ผู้ร้องทั้งสามยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการและคำชี้ขาดเพิ่มเติม ให้ผู้คัดค้านโอนกรรมสิทธิ์สิ่งปลูกสร้างให้แก่ผู้ร้องที่ 1 หรือผู้ร้องที่ 3 หากไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนา โดยให้ผู้คัดค้านรับผิดชอบค่าใช้จ่าย ค่าภาษีอากร และค่าธรรมเนียมในการโอนกรรมสิทธิ์ ให้ผู้คัดค้านรับชำระเงิน 9,800,000 บาท ตามเงื่อนไขในสัญญาจะซื้อขาย ข้อ 3.5.2 โดยผ่อนชำระตามเอกสารภาคผนวก F และให้ผู้คัดค้านจัดทำสัญญาจำนำหุ้นระหว่างผู้ร้องที่ 1 กับผู้คัดค้านตามแบบที่กำหนดในสัญญาภาคผนวก G และ H หากผู้คัดค้านไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของผู้คัดค้าน และให้ผู้คัดค้านชำระค่าเสียหายที่เกิดจากการยกเลิกการจองเช่าสิ่งปลูกสร้าง 445,000 บาทต่อเดือน ค่าโนตารีปับลิก 27,664.99 บาท ค่าใช้จ่ายทางกฎหมายเพิ่มเติม 354,019.25 บาท ค่าโรงแรม 9,245 บาท ค่าเสียหายเป็นดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงิน 20,671,459.05 บาท นับแต่วันชำระเงินไปจนถึงวันที่มีการโอนกรรมสิทธิ์สิ่งปลูกสร้างแก่ผู้ร้องที่ 3 ค่าปรับล่าช้าวันละ 2,000 บาท นับแต่วันที่ 26 เมษายน 2561 เป็นต้นไปจนกว่าจะโอนกรรมสิทธิ์และส่งมอบต้นฉบับทะเบียนบ้านใบอนุญาตก่อสร้าง แบบแปลน และเอกสารอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องแก่ผู้ร้องทั้งสาม
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านและคำร้องแย้งขอให้ยกคำร้องของผู้ร้องทั้งสามและขอให้ผู้ร้องทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 9,800,000 บาท แก่ผู้คัดค้าน โดยให้ผู้ร้องที่ 1 และที่ 2 ทำสัญญากู้ยืมเงิน หรือ MOA การค้ำประกันการชำระหนี้ และทำสัญญาจำนำหุ้นตามภาคผนวก G และ H ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา ให้ผู้ร้องทั้งสามร่วมกันชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงิน 9,800,000 บาท นับแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2561 ถึงวันที่ 13 ธันวาคม 2562 เป็นเงิน 1,067,260 บาท และดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 14 ธันวาคม 2562 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระครบถ้วน และให้ผู้ร้องทั้งสามร่วมกันชำระค่าทนายความ 100,000 บาท ค่าเดินทาง 50,000 บาท และ ค่าที่พักและรถยนต์สาธารณะ 50,000 บาท
ผู้ร้องทั้งสามยื่นคัดค้านคำร้องแย้งขอให้ยกคำร้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ยกคำร้องของผู้ร้องทั้งสาม และให้บังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ โดยให้ผู้ร้องที่ 1 และที่ 2 เข้าทำสัญญาเงินกู้ หรือ MOA การค้ำประกันการชำระหนี้ และสัญญาจำนำหุ้นตามภาคผนวก G และ H ตามลำดับ ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำตัดสิน ให้ผู้ร้องทั้งสามร่วมกันชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 9,800,000 บาท นับแต่วันที่ผู้ร้องทั้งสามตกลงที่จะชำระส่วนที่เหลือในวันที่ 1 กรกฎาคม 2561 ไปจนถึงวันที่ได้รับคำตัดสินในวันที่ 13 ธันวาคม 2562 รวม 1 ปี 5 เดือน 11 วัน เป็นเงินทั้งสิ้น 1,067,260 บาท แก่ผู้คัดค้าน ให้ผู้ร้องทั้งสามร่วมกันชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนผู้คัดค้าน โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท
ผู้ร้องทั้งสามอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติว่า ผู้ร้องที่ 2 ที่ 3 และผู้คัดค้านมีฐานะเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2560 ผู้ร้องที่ 1 และผู้คัดค้านทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง โดยตกลงในราคา 28,000,000 บาท ที่ดินมีขนาดประมาณ 1 งาน 35.25 ตารางวา แบ่งแยกออกจากที่ดินโฉนดเลขที่ 49911 จังหวัดสุราษฎร์ธานี ส่วนสิ่งปลูกสร้างเป็นบ้านวิลล่าขนาดประมาณ 393.62 ตารางเมตร โดยผู้คัดค้านจะดำเนินการรังวัดแบ่งแยกและออกโฉนดที่ดินให้แล้วเสร็จเพื่อโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินรวมถึงสิ่งปลูกสร้างที่ก่อสร้างแล้วเสร็จแก่ผู้ร้องที่ 1 หรือบุคคลที่ผู้ร้องที่ 1 กำหนด ผู้ร้องที่ 1 ตกลงจะชำระเงินโดยแบ่งเป็น 5 งวด ในงวดที่ 5 ผู้ร้องที่ 1 ตกลงยอมรับการให้เงินกู้จากผู้คัดค้าน 9,800,000 บาท โดยจะเริ่มต้นชำระเงินดังกล่าวคืนเมื่อมีการโอนสิ่งปลูกสร้างไปยังผู้ร้องที่ 1 หรือบุคคลที่ผู้ร้องที่ 1 กำหนด ซึ่งการโอนดังกล่าวจะเกิดขึ้นในวันหรือก่อนวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2561 โดยการชำระคืนเงินกู้จะเริ่มต้นในวันหรือก่อนวันที่ 31 มีนาคม 2561 มีระยะเวลาในการชำระคืน 5 ปี อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 6 จากยอดเงินคงค้าง และเป็นไปตามกำหนดการชำระเงินตามที่ระบุในภาคผนวก F (หรือ ฉ) และจะต้องมีการลงนามในสัญญาจำนำหุ้นเพื่อเป็นหลักประกันเงินกู้ตามที่ระบุในภาคผนวก G และ H (หรือ ช และ ซ) หลังทำสัญญาซื้อขายผู้ร้องทั้งสามชำระเงินให้แก่ผู้คัดค้านบางส่วนและผู้คัดค้านได้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแก่ผู้ร้องที่ 2 แล้ว ส่วนสิ่งปลูกสร้างยังไม่มีการโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่ผู้ร้องที่ 1 หรือผู้ร้องที่ 3 ซึ่งเป็นบุคคลที่ผู้ร้องที่ 1 กำหนด ผู้คัดค้านให้ผู้ร้องที่ 1 ทำบันทึกข้อตกลงค้ำประกันการชำระหนี้ (MOA of Obligation Payment Security) แต่ผู้ร้องที่ 1 ปฏิเสธ ต่อมาเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2562 ผู้ร้องทั้งสามยื่นคำเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการ สำนักงานศาลยุติธรรม ขอให้มีการโอนกรรมสิทธิ์ในสิ่งปลูกสร้างให้ผู้ร้องที่ 1 หรือผู้ร้องที่ 3 และขอให้ถือคำชี้ขาดแทนการแสดงเจตนา และให้ผู้คัดค้านชำระค่าเสียหายและค่าใช้จ่ายพร้อมดอกเบี้ย รวมถึงส่งมอบเอกสารที่เกี่ยวข้อง ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านและข้อเรียกร้องแย้งขอให้ผู้ร้องทั้งสามชำระเงิน 9,800,000 บาท แก่ผู้คัดค้าน พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่1 กุมภาพันธ์ 2561 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระครบถ้วน และต้องชำระค่าขาดประโยชน์ให้แก่ผู้คัดค้าน 200,000 บาท ต่อเดือน นับแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2561 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระครบถ้วน วันที่ 13 ธันวาคม 2562 คณะอนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาดโดยวินิจฉัยว่า ผู้ร้องทั้งสามกระทำผิดสัญญา ผู้คัดค้านมีสิทธิที่จะไม่โอนกรรมสิทธิ์ในสิ่งปลูกสร้างให้จนกว่าจะได้รับการชำระเงินเต็มจำนวน และมีคำชี้ขาดให้คู่พิพาทจะต้องดำเนินการโอนกรรมสิทธิ์วิลล่าที่สำนักงานที่ดินภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำชี้ขาด ให้ผู้ร้องที่ 1 และที่ 2 เข้าทำสัญญาเงินกู้หรือบันทึกข้อตกลงค้ำประกันการชำระหนี้ (MOA of Obligation Payment Security) และสัญญาจำนำหุ้นตามภาพผนวก G และ H ตามลำดับ ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำชี้ขาด และให้ผู้ร้องทั้งสามร่วมกันชำระดอกเบี้ยรวม 1,067,260 บาท สำหรับคำขออื่นของผู้ร้องทั้งสามและผู้คัดค้าน อนุญาโตตุลาการเห็นว่าไม่มีมูล จึงไม่ชี้ขาดให้ตามขอ ต่อมาผู้ร้องทั้งสามยื่นคำร้องขอให้ชี้แจงคำชี้ขาด วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2563 คณะอนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาดเพิ่มเติมซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคำชี้ขาดฉบับลงวันที่ 13 ธันวาคม 2562 โดยในประเด็นการโอนกรรมสิทธิ์สิ่งปลูกสร้างคณะอนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาดเพิ่มเติมว่า ในสถานการณ์นี้คณะอนุญาโตตุลาการจะสั่งให้เพิกถอนการโอนกรรมสิทธิ์ในสิ่งปลูกสร้างระหว่างผู้คัดค้านและนางสาวเอื้อมพร ซึ่งเป็นผู้รับโอน และจะต้องโอนกรรมสิทธิ์ในสิ่งปลูกสร้างกลับคืนไปยังผู้คัดค้าน และในทางกลับกันจะต้องดำเนินการในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจของผู้คัดค้านยอมรับการโอนกรรมสิทธิ์ในสิ่งปลูกสร้างกลับไปยังผู้คัดค้าน หรือในทางกลับกันตามมาตรา 5 และมาตรา 155 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ผู้คัดค้านได้โอนกรรมสิทธิ์สิ่งปลูกสร้างให้แก่นางสาวเอื้อมพร
คดีมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยประการแรกว่า การยอมรับหรือบังคับตามคำชี้ขาดจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือไม่ เห็นว่า ขณะที่ผู้ร้องทั้งสามยื่นคำเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการ ผู้คัดค้านได้โอนกรรมสิทธิ์ในสิ่งปลูกสร้างไปให้แก่นางสาวเอื้อมพรไปก่อนแล้ว แม้นางสาวเอื้อมพรจะเป็นอดีตกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนผู้คัดค้าน แต่ก็ถือว่าเป็นคนละบุคคลกันกับผู้คัดค้านและไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีในชั้นอนุญาโตตุลาการ การที่คณะอนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาดและคำชี้ขาดเพิ่มเติมซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคำชี้ขาดว่า ให้ผู้ร้องที่ 1 และที่ 2 เข้าทำสัญญาเงินกู้หรือบันทึกข้อตกลงค้ำประกันการชำระหนี้ (MOA of Obligation Payment Security) และสัญญาจำนำหุ้น และในสถานการณ์นี้จะสั่งให้เพิกถอนการโอนกรรมสิทธิ์ในสิ่งปลูกสร้างระหว่างผู้คัดค้านและนางสาวเอื้อมพรซึ่งเป็นผู้รับโอน และจะต้องโอนกรรมสิทธิ์ในสิ่งปลูกสร้างกลับคืนไปยังผู้คัดค้าน และในทางกลับกันจะต้องดำเนินการในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจของผู้คัดค้านยอมรับการโอนกรรมสิทธิ์ในสิ่งปลูกสร้างกลับไปยังผู้คัดค้าน อันเป็นคำชี้ขาดที่มีผลบังคับให้ผู้คัดค้านชำระหนี้ตอบแทนโดยให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนกรรมสิทธิ์ในสิ่งปลูกสร้างระหว่างผู้คัดค้านกับนางสาวเอื้อมพรกลับมาเป็นของผู้คัดค้านแล้วโอนให้แก่ฝ่ายผู้ร้อง ซึ่งการจะเพิกถอนนิติกรรมระหว่างผู้คัดค้านกับนางสาวเอื้อมพรได้ต้องปรากฏว่าผู้คัดค้านกับนางสาวเอื้อมพรเป็นคู่พิพาทหรือคู่ความในคดี จึงจะบังคับได้ เมื่อนางสาวเอื้อมพรเป็นบุคคลภายนอกไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีในชั้นอนุญาโตตุลาการ การบังคับตามคำชี้ขาดในกรณีนี้จึงไม่อาจบังคับกับนางสาวเอื้อมพรบุคคลนอกคดีได้ คำชี้ขาดในส่วนที่จะให้เพิกถอนการโอนกรรมสิทธิ์ในสิ่งปลูกสร้างระหว่างผู้คัดค้านและนางสาวเอื้อมพรซึ่งเป็นผู้รับโอนและจะต้องโอนกรรมสิทธิ์ในสิ่งปลูกสร้างกลับคืนไปยังผู้คัดค้าน และในทางกลับกันจะต้องดำเนินการในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจของผู้คัดค้านยอมรับการโอนกรรมสิทธิ์ในสิ่งปลูกสร้างกลับไปยังผู้คัดค้านจึงไม่ชอบ ดังนั้น การยอมรับหรือบังคับตามคำชี้ขาดในส่วนนี้ย่อมเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน นอกจากนี้ ในส่วนที่คณะอนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาดให้ผู้ร้องที่ 1 และที่ 2 เข้าทำสัญญาเงินกู้หรือบันทึกข้อตกลงค้ำประกันการชำระหนี้ (MOA of Obligation Payment Security) และสัญญาจำนำหุ้นตามภาคผนวก G และ H ตามลำดับ ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำชี้ขาด ทั้งที่ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านและข้อเรียกร้องแย้งโดยขอเพียงให้ผู้ร้องทั้งสามชำระเงิน 9,800,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยและค่าขาดประโยชน์แก่ผู้คัดค้าน โดยไม่ได้มีคำขอให้ผู้ร้องที่ 1 และที่ 2 เข้าทำสัญญาเงินกู้หรือบันทึกข้อตกลงค้ำประกันการชำระหนี้ (MOA of Obligation Payment Security) และสัญญาจำนำหุ้นตามภาคผนวก G และ H แต่อย่างใด จึงเป็นคำชี้ขาดที่เกินคำขอของผู้คัดค้าน ไม่ชอบตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 มาตรา 37 วรรคสอง ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 เมื่อวินิจฉัยดังนี้แล้วอุทธรณ์ของผู้ร้องทั้งสามในข้ออื่นไม่จำต้องวินิจฉัยที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย
พิพากษากลับ ให้เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการและคำชี้ขาดเพิ่มเติม คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยกค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ