คดีสืบเนื่องจากโจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2559 เวลากลางวัน จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 กรรมการผู้มีอำนาจ และจำเลยที่ 2 ในฐานะส่วนตัว ร่วมกันมีไว้ในครอบครองซึ่งรถยนต์ยี่ห้อ TOYOTA รุ่น ALPHARD ความจุกระบอกสูบ 2,400 ซีซี หมายเลขตัวรถ ATH10-0012880 หมายเลขเครื่องยนต์ 2AZ-1955163 เป็นรถยนต์ที่ยังมิได้เสียภาษีสรรพสามิต และเป็นสินค้าตามพระราชบัญญัติพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527 คิดเป็นมูลค่าภาษีสรรพสามิตที่จำเลยทั้งสองจะต้องชำระเป็นเงิน 1,422,350 บาท โดยจำเลยทั้งสองรู้ว่ารถยนต์ดังกล่าวเป็นสินค้าที่มิได้เสียภาษีและมิได้รับการยกเว้นใด ๆ ตามกฎหมาย เหตุเกิดที่ตำบลนาป่า อำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี ตามวันเวลาดังกล่าว เจ้าพนักงานยึดรถยนต์ดังกล่าวเป็นของกลาง รถยนต์ของกลางโจทก์ได้แจ้งให้เจ้าพนักงานดำเนินการตามพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527 มาตรา 163 แล้ว ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527 มาตรา 4, 161, 167 พระราชบัญญัติพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527 มาตรา 3, 5 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ แต่ก่อนสืบพยานโจทก์ จำเลยทั้งสองขอถอนคำให้การเดิมและให้การใหม่เป็นรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527 มาตรา 161 (1), 167 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ปรับคนละสองเท่าของค่าภาษีที่จะต้องเสียเป็นเงิน 2,844,700 บาท จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงปรับคนละ 1,422,350 บาท หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าปรับให้ยึดทรัพย์สินใช้ค่าปรับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 หากจำเลยที่ 2 ไม่ชำระค่าปรับ ให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ต่อมาวันที่ 26 ธันวาคม 2560 จำเลยที่ 2 ชำระค่าปรับจำนวน 1,422,350 บาท ซึ่งเป็นค่าปรับเฉพาะที่ปรับจำเลยที่ 2
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ลงวันที่ 24 มกราคม 2561
จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอให้รื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ ลงวันที่ 8 กรกฎาคม 2562 อ้างว่ามีพยานหลักฐานใหม่ว่า กรณีรถยนต์ของกลางได้ชำระภาษีสรรพสามิตถูกต้องแล้ว มีคำขอท้ายคำร้องเพียงว่า ขอให้รื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่และพิพากษายกฟ้อง ศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องและส่งสำนวนการไต่สวนพร้อมทั้งความเห็นไปยังศาลอุทธรณ์ภาค 2 ศาลอุทธรณ์ภาค 2 โดยมติที่ประชุมใหญ่มีคำสั่งรับคำร้องของจำเลยทั้งสอง และให้ศาลชั้นต้นยกคดีนี้ขึ้นพิจารณาแล้วพิพากษาใหม่
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ต่อมาวันที่ 12 กรกฎาคม 2564 จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้คืนค่าปรับพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละสิบห้าต่อปี นับแต่วันชำระเป็นต้นไปจนกว่าจะคืนแก่จำเลยที่ 2 ตามพระราชบัญญัติการรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ. 2526 มาตรา 14
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วทำความเห็นส่งสำนวนไปยังศาลอุทธรณ์ภาค 2 ว่าพยานหลักฐานที่จำเลยทั้งสองนำสืบฟังได้ว่ารถยนต์ของกลางมีการเสียภาษีสรรพสามิตครบถ้วนตามกฎหมายแล้ว การกระทำของจำเลยทั้งสองไม่เป็นความผิดตามฟ้อง เห็นสมควรพิพากษายกคำพิพากษาเดิม และพิพากษาว่าจำเลยทั้งสองมิได้กระทำความผิด
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ฉบับลงวันที่ 24 มกราคม 2561 และพิพากษาใหม่ว่าจำเลยทั้งสองมิได้กระทำความผิด ให้ยกฟ้องโจทก์และคืนเงินค่าปรับแก่จำเลยที่ 2
จำเลยทั้งสองฎีกาขอให้ชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละสิบห้าของจำนวนเงินค่าปรับด้วยและมีคำสั่งคืนรถยนต์ของกลางโดยไม่มีค่าใช้จ่าย
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ในชั้นการพิจารณาคดีที่รื้อฟื้นขึ้นพิจารณาใหม่นี้ จำเลยทั้งสองฎีกาขอให้คิดดอกเบี้ยให้จำเลยที่ 2 ในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของจำนวนเงินค่าปรับ 1,422,350 บาท นับแต่วันที่ 26 ธันวาคม 2560 ถึงวันที่ 26 กรกฎาคม 2565 กับขอให้สั่งคืนรถยนต์ของกลางและสั่งให้พนักงานสอบสวนคืนรถยนต์ของกลางโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ทั้งนี้เพราะมีค่าใช้จ่ายในการจอดรถยนต์และขอให้กำหนดค่าทนายความแก่จำเลยทั้งสองด้วย โจทก์ไม่ได้ยื่นคำแก้ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ตามพระราชบัญญัติการรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ. 2526 มาตรา 8 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "คำร้องให้ยื่นต่อศาลชั้นต้นที่ได้พิพากษาคดีนั้นหรือศาลอื่นที่ได้มีเขตอำนาจแทนศาลนั้น เว้นแต่..." วรรคสอง บัญญัติว่า "ในคำร้องดังกล่าวในวรรคหนึ่ง ต้องอ้างเหตุตามที่ระบุไว้ในมาตรา 5 โดยละเอียดชัดแจ้ง และถ้าประสงค์จะขอค่าทดแทนเพื่อการที่บุคคลใดต้องรับโทษอาญาโดยคำพิพากษาถึงที่สุด หรือขอรับสิทธิที่บุคคลนั้นเสียไปอันเป็นผลโดยตรงจากคำพิพากษานั้นคืน ให้ระบุการขอค่าทดแทนหรือขอรับสิทธิคืนไว้ในคำร้องนั้นด้วย คำขอค่าทดแทนหรือขอรับสิทธิคืนนั้น มิให้เรียกค่าธรรมเนียมศาล" คดีนี้แม้ตามคำร้องของจำเลยทั้งสองลงวันที่ 8 กรกฎาคม 2562 ขอให้รื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ มีคำขอท้ายคำร้องเพียงว่าขอให้รื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่และพิพากษายกฟ้อง มิได้ระบุการขอค่าทดแทนหรือขอรับสิทธิคืนไว้ในคำร้องนี้ด้วย ต่อมาเมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 2 ให้รับคำร้องของจำเลยทั้งสอง ให้ศาลชั้นต้นยกคดีนี้ขึ้นพิจารณาแล้วพิพากษาใหม่ ในชั้นพิจารณาคดีที่รื้อฟื้นขึ้นพิจารณาใหม่ จำเลยทั้งสองจึงเพิ่งยื่นคำร้องลงวันที่ 12 กรกฎาคม 2564 ขอเงินค่าปรับคืนจากศาลพร้อมดอกเบี้ยก็ตาม ก็พออนุโลมได้ว่า จำเลยทั้งสองประสงค์จะขอค่าทดแทนหรือขอรับสิทธิคืนดังกล่าวและระบุการขอค่าทดแทนหรือขอรับสิทธิคืนไว้ในคำร้องขอรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่แล้ว จึงมีปัญหาข้อแรกที่ต้องวินิจฉัยเกี่ยวกับปัญหาข้อกฎหมายตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 2 ที่ไม่คิดดอกเบี้ยของจำนวนเงินค่าปรับที่คืนให้แก่จำเลยที่ 2 ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยจำเลยทั้งสองฎีกาว่า ตามพระราชบัญญัติการรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ. 2526 มาตรา 14 เป็นบทบัญญัติที่ไม่ได้ให้อำนาจศาลอุทธรณ์ใช้ดุลพินิจในการไม่คิดดอกเบี้ยให้แก่จำเลยที่ 2 แต่เป็นเพียงบทบัญญัติที่ให้ศาลอุทธรณ์ใช้ดุลพินิจเพียงวันที่ศาลอุทธรณ์จะกำหนดให้ดอกเบี้ยถึงเมื่อใดเท่านั้น การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ไม่คิดดอกเบี้ยของจำนวนเงินค่าปรับดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2 จึงไม่ชอบนั้น พิจารณาแล้ว เกี่ยวกับค่าทดแทนนอกจากบัญญัติไว้ในมาตรา 8 ดังกล่าวแล้ว ยังบัญญัติไว้ในมาตรา 13 มาตรา 14 และมาตรา 17 ด้วย มาตรา 13 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "การพิจารณาคดีที่รื้อฟื้นขึ้นพิจารณาใหม่ ให้ศาลมีอำนาจ(1)... (2)..." วรรคสอง บัญญัติว่า "ในกรณีที่มีคำขอค่าทดแทนหรือขอรับสิทธิคืนตามมาตรา 8 วรรคสอง เมื่อศาลตาม (1) หรือ (2) พิพากษาว่าบุคคลนั้นมิได้กระทำความผิดให้ศาลกำหนดค่าทดแทนหรือมีคำสั่งเกี่ยวกับการขอรับสิทธิคืนด้วย" มาตรา 14 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "การกำหนดค่าทดแทนให้กำหนดได้ไม่เกินจำนวนตามคำขอที่ระบุในคำร้องตามมาตรา 8 และตามหลักเกณฑ์ดังนี้ (1)... (2) ถ้าต้องรับโทษปรับและได้ชำระค่าปรับต่อศาลแล้ว ให้ได้รับเงินค่าปรับคืน โดยศาลจะคิดดอกเบี้ยให้ในอัตราร้อยละสิบห้าต่อปีของจำนวนเงินค่าปรับนับแต่วันชำระค่าปรับ จนถึงวันที่ศาลเห็นสมควรกำหนดก็ได้ (3)..."มาตรา 17 บัญญัติว่า "ในกรณีที่ได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าบุคคลผู้ต้องรับโทษอาญาโดยคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีเดิมนั้นไม่ได้กระทำความผิดและศาลได้กำหนดค่าทดแทนตามมาตรา 14 แล้ว ให้กระทรวงการคลังจ่ายค่าทดแทนตามจำนวนที่ระบุไว้ในคำพิพากษานั้น ถ้าผู้มีสิทธิได้รับค่าทดแทนถึงแก่ความตายก่อนที่จะได้รับค่าทดแทน ให้กระทรวงการคลังจ่ายค่าทดแทนให้แก่ทายาท" เห็นว่า ตามมาตรา 14 (2) ตอนแรกที่บัญญัติว่า "ถ้าต้องรับโทษปรับและได้ชำระค่าปรับต่อศาลแล้ว ให้ได้รับเงินค่าปรับคืน..." เป็นการบังคับว่าต้องให้ได้รับเงินค่าปรับคืน จะใช้ดุลพินิจไม่ให้ได้รับเงินค่าปรับคืนไม่ได้ ส่วนตอนท้ายที่บัญญัติว่า "...โดยศาลจะคิดดอกเบี้ยให้ในอัตราร้อยละสิบห้าต่อปีของจำนวนเงินค่าปรับนับตั้งแต่วันชำระค่าปรับ จนถึงวันที่ศาลเห็นสมควรกำหนดก็ได้" เป็นการให้ศาลใช้ดุลพินิจว่าจะคิดดอกเบี้ยให้หรือไม่ก็ได้ ซึ่งศาลจะพิจารณาจากข้อเท็จจริงในสำนวนว่าสมควรจะคิดดอกเบี้ยให้หรือไม่หาใช่ว่าศาลต้องคิดดอกเบี้ยให้โดยศาลคงใช้ดุลพินิจคิดดอกเบี้ยให้เพียงถึงวันใดเท่านั้นดังที่จำเลยทั้งสองฎีกาไม่ ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยข้อเท็จจริงในสำนวนแล้วเห็นว่าไม่มีเหตุสมควรกำหนดดอกเบี้ยของเงินค่าปรับให้ ย่อมเป็นดุลพินิจของศาลอุทธรณ์ภาค 2 ไม่ทำให้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ในส่วนนี้ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติการรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ. 2526 มาตรา 14 (2) แต่อย่างใด ฎีกาของจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาข้อต่อไปที่ต้องวินิจฉัยเกี่ยวกับปัญหาข้อเท็จจริงตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า สมควรคิดดอกเบี้ยให้แก่จำเลยที่ 2 หรือไม่ เห็นว่า แม้คดีอาญาที่จำเลยทั้งสองฟ้องนายวิชัย กับพวกอีก 6 คนรวมเป็น 7 คน ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 2 ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 157 ศาลวินิจฉัยว่าคดีมีมูล 2 คน คือนายอภินันท์ และร้อยตำรวจเอกณัฐพล และต่อมาศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโดยวินิจฉัยว่านายอภินันท์ปฏิบัติหน้าที่และกระทำการตามหน้าที่ไปตามขอบอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายให้อำนาจไว้ จึงไม่ได้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และร้อยตำรวจเอกณัฐพลปฏิบัติหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมายและไม่มีเจตนาที่จะกลั่นแกล้งหรือมีเจตนาพิเศษเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ไม่เป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 คดีถึงที่สุดแล้วก็ตาม ก็เป็นเรื่องทางอาญาส่วนคดีนี้ในชั้นนี้เป็นคดีรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ตามพระราชบัญญัติการรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ. 2526 ซึ่งมีเจตนารมณ์ให้บุคคลผู้ต้องรับโทษทางอาญาโดยคำพิพากษาถึงที่สุดมีสิทธิขอรื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่ในภายหลังหากปรากฏหลักฐานขึ้นใหม่ว่าบุคคลนั้นมิได้เป็นผู้กระทำความผิด และให้มีสิทธิที่จะได้รับค่าทดแทนและได้รับบรรดาสิทธิที่เสียไปเพราะผลแห่งคำพิพากษานั้นคืน หากปรากฏตามคำพิพากษาของศาลที่พิจารณาคดีที่รื้อฟื้นขึ้นพิจารณาใหม่ว่าบุคคลผู้นั้นมิได้กระทำความผิด ซึ่งการที่จะให้มีสิทธิที่จะได้รับค่าทดแทน และได้รับบรรดาสิทธิที่เสียไปเพราะผลแห่งคำพิพากษานั้นคืน ศาลคดีที่พิจารณาคดีในชั้นรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่นี้ ไม่จำต้องถูกผูกพันว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือผู้หนึ่งผู้ใดที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกรณีที่ทำให้จำเลยทั้งสองถูกดำเนินคดีไม่ได้กระทำความผิดแล้วจะกำหนดให้จำเลยทั้งสองได้รับค่าทดแทนไม่ได้ เพราะเห็นได้ว่าส่วนหนึ่งแห่งเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัตินี้ก็เพื่อต้องการให้บุคคลที่มิได้เป็นผู้กระทำความผิดได้รับการแก้ไขเยียวยาให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ด้วย ดังนั้น ศาลที่พิจารณาคดีในชั้นรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่นี้ ซึ่งรวมทั้งศาลฎีกายังคงมีอำนาจกำหนดค่าทดแทนให้จำเลยทั้งสองได้ และเมื่อได้พิจารณาถึงข้อเท็จจริงประกอบกับคำเบิกความของพยานจำเลยทั้งสองตลอดแล้ว เห็นสมควรกำหนดค่าทดแทนโดยคิดดอกเบี้ยให้ด้วย โดยตามคำเบิกความของร้อยตำรวจเอกณัฐพสิษฐ์และนางสาวรัชฎาพรประกอบกันได้ความว่า หลังจากจำเลยที่ 2 มาร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนคนอื่นที่สถานีตำรวจนครบาลบางนาท้องที่ที่ประมูลรถยนต์ มาร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีบริษัท อ. กับพวก ฐานร่วมกันฉ้อโกง และต่อมาได้มาติดตามความคืบหน้าของคดี ผู้บังคับบัญชาเห็นว่าคดีไม่คืบหน้า จึงมอบหมายให้ร้อยตำรวจเอกณัฐพสิษฐ์เป็นพนักงานสอบสวนแทน ร้อยตำรวจเอกณัฐพสิษฐ์ได้สอบปากคำจำเลยที่ 2 และตัวแทนบริษัทดังกล่าว ขอและได้รับเอกสารเกี่ยวกับการประมูล แต่ไม่มีเอกสารการเสียภาษีสรรพสามิต และเนื่องจากรถยนต์ของกลางเป็นรถที่มีหมายเลขตัวรถและหมายเลขเครื่องยนต์ แต่ยังไม่มีเลขทะเบียน ร้อยตำรวจเอกณัฐพสิษฐ์จึงได้ปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการที่ให้สอบถามไปยังหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง โดยการมีหนังสือสอบถามไปยังกรมการขนส่งทางบกและกรมศุลกากร ก็ได้รับแจ้งจากกรมการขนส่งทางบกว่ามีข้อมูลเป็นรายงานข้อมูลบัญชีรถสำหรับรถยนต์ของกลางอยู่ที่กรมการขนส่งทางบก ซึ่งตามปกติรถยนต์ทุกคันที่เมื่อนำเข้าตามใบขนสินค้าขาเข้า กรมศุลกากรก็จะแจ้งข้อมูลมายังกรมการขนส่งทางบก ซึ่งจะมีข้อมูลเกี่ยวกับวันนำเข้า ประเภทกลุ่มรถ หมายเลขเครื่องยนต์ เล่มที่และเลขที่ใบรับรองการนำเข้า เลขที่ใบขนสินค้าขาเข้าด้วย กรมการขนส่งทางบกก็จะทำและเก็บข้อมูลดังกล่าวไว้ในรายงานข้อมูลบัญชีรถด้วย เมื่อต่อมาฝ่ายผู้นำเข้าหรือเจ้าของมายื่นคำขอที่กรมการขนส่งทางบกเป็นการขอตัดบัญชีซึ่งจะมีการรับรองหลักฐาน และจะมีการออกเลขทะเบียนว่านำไปใช้จังหวัดใด แล้วตัดบัญชีออกไปจากบัญชีรถ โดยจะบันทึกข้อมูลทั้งหมดดังกล่าวมานี้ลงในรายงานข้อมูลบัญชีรถซึ่งรถยนต์ของกลางก็มีข้อมูลดังกล่าวมาปรากฏอยู่ในรายงานข้อมูลบัญชีรถในช่องสถานะรถระบุว่า ยังไม่มีการขอตัดบัญชี เมื่อร้อยตำรวจเอกณัฐพสิษฐ์ทราบข้อมูลจากกรมการขนส่งทางบก ก็ไปตรวจสอบที่กรมศุลกากร กรมศุลกากรแจ้งว่ารถยนต์ของกลางได้มีการชำระภาษีสรรพสามิตตั้งแต่ขณะนำเข้าเมื่อปี 2548 แล้ว จะเห็นได้ว่าเพียงแต่ร้อยตำรวจเอกณัฐพสิษฐ์สอบถามไปยังหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องสองหน่วยงานดังกล่าวก็ทราบทันทีว่ารถยนต์ของกลางเสียภาษีขณะนำเข้าซึ่งรวมทั้งภาษีสรรพสามิตที่กรมศุลกากรเก็บแทนแล้ว เมื่อรถยนต์ของกลางเป็นรถยนต์ที่มีหมายเลขตัวรถและหมายเลขเครื่องยนต์ แต่ยังไม่มีเลขทะเบียน ก็ย่อมสมควรอย่างยิ่งที่ต้องสอบถามไปยังหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องซึ่งก็คือกรมการขนส่งทางบกที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมเลขทะเบียนรถอยู่เป็นหลัก และกรมศุลกากรที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการเก็บภาษีขณะนำเข้า แต่เจ้าพนักงานสรรพสามิตผู้อายัดและจับกุมก็ดี พนักงานสอบสวนชั้นต้นในคดีที่ยึดรถยนต์ของกลางก็ดี คงตรวจสอบแต่เฉพาะข้อมูลจากกรมสรรพสามิตเท่านั้น หาได้สอบถามไปยังกรมการขนส่งทางบกและกรมศุลกากรไม่ โจทก์ซึ่งแจ้งให้พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนเพิ่มเติมถึง 4 ครั้ง ก็มิได้ระบุให้สอบถามไปยังกรมการขนส่งทางบกและกรมศุลกากรแต่อย่างใด นอกจากนี้ตามคำให้การชั้นสอบสวนของนายสันติภาพ ผู้รับมอบอำนาจจากธนาคาร ธ. ที่ให้การต่อร้อยตำรวจเอกณัฐพลที่ยกขึ้นกล่าวข้างต้น ก็ส่อไปในทางให้เห็นว่ารถยนต์ของกลางเป็นรถยนต์ที่นำเข้าจากต่างประเทศ น่าจะตรวจสอบข้อมูลจากกรมการขนส่งทางบกและกรมศุลกากรด้วย ซึ่งถ้าได้มีการตรวจสอบหรือสอบถามไปยังกรมการขนส่งทางบกและกรมศุลกากรตั้งแต่ต้น จำเลยทั้งสองก็ย่อมไม่ถูกดำเนินคดี แม้ตามสำเนารายการประมูลรถยนต์ ที่ระบุในช่องหมายเหตุด้วยว่า ขายเฉพาะตัวรถ ไม่มีชุดแจ้งจำหน่ายหรือเอกสารใด ๆ ให้ผู้ซื้อดำเนินการทำเรื่องจดป้ายใหม่เอง ขายตามสภาพ ไม่รับผิดชอบการโอนทุกกรณีก็ตาม แต่ก็มิได้ระบุว่ารถยนต์ของกลางไม่ได้มีการชำระภาษีสรรพสามิต และการที่ผู้ขายทอดตลาดโดยอาชีพเช่นนั้น คนทั่วไปรวมทั้งจำเลยทั้งสองคงไม่คิดว่าจะนำรถยนต์ที่มิได้เสียภาษีสรรพสามิตมาขายทอดตลาด จึงจะหาว่าจำเลยทั้งสองต้องทราบว่าเป็นเรื่องผิดปกติและยอมเข้าเสี่ยงภัยเองไม่ถนัดนัก จำเลยที่ 1 จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด เมื่อปี 2554 อันเป็นเวลาหลังจากมีการนำเข้ารถยนต์ของกลางนานถึง 6 ปี อาจจำต้องใช้เวลาระยะหนึ่งในการดำเนินการเพื่อให้มีการจดทะเบียนและได้เลขทะเบียนรถยนต์ แต่รถยนต์ของกลางมาอยู่ในครอบครองของจำเลยเพียง 58 วัน ก็ถูกเจ้าพนักงานสรรพสามิตอายัด และให้หาหลักฐานการเสียภาษีสรรพสามิตไปแสดง จำเลยทั้งสองน่าจะหาไม่ได้ในเร็ววันเพราะจำเลยทั้งสองอยู่ในภาคเอกชน การหาหลักฐานดังกล่าวอาจไม่ได้รับความสะดวกเหมือนภาคราชการด้วยกัน ซึ่งข้อนี้ที่จำเลยทั้งสองอ้างในฎีกาอยู่ว่า มิใช่จำเลยทั้งสองมิได้ดำเนินการขวนขวายหาเอกสารในการเสียภาษี แต่ติดอยู่ที่การดำเนินการขั้นตอนของทางราชการมีความซับซ้อนและไม่ให้เอกสารแก่จำเลยทั้งสอง ก็น่าเชื่อว่าเป็นความจริง ดังจะเห็นได้จากคำเบิกความของนางสาวรัชฎาพรข้าราชการกรมการขนส่งทางบกที่เบิกความว่า หากบุคคลทั่วไปนำหมายเลขตัวรถและหมายเลขเครื่องยนต์มาขอตรวจสอบที่กรมการขนส่งทางบกว่าเสียภาษีถูกต้องหรือไม่ กรมการขนส่งทางบกจะไม่อนุญาต แต่จะยินยอมให้ตรวจสอบข้อมูลโดยหน่วยงานราชการ เจ้าพนักงานตำรวจหรือศาลเท่านั้น ชั้นสอบสวนจำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ ชั้นพิจารณาของศาลก็ให้การปฏิเสธ และจำเลยที่ 2 แถลงว่าจะนำพยานหลักฐานเข้าสืบหักล้างว่าจำเลยไม่รู้ว่ารถยนต์ของกลางเป็นรถที่ไม่ได้เสียภาษี แต่พอถึงวันนัดสืบพยานโจทก์นัดแรก จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพตามฟ้อง ขอให้ศาลสั่งพนักงานคุมประพฤติสืบเสาะและพินิจและลงโทษสถานเบา จำเลยที่ 2 เบิกความถึงสาเหตุที่ให้การรับสารภาพว่า เจ้าพนักงานสรรพสามิตยืนยันว่ารถยนต์ของกลางไม่ได้เสียภาษีให้จำเลยที่ 2 ไปหาหลักฐานการเสียภาษีมายืนยัน แต่จำเลยที่ 2 หาหลักฐานไม่ได้ไม่รู้ไปหาหลักฐานได้จากที่ใด ในวันนัดพิจารณาทั้งทนายความของจำเลยทั้งสองเองและพนักงานอัยการพูดต่อจำเลยที่ 2 ทำนองว่าค่าปรับสูง จำเลยที่ 2 ต้องการลดความเสี่ยงเกี่ยวกับค่าปรับ จึงให้การรับสารภาพ แม้การให้การรับสารภาพของจำเลยทั้งสองอาจเป็นเรื่องที่ไม่สมควร เพราะไม่ควรรับสารภาพ แต่ก็เห็นได้ว่าจำเลยทั้งสองยังไม่รู้ข้อเท็จจริงว่ารถยนต์ของกลางเป็นรถยนต์ที่ได้เสียภาษีมาแล้วหรือไม่ จะมาพิจารณาเพียงว่าเพราะจำเลยรับสารภาพต่อศาลจึงถูกลงโทษอย่างเดียวไม่น่าจะถูกต้องนัก แต่น่าจะพิจารณาว่าเหตุที่จำเลยทั้งสองถูกพิพากษาลงโทษมีสาเหตุหลักมาจากเจ้าพนักงานสรรพสามิต พนักงานสอบสวนคนก่อนและโจทก์ที่มิได้มีการตรวจสอบหรือสอบถามไปยังกรมการขนส่งทางบกและกรมศุลกากรมากกว่า การที่จำเลยทั้งสองถูกดำเนินคดี ทำให้ต้องว่าจ้างทนายความทีละคนถึงสามคนย่อมจะต้องเสียเงินเป็นค่าจ้าง ทั้งตามคำร้องขอเงินค่าปรับคืน ก็อ้างอยู่ว่า ค่าปรับ 1,422,350 บาท ที่จำเลยที่ 2 ชำระต่อศาลชั้นต้น จำเลยที่ 2 ได้ไปยืมผู้อื่น จำต้องใช้คืนแก่ผู้ที่ยืมมา ต้องใช้เงินจากการกู้ยืมในการต่อสู้คดี และพอมีคดีความภริยาซึ่งมีบุตรด้วยกันได้แยกทางจากจำเลยที่ 2 เป็นความทุกข์ใจอย่างมากถูกมองและกล่าวหาจากคนรอบข้างว่าเป็นคนไม่ดี ไม่สามารถทำมาค้าขายได้ เนื่องจากถูกกล่าวหาว่านำสิ่งของผิดกฎหมายมาขายแก่ผู้อื่น ทั้งที่ไม่ใช่ความจริง ซึ่งน่าเชื่อว่าจำเลยทั้งสองได้รับความเสียหายมาก สมควรที่จำเลยที่ 2 จะได้รับการเยียวยาด้วยการคิดดอกเบี้ยให้ในอัตราร้อยละสิบห้าต่อปีของจำนวนเงินค่าปรับนับตั้งแต่วันชำระค่าปรับ (วันที่ 26 ธันวาคม 2560) จนถึงวันที่ได้รับเงินค่าปรับคืน (วันที่ 22 กรกฎาคม 2565) ด้วย แต่มิใช่ถึงวันที่ 26 กรกฎาคม 2565 ตามที่จำเลยทั้งสองขอมาในฎีกา ฎีกาของจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังขึ้น ส่วนที่เกี่ยวกับรถยนต์ของกลาง เพื่อมิให้มีปัญหาที่อาจมีในชั้นการขอคืน ศาลฎีกาเห็นสมควรสั่งเสียด้วย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้คิดดอกเบี้ยให้ในอัตราร้อยละสิบห้าต่อปีของจำนวนเงินค่าปรับ (1,422,350 บาท) นับตั้งแต่วันที่ 26 ธันวาคม 2560 ถึงวันที่ 22 กรกฎาคม 2565 แก่จำเลยที่ 2 ให้คืนรถยนต์ของกลางแก่จำเลยที่ 1 โดยไม่มีค่าใช้จ่าย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์