โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 10,104,915.70 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 8,834,899 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้พิพากษายกฟ้องโจทก์และให้จำเลยชำระเงิน 8,834,899 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันยื่นคำร้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้ร้อง
โจทก์ยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้องสอดของผู้ร้อง
จำเลยยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้องสอดของผู้ร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 8,834,899 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันถัดจากวันที่ศาลมีคำพิพากษาเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้ร้อง ยกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมแทนคู่ความทุกฝ่ายให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้จำเลยชำระเงิน 8,834,899 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันขายทอดตลาดคือวันที่ 19 กรกฎาคม 2555 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ทั้งนี้จำเลยไม่ต้องรับผิดเกินกว่าจำนวนเงินคงเหลือจากการขายทอดตลาดสินค้าตกค้างที่ยังเหลืออยู่ในความครอบครองของจำเลย ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลสำหรับคู่ความทุกฝ่ายให้เป็นพับ
โจทก์ จำเลย และผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า โจทก์ประกอบการท่าเทียบเรือรับจ้างขนถ่ายและเก็บรักษาสินค้าในคลังสินค้าที่ท่าเทียบเรือสินค้ากอง เอ 4 ท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งอยู่ในเขตอารักขาของจำเลยโดยทำสัญญาเช่ากับการท่าเรือแห่งประเทศไทย โจทก์มีสิทธิคิดค่าบริการการใช้ท่าเรือตามประกาศของการท่าเรือแห่งประเทศไทย ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติการท่าเรือแห่งประเทศไทย พ.ศ.2494 มาตรา 29 (5) ประมาณเดือนธันวาคม 2553 บริษัทตงฟง หางโจว มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้นำเข้ารถยนต์บรรทุกขนาดเล็ก 23 คัน จากสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยผู้ขายมอบหมายให้เรือกรีนไพน์ขนส่งทางทะเลจอดที่ท่าเรือของโจทก์เพื่อให้โจทก์ขนถ่ายสินค้าจากเรือไปเก็บไว้ในคลังสินค้าที่ท่าเรือของโจทก์เพื่อเสียภาษีศุลกากรและขออนุญาตนำเข้าสินค้า ตกลงชำระค่าภาระสินค้าตามที่โจทก์กำหนด แต่บริษัทไม่สามารถดำเนินพิธีการศุลกากรและนำสินค้าออกจากท่าเรือของโจทก์ได้ โจทก์ฟ้องบริษัทตงฟง หางโจว มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด กับพวก ข้อเท็จจริงยุติตามคำพิพากษาศาลแพ่ง คดีหมายเลขแดงที่ 5170/2555 และศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โดยคดีถึงที่สุดไปแล้วตามคดีหมายเลขแดงที่ 20027/2556 ของศาลอุทธรณ์ ให้บริษัทตงฟง หางโจว มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ชำระหนี้แก่โจทก์ในหนี้ค่าภาระการใช้ท่าเรือเก็บรักษาสินค้าตั้งแต่วันที่ 20 มกราคม 2554 จนถึงวันฟ้อง (วันที่ 16 ธันวาคม 2554) เป็นเงิน 8,491,477.20 บาท (รวมค่าขนถ่ายสินค้า 64,520 บาท ค่ายกสินค้า 56,455 บาท) นับถัดจากวันฟ้อง โจทก์คงเก็บรักษาสินค้าถึงวันที่ 27 มกราคม 2555 (วันที่กรมศุลกากรยึดสินค้าขายทอดตลาด) เป็นเวลา 220 วัน จึงให้ชำระค่าการใช้ท่าเรือเก็บรักษาสินค้าอีกวันละ 24,195 บาท เป็นเงิน 5,322,900 บาท รวมโจทก์เป็นเจ้าหนี้ค่าภาระการใช้ท่าเรือเก็บรักษาสินค้าและค่าขนย้าย 13,814,377.20 บาท ซึ่งการนำเข้าสินค้าดังกล่าวบริษัทตงฟง หางโจว มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ทำสัญญาเลตเตอร์ออฟเครดิตกับผู้ร้อง และผู้ร้องได้ชำระค่าสินค้าให้แก่ผู้ขายในสาธารณรัฐประชาชนจีนแล้วแต่บริษัทผิดนัดไม่ชำระหนี้ให้แก่ผู้ร้อง ผู้ร้องจึงไม่ส่งมอบเอกสารการรับมอบสินค้าแก่บริษัททำให้บริษัทไม่สามารถนำสินค้าออกจากท่าเรือของโจทก์ได้กลายเป็นของตกค้าง จำเลยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 61 ขายทอดตลาดของตกค้างดังกล่าวเมื่อหักค่าภาษีใช้ให้แก่จำเลยแล้วยังเหลือเงินอยู่ที่จำเลย 8,834,899 บาท หลังจากนั้นผู้ร้องยื่นคำร้องขอรับเงินที่เหลือจากการขายทอดตลาดของตกค้างต่อจำเลย ต่อมาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ในคดีหมายเลขแดงที่ กค.54/2556 พิพากษาให้บริษัทตงฟง หางโจว มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด กับพวก ร่วมกันชำระหนี้ตามสัญญาเลตเตอร์ออฟเครดิต ทรัสต์รีซิท และค้ำประกัน 21,276,495 บาท พร้อมดอกเบี้ยอีกจำนวนหนึ่งแก่ผู้ร้อง ส่วนโจทก์ขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดเงินที่เหลือจากการขายทอดตลาดของตกค้าง แต่จำเลยปฏิเสธ โจทก์จึงยื่นคำร้องต่อศาลแพ่งขอให้มีคำสั่งให้จำเลยปฏิบัติตามคำสั่งอายัดของเจ้าพนักงานบังคับคดี ศาลแพ่งมีคำสั่งยกคำร้องของโจทก์
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องและจำเลยว่า เงินที่ได้จากการขายทอดตลาดรถยนต์บรรทุกที่หักค่าภาษีแล้วยังมีเงินเหลืออยู่ที่จำเลย 8,834,899 บาท จะตกได้แก่โจทก์หรือผู้ร้องหรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 63 บัญญัติว่า "เงินที่ได้จากการขายตามมาตรา 61 นั้น ให้หักใช้ค่าภาษี ค่าเก็บรักษา ค่าย้ายขน หรือค่าภาระติดพันอย่างอื่นอันค้างชำระแก่กรมศุลกากรเสียก่อน เหลือเท่าใดให้ใช้ค่าภาระติดพันต่าง ๆ อันสมควรจะได้และค้างชำระแก่ตัวแทนของเรือที่นำของเข้ามา เมื่อได้หักเช่นนี้แล้ว ยังมีเงินเหลืออยู่อีกเท่าใด ให้ตกเป็นของแผ่นดิน เว้นแต่เจ้าของจะได้เรียกร้องเอาภายในหกเดือนนับแต่วันขายทอดตลาด" ตามบทบัญญัติดังกล่าวเจตนาให้จัดสรรเงินที่เหลือจากการขายทอดตลาดของตกค้างเพื่อชำระหนี้ที่เป็นประโยชน์อันเกี่ยวข้องกับของตกค้างไว้ 4 รายการ รายการที่หนึ่งค่าภาษี รายการที่สองค่าเก็บรักษา รายการที่สามค่าย้ายขน หรือรายการที่สี่ค่าภาระติดพันอย่างอื่นที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับของตกค้างเสียก่อน เหลือเท่าใดจึงให้คืนแก่เจ้าของที่ได้เรียกร้องเอาภายในหกเดือนนับแต่วันขายทอดตลาด เมื่อข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลแพ่ง คดีหมายเลขแดงที่ 5170/2555 ที่โจทก์ฟ้องบริษัทตงฟง หางโจว มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้นำเข้ารถยนต์บรรทุกและศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โดยคดีถึงที่สุดไปแล้วตามคดีหมายเลขแดงที่ 20027/2556 ของศาลอุทธรณ์ ให้บริษัทตงฟง หางโจว มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ชำระหนี้แก่โจทก์ในหนี้ค่าภาระการใช้ท่าเรือเก็บรักษาสินค้าตั้งแต่วันที่ 20 มกราคม 2554 จนถึงวันฟ้อง (วันที่ 16 ธันวาคม 2554) เป็นเงิน 8,491,477.20 บาท (รวมค่าขนถ่ายสินค้า 64,520 บาท ค่ายกสินค้า 56,455 บาท) นับถัดจากวันฟ้องโจทก์คงเก็บรักษาสินค้าถึงวันที่ 27 มกราคม 2555 (วันที่กรมศุลกากรยึดสินค้าขายทอดตลาด) เป็นเวลา 220 วัน จึงให้ชำระค่าภาระการใช้ท่าเรือเก็บรักษาสินค้าอีกวันละ 24,195 บาท เป็นเงิน 5,322,900 บาท รวมโจทก์เป็นเจ้าหนี้ค่าภาระการใช้ท่าเรือเก็บรักษาสินค้าและค่าขนย้าย 13,814,377.20 บาท ซึ่งผู้ร้องและจำเลยมิได้คัดค้านเป็นอย่างอื่น จึงต้องถือว่าโจทก์เป็นเจ้าหนี้ค่าเก็บรักษาและค่าย้ายขนตามจำนวนดังกล่าวที่มีสิทธิได้รับจัดสรรเงินที่เหลือจากการขายทอดตลาดของตกค้างก่อนเจ้าของตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 63 เมื่อเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดรถยนต์บรรทุกเมื่อได้หักใช้ค่าภาษีอันค้างชำระแก่จำเลยแล้ว คงเหลือ 8,834,899 บาท จึงต้องจัดสรรให้แก่โจทก์ทำให้ไม่มีเงินเหลือจากการขายทอดตลาดของตกค้างที่จะตกได้แก่ผู้ร้องที่อ้างว่าเป็นเจ้าของอีก การที่ศาลอุทธรณ์ให้จำเลยชำระเงินค่าเก็บรักษาและค่าขนย้ายให้แก่โจทก์ 8,834,899 บาท จึงชอบแล้ว ฎีกาของผู้ร้องและจำเลยฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยเพียงใด เห็นว่า โจทก์ได้มีหนังสือทวงถามให้จำเลยส่งมอบเงินจำนวน 8,834,899 บาท แล้ว และถือเป็นหนี้เงิน ประกอบกับการที่จำเลยปฏิเสธไม่ชำระเงินให้แก่โจทก์เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จึงต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยในต้นเงินดังกล่าวให้แก่โจทก์ด้วย ไม่มีเหตุผลหรือบทบัญญัติตามกฎหมายข้อใดที่กำหนดให้จำกัดความรับผิดของจำเลยไว้เพียงต้นเงินที่อยู่ในความครอบครองของจำเลยตามที่ศาลอุทธรณ์พิพากษา คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ในข้อดังกล่าวจึงไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น เมื่อตามคำฟ้องของโจทก์ โจทก์ขอดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ของต้นเงินดังกล่าวมานับแต่วันขายทอดตลาดของตกค้าง (วันที่ 19 กรกฎาคม 2555) แต่เห็นว่าจะถือว่าจำเลยผิดนัดในวันขายทอดตลาดของตกค้างดังกล่าวไม่ได้เพราะโจทก์เพิ่งมีหนังสือทวงถามให้จำเลยส่งมอบเงิน ฉบับลงวันที่ 1 กรกฎาคม 2556 ระบุให้จำเลยส่งมอบเงินจำนวน 8,834,899 บาท ให้แก่โจทก์ภายในกำหนด 7 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือนี้ ซึ่งจำเลยได้รับหนังสือเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2556 แล้วเพิกเฉย จึงต้องถือว่าจำเลยผิดนัดไม่ชำระเงินให้แก่โจทก์นับแต่วันพ้นกำหนด 7 วันดังกล่าว จึงเห็นควรให้จำเลยรับผิดชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์นับถัดจากวันที่ 9 กรกฎาคม 2556
ส่วนที่โจทก์ฎีกาข้อต่อไปเกี่ยวกับความรับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมนั้น เห็นว่า ที่ศาลแพ่งและศาลอุทธรณ์ได้มีคำพิพากษาในคดีที่โจทก์ฟ้องบริษัทตงฟง หางโจว มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งถึงที่สุดไปแล้วให้โจทก์มีสิทธิได้รับชำระ และโจทก์ได้มีหนังสือทวงถามไปยังจำเลยแล้ว แต่จำเลยปฏิเสธไม่ปฏิบัติตามจนโจทก์ต้องฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายโดยไม่มีเหตุอันสมควร ดังนั้น ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาเกี่ยวกับค่าฤชาธรรมเนียมเป็นว่า ให้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลสำหรับคู่ความทุกฝ่ายให้เป็นพับ นั้น จึงไม่เหมาะสมแก่พฤติการณ์ในคดีของโจทก์จำเลย ศาลฎีกาเห็นควรกำหนดให้เหมาะสม ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน 8,834,899 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันที่ 9 กรกฎาคม 2556 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาล โดยกำหนดค่าทนายความ 100,000 บาท แทนโจทก์ด้วย ส่วนค่าฤชาธรรมเนียมอื่นทั้งสามศาลให้เป็นพับ