โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 3,065,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยทั้งสองปรับปรุงแก้ไขระบบสาธารณูปโภคให้มีมาตรฐานและสามารถรองรับปัญหาน้ำท่วมได้และให้จำเลยทั้งสองชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเชิงลงโทษแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยทั้งสองโดยกำหนดค่าทนายความให้จำเลยที่ 1 เป็นเงิน 20,000 บาท จำเลยที่ 2 เป็นเงิน 15,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา โดยศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคอนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภควินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติโดยคู่ความมิได้ฎีกาโต้แย้งเป็นอย่างอื่นว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัด ประกอบธุรกิจค้าที่ดิน จัดสรรที่ดินและบ้านเพื่อจำหน่าย จำเลยที่ 2 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดประกอบธุรกิจเช่นเดียวกับจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2552 โจทก์ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 36349 เลขที่ดิน 362 จากจำเลยที่ 2 เมื่อเดือนตุลาคม 2554 เกิดอุทกภัยน้ำท่วมหมู่บ้านในโครงการคาซ่า วิลล์ ราชพฤกษ์ – รัตนาธิเบศร์ 2 และน้ำท่วมเข้าไปภายในบ้านโจทก์
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่โจทก์ได้รับอนุญาตให้ฎีกาว่า ภาระการพิสูจน์เกี่ยวกับการถมที่ดินตกอยู่แก่โจทก์หรือจำเลยทั้งสอง เห็นว่า พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 7 บัญญัติว่า กระบวนพิจารณาคดีผู้บริโภคให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้และข้อกำหนดของประธานศาลฎีกาตามมาตรา 6 ในกรณีที่ไม่มีบทบัญญัติและข้อกำหนดดังกล่าวให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลม ดังนั้น ภาระการพิสูจน์ในคดีผู้บริโภคยังคงเป็นไปตามหลักกฎหมายเกี่ยวกับการสืบพยานคดีแพ่งทั่วไปตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง และบทสันนิษฐานความรับผิดต่าง ๆ ในกฎหมายสารบัญญัติ เว้นแต่พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 จะบัญญัติไว้เป็นการเฉพาะ ดังเช่น ตามมาตรา 29 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ดังนั้น เมื่อโจทก์ฟ้องว่า โจทก์และจำเลยที่ 2 ทำสัญญาซื้อขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างตามคำฟ้อง ต่อมาประมาณต้นเดือนตุลาคม 2554 น้ำท่วมในโครงการและท่วมเข้ามาในตัวบ้านโจทก์ เนื่องจากจำเลยทั้งสองปรับปรุงระดับพื้นดินต่ำเป็นแอ่งกระทะไม่เรียบเสมอกัน ระดับพื้นบ้านชั้นล่างของโจทก์มิได้มีระดับสูงกว่าถนนราชพฤกษ์หน้าโครงการ 0.60 เมตร ตามที่ได้ยื่นขออนุญาตจัดสรรเป็นเหตุให้โจทก์ได้ความเสียหาย จำเลยทั้งสองให้การว่า บ้านโจทก์มิได้เกิดความเสียหายจากการก่อสร้างทั้งในส่วนของงานฐานรากและโครงสร้างสภาพโดยรวมของบ้านยังมั่นคง แข็งแรง และสามารถใช้ประโยชน์พักอาศัยได้เป็นอย่างดี และย่อมมีการเสื่อมสภาพไปตามสิ่งแวดล้อม กาลเวลาและการใช้งานตามสมควรเท่านั้น ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับบ้านโจทก์เกิดจากช่วงเดือนตุลาคม 2554 เกิดอุทกภัยครั้งร้ายแรงในหลายจังหวัดทั่วประเทศรวมถึงอำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ความเสียหายไม่ได้เกิดจากการกระทำของจำเลยทั้งสอง เห็นว่า จากคำฟ้องโจทก์และคำให้การของจำเลยทั้งสอง จำเลยที่ 2 ต้องถมที่ดินภายในโครงการจัดสรรที่ดินไม่ต่ำกว่าถนนสาธารณะหน้าโครงการซึ่งคือถนนราชพฤกษ์ และในช่วงเดือนตุลาคม 2554 เกิดเหตุน้ำท่วมอำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี และเป็นเหตุให้บ้านโจทก์ตามคำฟ้องได้รับความเสียหาย ดังนั้นในเบื้องต้นย่อมทำให้เข้าใจว่าหากจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจดำเนินการถมที่ดินให้มีความสูงไม่ต่ำกว่าถนนสาธารณะหน้าโครงการจัดสรรที่ดินตามที่ได้รับอนุญาตให้จัดสรรที่ดินแล้ว เมื่อเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมโจทก์จะไม่ได้รับความเสียหายหรือหากได้รับความเสียหายจะเกิดความเสียหายเพียงเล็กน้อยเท่านั้น จำเลยทั้งสองอ้างว่า จำเลยที่ 2 ได้ดำเนินการถมที่ดินตามที่ได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการจัดสรรที่ดินแล้ว แต่เหตุน้ำท่วมในช่วงเดือนตุลาคม 2554 เป็นอุทกภัยครั้งร้ายแรงเกิดขึ้นในหลายจังหวัดทั่วประเทศไทยเป็นเหตุให้เกิดความเสียหาย จึงเป็นข้อเท็จจริงที่จำเลยทั้งสองอ้างขึ้น นอกจากนี้จำเลยทั้งสองให้การว่า สภาพของบ้านมีการเสื่อมสภาพไปตามสิ่งแวดล้อมกาลเวลาและการใช้งานตามสมควร โดยจำเลยทั้งสองนำสืบว่า สภาพทางธรณีวิทยาของพื้นที่ก่อสร้าง ณ วันก่อนการก่อสร้างโครงการ ชั้นดินด้านบนเป็นชั้นดินเหนียวอ่อนถึงอ่อนมากที่มีความหนากว่า 10 เมตร เป็นชั้นดินที่ก่อให้เกิดการทรุดตัวในปริมาณสูง ดังนั้น ข้อเท็จจริงที่ว่า สภาพของที่ดินของพื้นที่ก่อสร้างในขณะทำการก่อสร้างจะมีอยู่อย่างไร เป็นชั้นดินเหนียวอ่อนถึงอ่อนมากที่มีความหนากว่า 10 เมตร ก่อให้เกิดการทรุดตัวในปริมาณสูงหรือไม่ จำเลยที่ 2 ทำการปรับถมดินไม่ต่ำกว่าถนนสาธารณะหน้าโครงการแล้วหรือไม่ เป็นข้อเท็จจริงที่จำเลยทั้งสองกล่าวอ้างและอยู่ในความรู้เห็นโดยเฉพาะของจำเลยทั้งสองที่เป็นผู้ประกอบธุรกิจ ตามความในมาตรา 29 แห่งพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 ภาระการพิสูจน์ในประเด็นดังกล่าวจึงตกอยู่แก่จำเลยทั้งสอง
ปัญหาต้องวินิจฉัยประการต่อไปมีว่า จำเลยที่ 2 ปรับปรุงพื้นดินภายในโครงการพิพาทต่ำกว่าถนนสาธารณะ (ถนนราชพฤกษ์) ไม่ตรงตามแบบของโครงการจัดสรรที่ดินที่จำเลยที่ 2 ขออนุญาต หรือไม่ เห็นว่า จำเลยทั้งสองนำสืบอ้างว่า ในช่วงเดือนตุลาคม 2554 ซึ่งเป็นช่วงเกิดเหตุ เกิดอุทกภัยร้ายแรงในหลายจังหวัดทั่วประเทศไทย ซึ่งรวมถึงอำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี อันเป็นที่ตั้งของโครงการจัดสรรที่ดินตามคำฟ้อง และมีน้ำท่วมถนนราชพฤกษ์ในความสูง 70 เซนติเมตร ซึ่งภาพถ่าย ก็ไม่ปรากฏชัดเจนที่แสดงให้เห็นว่าระดับความสูงของน้ำจากบริเวณไหล่ทางจะมีความสูงถึง 70 เซนติเมตร ตามที่จำเลยทั้งสองกล่าวอ้าง กลับปรากฏจากภาพถ่าย ตามทางนำสืบของโจทก์ว่าเจ้าของบ้านภายในโครงการจัดสรรต่างนำรถยนต์มาจอดหนีน้ำท่วมบริเวณริมถนนราชพฤกษ์ซึ่งเป็นบริเวณไหล่ทางด้านหน้าโครงการจัดสรร พยานหลักฐานในสำนวนจึงยังรับฟังไม่ได้ชัดเจนว่าระดับความสูงของน้ำท่วมในขณะเกิดเหตุมีความสูงเท่าใด และมีความสูงถึง 70 เซนติเมตร ตามที่จำเลยทั้งสองกล่าวอ้างหรือไม่ นอกจากนี้ที่จำเลยทั้งสองนำสืบกล่าวอ้างว่า สภาพทางธรณีวิทยาของโครงการ ชั้นดินด้านบนเป็นชั้นดินเหนียวอ่อนถึงอ่อนมากที่มีความหนากว่า 10 เมตร และได้มีการอัดดินหนาประมาณ 2 ถึง 3 เมตร โดยจำเลยที่ 2 ได้ทำการสำรวจชั้นดินในปี 2550 ซึ่งเป็นปีที่ทำการก่อสร้างด้วย หากเป็นจริงตามที่จำเลยทั้งสองนำสืบดังกล่าว จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการจัดสรรที่ดินจึงน่าจะต้องทราบถึงสภาพทางธรณีวิทยาของดินว่าที่ดินดังกล่าวเป็นดินเหนียวอ่อนมีความหนากว่า 10 เมตร และมีระดับที่ต่ำกว่าถนนสาธารณะมากกว่า 2 เมตร และการถมดินดังกล่าวจะทำให้เกิดการทรุดตัวมาแล้วตั้งแต่ต้น ซึ่งจำเลยทั้งสองต้องคำนึงถึงสภาพปัญหาดังกล่าวโดยหาทางป้องกันด้วยการบดอัดที่ดินภายในโครงการให้มีความหนาแน่นเพื่อป้องกันการทรุดตัวของที่ดินหรือปลูกสร้างตัวบ้านบนเสาเข็มที่สูงกว่าถนนนอกหรือภายในโครงการมากกว่าที่ออกแบบไว้ การที่จำเลยทั้งสองอ้างว่า จำเลยที่ 2 ถมดินในโครงการจัดสรรดังกล่าวมีระดับความสูงกว่าถนนสาธารณะหน้าโครงการจัดสรรเพียง 5 เซนติเมตร จากระดับไหล่ทางและต่อมาเกิดการทรุดตัวเพราะปัจจัยดังกล่าวในระดับแนวดิ่งถึง 17 เซนติเมตร ทำให้ระดับพื้นดินของถนนภายในโครงการจัดสรรที่ดินดังกล่าวมีระดับต่ำกว่าถนนราชพฤกษ์ซึ่งเป็นถนนสาธารณะหน้าโครงการจัดสรร 12 เซนติเมตร เป็นเหตุให้เกิดน้ำท่วมขังนั้น เป็นข้ออ้างที่ฟังไม่ขึ้น และปรากฏจากแบบของโครงการจัดสรรที่ดินที่จำเลยที่ 2 ขออนุญาตว่า จำเลยที่ 2 จะทำการถมดินบดอัดแน่นด้วยรถแทรกเตอร์ให้พื้นดินบริเวณที่ดินที่ทำการจัดสรรเรียบเสมอกัน โดยมีระดับไม่ต่ำกว่าถนนสาธารณะ แต่กลับปรากฏตามรูปตัดแสดงดินถมว่าระดับพื้นดินภายในโครงการจัดสรรที่ดินมีระดับที่ไม่เท่ากัน ดังนั้นพยานหลักฐานของจำเลยทั้งสองจึงยังไม่อาจรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้ถมดินให้มีระดับความสูงกว่าถนนสาธารณะหน้าโครงการจัดสรรตามแบบของโครงการจัดสรรที่ดินที่จำเลยที่ 2 ขออนุญาตและตามคำพรรณนา แม้จะปรากฏตามสำนวนว่าในปี 2554 เกิดเหตุน้ำท่วมสูงในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปริมณฑล ซึ่งรวมถึงบริเวณโครงการจัดสรรตามฟ้องก็ตาม แต่หากจำเลยที่ 2 ทำการถมดินและก่อสร้างหมู่บ้านจัดสรรให้เป็นไปตามมาตรฐานและตามคำพรรณนาแล้วก็จะสามารถป้องกันความเสียหายดังกล่าวหรือบรรเทาความเสียหายได้ ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าเหตุการณ์น้ำท่วมมิได้เกิดจากการที่ระดับของพื้นผิวถนนที่มีการถมต่ำว่าถนนสาธารณะเพียงอย่างเดียว จำเลยที่ 2 ทำการปรับปรุงพื้นดินภายในโครงการพิพาทไม่ต่ำกว่าถนนสาธารณะ (ถนนราชพฤกษ์) บริเวณหน้าโครงการแล้ว นั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยประการสุดท้ายมีว่า จำเลยทั้งสองต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ เพียงใด ปัญหานี้แม้ศาลล่างทั้งสองยังไม่ได้วินิจฉัย แต่เมื่อคดีขึ้นสู่การพิจารณาของศาลฎีกาและคู่ความได้นำสืบพยานหลักฐานเข้าสู่สำนวนครบถ้วนแล้ว คดีพอวินิจฉัยได้ จึงเห็นควรวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวให้เสร็จสิ้นไปโดยไม่ได้ย้อนสำนวนไปให้ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยก่อน เห็นว่า โจทก์อ้างตนเองนำสืบว่า โจทก์ได้รับความเสียหายในส่วนตัวบ้าน คือ ห้องน้ำชั้นล่าง ห้องโถง ห้องน้ำห้องโถง ห้องแพนทรี่ ห้องครัว ภายนอกบ้าน ห้องแม่บ้านและห้องน้ำแม่บ้าน และทรัพย์สินอื่น ๆ ต้องทำการแก้ไขด้วยการดีดบ้าน ค่าใช้จ่ายหลังจากการยกบ้าน การซ่อมแซมระบบระบายน้ำ สวน ค่าขาดประโยชน์จากการใช้ ค่าเสียหายเป็นค่าเช่าบ้านระหว่างไม่มีที่พัก และค่าเสียหายอื่น ๆ รวมเป็นเงิน 3,040,350 บาท โดยจำเลยทั้งสองไม่ได้นำสืบโต้แย้งให้เห็นเป็นอย่างอื่น จึงฟังได้ว่าโจทก์ได้รับความเสียหายในจำนวนดังกล่าวจริง แต่ปรากฏข้อเท็จจริงตามสำนวนว่า ในปี 2554 เกิดเหตุน้ำท่วมใหญ่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ซึ่งรวมถึงบริเวณโครงการจัดสรรตามฟ้อง แม้จำเลยที่ 2 จะสร้างบ้านได้มาตรฐานและเป็นไปตามคำพรรณนาแล้วหรือไม่ก็ตาม ความเสียหายดังกล่าวน่าเชื่อว่าก็ยังเกิดแก่โจทก์อยู่เช่นเดิม เพียงแต่ความเสียหายจะไม่มากเท่าที่ปรากฏตามคำฟ้อง ดังนั้น ความเสียหายจึงไม่ได้เกิดจากการที่จำเลยที่ 2 สร้างบ้านไม่ได้มาตรฐานและไม่เป็นไปตามคำพรรณนาเพียงอย่างเดียว เมื่อพิจารณาถึงความเสียหายทั้งหมดแล้ว จึงเห็นควรกำหนดให้จำเลยที่ 2 รับผิดต่อโจทก์เป็นเงิน 1,000,000 บาท ส่วนจำเลยที่ 1 แม้ว่าจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 จะเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากกัน แต่เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยที่ 2 เป็นบริษัทในเครือของจำเลยที่ 1 โดยมีกรรมการบางคนเป็นคนเดียวกัน และจำเลยที่ 1 ได้มีการออกหนังสือ โดยกล่าวในทำนองว่าจำเลยที่ 2 เป็นกิจการของจำเลยที่ 1 ทั้งปรากฏด้วยว่าจำเลยที่ 1 ใช้เครื่องหมายการค้าว่า Q House และมีการออกเอกสารการโฆษณาร่วมกันระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 ป้ายโฆษณาของจำเลยที่ 2 ก็ยังมีเครื่องหมายการค้า Q House ของจำเลยที่ 1 การระบุถึงเว็บไซต์ที่ใช้ในการประชาสัมพันธ์ว่า www.qh.co.th ซึ่งคือเว็บไซต์เดียวกันกับของจำเลยที่ 1 แม้ในการทำสัญญาซื้อขาย และสัญญาจองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นการทำสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ก็ตาม แต่พฤติการณ์ของจำเลยทั้งสองดังกล่าวย่อมฟังได้โดยแจ้งชัดว่า จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ได้ร่วมกันดำเนินธุรกิจโครงการจัดสรรตามคำฟ้องโดยต่างมีประโยชน์ร่วมกัน จำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 2 รับผิดในค่าเสียหายดังกล่าวแก่โจทก์ ส่วนที่โจทก์มีคำขอบังคับให้จำเลยทั้งสองปรับปรุงแก้ไขระบบสาธารณูปโภคให้มีมาตรฐานและสามารถรองรับปัญหาน้ำท่วมได้ โจทก์ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่าจำเลยทั้งสองจัดทำสาธารณูปโภคไม่ได้มาตรฐานอย่างไร และคำขอของโจทก์ไม่ชัดแจ้งว่าจะให้จำเลยทั้งสองปรับปรุงสาธารณูปโภคในส่วนใด ศาลฎีกาจึงไม่อาจบังคับคำขอในส่วนนี้ให้ได้ ส่วนที่โจทก์ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการลงโทษแก่โจทก์นั้น เห็นว่า จำเลยทั้งสองเป็นผู้ประกอบธุรกิจค้าที่ดิน ทำการจัดสรรที่ดินและบ้านเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยโดยที่ดินและบ้านในโครงการของจำเลยทั้งสองมีราคาสูงแต่จำเลยทั้งสองถมดินปรับระดับถนนในโครงการและพื้นดินในโครงการรวมถึงพื้นดินบริเวณบ้านโจทก์มีระดับต่ำกว่าถนนสาธารณะหน้าโครงการ (ถนนราชพฤกษ์) รวมทั้งพื้นบ้านชั้นที่หนึ่งของโจทก์มีระดับต่ำกว่าตำแหน่งที่ถูกต้อง ไม่เป็นไปตามสัญญาจะซื้อจะขายที่จำเลยที่ 2 ทำกับโจทก์ซึ่งเป็นผู้บริโภค ตามพฤติการณ์ดังกล่าวถือได้ว่าจำเลยทั้งสองจงใจไม่ปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อจะขายและคำขออนุญาตจัดสรรที่ดินและบ้านในโครงการคาซ่า วิลล์ ราชพฤกษ์ – รัตนาธิเบศร์ 2 มาตั้งแต่แรก มีเจตนาเอาเปรียบผู้บริโภคโดยไม่เป็นธรรมทำให้ผู้บริโภคได้รับความเสียหายเพื่อประโยชน์ในทางการค้าโดยไม่คำนึงความเสียหายที่จะเกิดขึ้น จึงสมควรบังคับให้จำเลยทั้งสองชำระค่าเสียหายเพื่อการลงโทษแก่โจทก์ด้วย โดยกำหนดให้จำเลยทั้งสองชำระค่าเสียหายเพื่อการลงโทษให้แก่โจทก์ครึ่งหนึ่งของความเสียหายที่โจทก์ได้รับตามที่วินิจฉัยไว้ข้างต้นเป็นเงิน 500,000 บาท
พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 1,500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 1,000,000 บาท อันเป็นค่าเสียหายที่แท้จริงที่โจทก์ได้รับ (ไม่รวมค่าเสียหายเพื่อการลงโทษ) นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 18 สิงหาคม 2557) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้ชำระค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความสามชั้นศาลรวม 50,000 บาท สำหรับค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลที่โจทก์ได้รับยกเว้นนั้น ให้จำเลยทั้งสองนำมาชำระต่อศาลในนามของโจทก์เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ชำระแทนเท่าทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีในชั้นฎีกา คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก