ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหาย 63,360 บาท ให้แก่โจทก์ทั้งสอง ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอนนิติกรรมการขายฝากที่ดินระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 เฉพาะส่วนของโจทก์ทั้งสอง และให้จำเลยทั้งสองจดทะเบียนโอนที่ดินเฉพาะส่วนดังกล่าวให้โจทก์ทั้งสอง หากไม่ปฏิบัติให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลย และหากการโอนที่ดินให้โจทก์ไม่สามารถจะกระทำได้ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งสองเป็นเงิน 63,360 บาท จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า "ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ทั้งสองเคยฟ้องจำเลยที่ 1 ขอแบ่งที่ดินมรดกของนางเทียบ โฉนดเลขที่ 4052 ตำบลเชียงรากน้อย อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา คือที่พิพาทคดีนี้ตามสำนวนคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 436/2517 ของศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องแล้ว จำเลยที่ 1 ได้นำที่พิพาทไปจดทะเบียนขายฝากให้แก่จำเลยที่ 2 และไถ่ถอนการขายฝากในกำหนด แล้วจำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนขายที่ดินให้แก่นางสมพร จริตไวทย์ และนางบุญช่วย ไกรทอง โดยยอมให้คนทั้งสองถือกรรมสิทธิ์ร่วมกับจำเลยที่ 1 คนละ 15 ส่วน ในที่ดินทั้งโฉนด 47 260/400 ส่วน ซึ่งเป็นการขายที่พิพาทบางส่วนไปด้วย ต่อมาเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2518 ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 1 โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 9052 เฉพาะส่วนของนางเทียบ เนื้อที่ 23 ไร่ 3 งาน 30 ตารางวาให้แก่โจทก์ทั้งสองคนละหนึ่งในสามส่วน ในวันเดียวกันนั้นเอง จำเลยที่ 1 ได้ขายฝากที่ดินส่วนที่เหลือให้แก่จำเลยที่ 2 เป็นครั้งที่สองอีก โดยขายฝากในราคา 50,800 บาท มีกำหนดไถ่ถอนคืนภายในกำหนดหนึ่งปี ครบกำหนดแล้วจำเลยที่ 1 ไม่ไถ่ถอน ต่อมาวันที่ 21 ธันวาคม 2519 ศาลฎีกาพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า จำเลยที่ 2 รับซื้อฝากจากจำเลยที่ 1 โดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต อ้างว่าไม่ทราบว่าที่พิพาทยังเป็นความกันอยู่ระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยที่ 1 และฎีกาด้วยว่า ยังไม่มีคำพิพากษาศาลฎีกาชี้ขาดถึงสิทธิของคู่กรณี โจทก์หาเป็นผู้ที่อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้ก่อนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1300 ไม่ ได้พิเคราะห์แล้ว ได้ความตามคำโจทก์ที่ 1 ว่า เรื่องโจทก์ทั้งสองฟ้องจำเลยที่ 1 ขอแบ่งมรดก โจทก์ที่ 1 ได้บอกให้จำเลยที่ 2 ทราบแล้ว นายประเทืองสามีโจทก์ที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 นำที่ดินไปขายฝากให้จำเลยที่ 2 เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2517 ต้นเดือนเมษายน 2518 พยานจึงไปต่อว่าจำเลยที่ 2 ว่า ไม่ควรรับซื้อจากจำเลยที่ 1 แสดงว่าจำเลยที่ 2 รู้อยู่ก่อนแล้วว่าที่พิพาทยังเป็นความกันอยู่ระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 รับซื้อฝากจากจำเลยที่ 1 นายประเทืองสามีโจทก์ที่ 1 จึงไปต่อว่า ที่จำเลยที่ 2 เบิกความว่าโจทก์ที่ 1 ไปถามจำเลยที่ 2 บอกว่ารับซื้อฝากจากจำเลยที่ 1 จริง โจทก์ที่ 1 ไม่ว่าอะไร เห็นว่าไม่มีเหตุผลที่โจทก์ที่ 1 เพียงต้องการทราบว่าจำเลยที่ 2 รับซื้อฝากจริงหรือไม่เท่านั้น ศาลฎีกาเห็นว่าพยานหลักฐานโจทก์น่าเชื่อยิ่งกว่าฝ่ายจำเลย ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 รับซื้อฝากที่พิพาทจากจำเลยที่ 1 ครั้งหลังเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2518 โดยรู้อยู่ก่อนแล้วว่าที่พิพาทโจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 1 ยังเป็นความกันอยู่ ย่อมถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 รับซื้อฝากไว้โดยสุจริต แม้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์จะยังไม่ถึงที่สุดดังจำเลยที่ 2 ฎีกา ก็ฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 รับซื้อฝากไว้ เป็นการเสียเปรียบแก่โจทก์ทั้งสองผู้อยู่ในฐานะอันจะได้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อน โจทก์ทั้งสองจึงมีสิทธิให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนการขายฝากระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 เสียได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1300"
พิพากษายืน