โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277, 310, 317, 91
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคแรก, 310 วรรคแรก, 317 วรรคสาม การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังและฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุไม่เกินสิบห้าปีซึ่งมิใช่ภริยาของตน เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุไม่เกินสิบห้าปี ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากมารดาเพื่อการอนาจาร รวม 9 กระทง ให้จำคุกกระทงละ 5 ปี ฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุไม่เกินสิบห้าปี รวม 9 กระทง ให้จำคุกกระทงละ 4 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กระทงละกึ่งหนึ่ง คงจำคุก 36 ปี 54 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวกักขัง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 310 วรรคแรก จำเลยคงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคแรก, 317 วรรคสาม นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินจฉัยว่า "คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคแรก, 310 วรรคแรก, 317 วรรคสาม ลงโทษในความผิดฐานพรากเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากมารดาเพื่อการอนาจาร ให้จำคุกกระทงละ 2 ปี 6 เดือน รวม 9 กระทง ฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุไม่เกินสิบห้าปีให้จำคุกกระทงละ 2 ปี รวม 9 กระทง ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เฉพาะให้ยกฟ้องความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวกักขัง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 310 วรรคแรก ส่วนความผิดฐานอื่นและโทษคงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จึงเป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้ไขคำพิพากษาศาลชั้นต้นเพียงเล็กน้อย โดยยังคงลงโทษจำคุกจำเลยกระทงละไม่เกิน 5 ปี คดีต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ที่จำเลยฎีกาทำนองว่า เด็กหญิง อ. เบิกความตามความจริงบ้าง เป็นเท็จบ้าง และคำเบิกความมีพิรุธไม่น่าเชื่อถือ จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำความผิดทุกกระทงตามฟ้องนั้น ฎีกาของจำเลยดังกล่าวเป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาล จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาข้อนี้ของจำเลยเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ส่วนที่จำเลยฎีกาเป็นปัญหาข้อกฎหมายว่า การที่จำเลยพรากเด็กหญิง อ. ไปนั้น มีวัตถุประสงค์เพียงประการเดียว คือ เพื่อกระทำชำเราเด็กหญิง อ. จึงไม่ใช่การกระทำเพื่อหากำไรหรือเพื่อการอนาจารอันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 วรรคสาม นั้น เห็นว่า การกระทำอนาจารคือการกระทำที่ไม่สมควรในทางเพศ เพียงแต่กอดจูบ ลูกคลำ แตะต้องเนื้อตัวร่างกายในทางไม่สมควรก็เป็นการอนาจารแล้ว ส่วนการกระทำชำเรานั้นเป็นการกระทำถึงขั้นใช้อวัยวะเพศของชายใส่ล่วงล้ำเข้าไปในอวัยวะเพศของหญิง การกระทำชำเราจึงรวมถึงการกระทำอนาจารอยู่ในตัว เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยพรากเด็กหญิง อ. ไปเพื่อกระทำชำเราเด็กหญิง อ. การกระทำของจำเลยจึงเป็นการพรากไปเพื่อการอนาจาร อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 วรรคสาม และเป็นความผิดคนละกรรมกับความผิดฐานกระทำชำเรา ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามานั้น ชอบแล้ว ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น"
พิพากษายืน