จะเห็นได้ว่า การร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาต้องดำเนินการให้ครบถ้วนตามขั้นตอน ดังนี้ ขั้นตอนแรกเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาต้องขอให้ศาลออกหมายบังคับคดี ขั้นตอนต่อไปต้องให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทราบว่าศาลได้ออกหมายบังคับคดี และขั้นตอนสุดท้ายเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาต้องแถลงต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษา เมื่อพิจารณาขั้นตอนดังกล่าวแล้ว แม้คดีนี้โจทก์เดิมจะได้แถลงขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์จำนองของจำเลยไว้เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2543 ก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่า โจทก์นำเอกสารที่ต้องใช้ประกอบการยึดมายื่นต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ครบจึงไม่สามารถยึดที่ดินของจำเลยได้ และเจ้าพนักงานบังคับคดีมีคำสั่งในคำขอยึดทรัพย์ของโจทก์ว่า ให้โจทก์นำส่งต้นฉบับโฉนดที่ดิน สัญญาจำนองและสำเนาทะเบียนบ้านจำเลยก่อนนำยึด แต่โจทก์ก็ไม่ดำเนินการใด ๆ จนกระทั่งวันที่ 16 มิถุนายน 2560 โจทก์เพิ่งมาตั้งเรื่องบังคับคดีใหม่โดยยื่นคำขอยึดอสังหาริมทรัพย์ ณ ที่ทำการต่อเจ้าพนักงานบังคับคดี เช่นนี้ จึงยังฟังไม่ได้ว่าโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาได้ดำเนินการต่าง ๆ ตามขั้นตอนครบถ้วนภายในกำหนด 10 ปี นับแต่วันมีคำพิพากษาชั้นที่สุดอันจะถือว่าโจทก์ได้ร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาภายใน 10 ปี นับแต่วันมีคำพิพากษา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 (เดิม) เมื่อโจทก์เพิ่งยื่นคำขอต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีให้ยึดทรัพย์จำนองของจำเลยวันที่ 16 มิถุนายน 2560 ล่วงพ้นกำหนดระยะเวลา 10 ปี นับแต่วันมีคำพิพากษาชั้นที่สุด (วันที่ 11 ตุลาคม 2539) โจทก์จึงสิ้นสิทธิบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์จำนองของจำเลย ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า ทรัพยสิทธิจำนองยังคงอยู่และโจทก์มีสิทธิได้รับชำระหนี้จำนองนั้น เห็นว่า แม้ทรัพยสิทธิจำนองยังคงอยู่และโจทก์สามารถใช้ยันต่อลูกหนี้จำนองหรือต่อบุคคลภายนอกที่รับโอนทรัพย์จำนองต่อไปได้ แต่เมื่อโจทก์มีคำขอให้ยึดทรัพย์จำนองของจำเลยวันที่ 16 มิถุนายน 2560 ซึ่งล่วงพ้นกำหนดระยะเวลา 10 ปี นับแต่วันมีคำพิพากษาชั้นที่สุดแล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิร้องขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินทรัพย์จำนองของจำเลยออกขายทอดตลาด ที่ศาลล่างทั้งสองมีคำสั่งและคำพิพากษาให้ยกคำร้องของโจทก์ต้องกันมานั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น เมื่อวินิจฉัยดังนี้แล้ว กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของโจทก์อีกเพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ