โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ที่ 4 และที่ 6 ร่วมกันชำระเงิน 72,478,378 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 69,230,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง และให้จำเลยที่ 5 และที่ 7 ชำระหนี้จำนวนดังกล่าวในฐานะผู้ค้ำประกันแก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยทั้งเจ็ดให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ชำระเงิน 60,200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 5 มิถุนายน 2559 ถึงวันที่ 4 มิถุนายน 2560 คิดดอกเบี้ยได้เท่าใดให้นำทบกับเงินต้นแล้วคิดดอกเบี้ยอัตราดังกล่าวของเงินที่ทบเข้ากันนั้นต่อไปจนถึงวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 26 กันยายน 2560) หลังวันฟ้องให้คิดดอกเบี้ยอัตราดังกล่าวแบบไม่ทบต้นต่อไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 1 ให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ที่ 1 โดยกำหนดค่าทนายความ 30,000 บาท ยกฟ้องโจทก์ที่ 2 และให้ยกฟ้องโจทก์ที่ 1 สำหรับจำเลยที่ 4 ถึงที่ 7 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์ที่ 1 กับจำเลยที่ 4 ถึงที่ 7 ให้เป็นพับ
โจทก์ที่ 1 และจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนโจทก์ที่ 2 กับจำเลยทั้งเจ็ดในศาลชั้นต้นและค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ที่ 1 และจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า โจทก์ที่ 1 กับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 มีฐานะเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด โจทก์ที่ 2 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจของโจทก์ที่ 1 จำเลยที่ 4 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 6 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2556 โจทก์ที่ 1 ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินสองแปลงคือ ที่ดินโฉนดเลขที่ 1460 และเลขที่ 1965 ตำบลป่าตอง อำเภอกะทู้ จังหวัดภูเก็ต กับจำเลยที่ 5 และที่ 6 ในราคา 440,000,000 บาท จำเลยที่ 5 และที่ 6 วางเงินมัดจำและชำระราคาที่ดินแก่โจทก์ที่ 1 แล้วทั้งสิ้น 44,000,000 บาท แต่เมื่อถึงวันนัดโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน จำเลยที่ 5 และที่ 6 ไม่สามารถหาเงินค่าที่ดินส่วนที่เหลือ 396,000,000 บาท มาชำระแก่โจทก์ที่ 1 ได้ ครั้นวันที่ 5 มิถุนายน 2557 โจทก์ที่ 1 ทำสัญญาขายและจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ในราคา 340,000,000 บาท จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ชำระราคาที่ดินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์ที่ 1 แล้ว และในวันเดียวกันจำเลยที่ 4 และที่ 6 ทำสัญญากู้ยืมเงินโจทก์ที่ 2 รวมสองฉบับ ฉบับละ 28,000,000 บาท รวมเป็นเงิน 56,000,000 บาท โดยฉบับแรกมีจำเลยที่ 4 ลงลายมือชื่อเป็นผู้กู้และมีจำเลยที่ 5 เป็นผู้ค้ำประกัน และฉบับที่สองมีจำเลยที่ 6 ลงลายมือชื่อเป็นผู้กู้และมีจำเลยที่ 7 เป็นผู้ค้ำประกัน ตามสัญญากู้ยืมเงินและสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.21 ถึง จ.24 เมื่อครบกำหนดชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินในวันที่ 5 มิถุนายน 2559 จำเลยทั้งเจ็ดไม่ชำระหนี้ โดยศาลอุทธรณ์ภาค 8 ฟังข้อเท็จจริงว่า ในการทำสัญญากู้ยืมเงินโจทก์ที่ 2 กระทำในฐานะตัวแทนของโจทก์ที่ 1 ผู้ให้กู้ ส่วนจำเลยที่ 4 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 6 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 และที่ 3 และยกฟ้องโจทก์ทั้งสองสำหรับจำเลยที่ 4 และที่ 6 เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้ยกฟ้อง โจทก์ทั้งสองไม่ฎีกาคดีในส่วนของจำเลยที่ 4 และที่ 6 จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ที่ 1 ว่า โจทก์ที่ 1 มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 5 และที่ 7 หรือไม่ โดยโจทก์ที่ 1 อ้างว่า สัญญากู้ยืมเงินและค้ำประกันตามเอกสารหมาย จ.21 ถึง จ.24 ทำขึ้นก่อนมีการแก้ไขบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ.2557 จึงต้องบังคับตามกฎหมายเดิมตามความในมาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว และบทบัญญัติมาตรา 686 วรรคหนึ่ง ที่แก้ไขใหม่ ไม่ใช่บทตัดฟ้องว่าหากไม่มีหนังสือบอกกล่าวไปยังผู้ค้ำประกันก่อน โจทก์ที่ 1 จะไม่มีอำนาจฟ้อง เพียงแต่ลูกหนี้จะหลุดพ้นจากความรับผิดในดอกเบี้ยหลังพ้นกำหนดเวลา 60 วัน ตามวรรคสองแห่งมาตราดังกล่าว เห็นว่า แม้สัญญากู้ยืมเงินและสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.21 ถึง จ.24 จะทำขึ้นก่อนวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2558 ซึ่งเป็นวันที่พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ.2557 มีผลใช้บังคับ แต่เมื่อจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ซึ่งเป็นลูกหนี้ชั้นต้นผิดนัดไม่ชำระหนี้ในวันที่ 5 มิถุนายน 2559 ซึ่งเป็นวันครบกำหนดชำระเงินตามสัญญากู้ยืมเงิน จึงเป็นกรณีที่ลูกหนี้ผิดนัดหลังจากวันที่พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) ดังกล่าวมีผลใช้บังคับแล้ว ซึ่งตามมาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ดังกล่าวบัญญัติว่า บทบัญญัติของพระราชบัญญัตินี้ไม่กระทบกระเทือนถึงสัญญาที่ได้ทำไว้ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ เว้นแต่กรณีที่พระราชบัญญัตินี้บัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น และมาตรา 19 บัญญัติว่า ในกรณีที่ลูกหนี้ผิดนัดนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ สิทธิและหน้าที่ของเจ้าหนี้และผู้ค้ำประกันให้เป็นไปตามมาตรา 686 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 686 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า เมื่อลูกหนี้ผิดนัดให้เจ้าหนี้มีหนังสือบอกกล่าวไปยังผู้ค้ำประกันภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ลูกหนี้ผิดนัด และไม่ว่ากรณีจะเป็นประการใดเจ้าหนี้จะเรียกให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ก่อนที่หนังสือบอกกล่าวจะไปถึงผู้ค้ำประกันมิได้ ดังนั้น เมื่อจำเลยที่ 1 ผิดนัดภายหลังวันที่พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ.2557 มีผลใช้บังคับแล้ว โจทก์ที่ 1 ผู้เป็นเจ้าหนี้ต้องมีหนังสือบอกกล่าวไปยังจำเลยที่ 5 และที่ 7 ผู้ค้ำประกันภายในหกสิบวัน นับแต่วันที่ 5 มิถุนายน 2559 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ผิดนัด เนื่องจากไม่ว่ากรณีจะเป็นประการใดเจ้าหนี้จะเรียกให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ก่อนที่หนังสือบอกกล่าวจะไปถึงผู้ค้ำประกันมิได้ เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ที่ 1 มีหนังสือบอกกล่าวไปยังจำเลยที่ 5 และที่ 7 ผู้ค้ำประกันให้ชำระหนี้ตามบทบัญญัติแห่งมาตราดังกล่าวอันเป็นเหตุเพียงทำให้โจทก์ที่ 1 ไม่มีอำนาจฟ้องเรียกให้จำเลยที่ 5 และที่ 7 ชำระหนี้เท่านั้นไม่ใช่เป็นกรณีที่เจ้าหนี้มีหนังสือบอกกล่าวภายในกำหนดเวลาหกสิบวันหรือพ้นกำหนดเวลาหกสิบวันอันต้องบังคับตามมาตรา 686 วรรคสอง ที่แก้ไขใหม่ ดังที่โจทก์ที่ 1 อ้าง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยมานั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยประการต่อมาตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ว่า การมอบอำนาจให้ฟ้องคดีของโจทก์ที่ 1 ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 อ้างว่า หนังสือมอบอำนาจของโจทก์ทั้งสองติดอากรแสตมป์ไม่ครบถ้วนและไม่ได้ขีดฆ่า จึงต้องห้ามมิให้รับฟังเป็นพยานหลักฐานตามประมวลรัษฎากร มาตรา 118 เห็นว่า โจทก์ทั้งสองบรรยายฟ้องว่า โจทก์มอบอำนาจให้นางสาวบุญมา ดำเนินคดีนี้แทนโจทก์ทั้งสอง จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ก็ไม่ได้ให้การปฏิเสธว่า โจทก์ทั้งสองไม่ได้มอบอำนาจดังกล่าวไว้ คดีจึงไม่มีประเด็นที่โจทก์ทั้งสองจะต้องนำสืบหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานอีกว่าถูกต้องหรือไม่ และข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่คู่ความรับกันแล้วว่า โจทก์ที่ 1 มอบอำนาจให้ผู้รับมอบอำนาจฟ้องคดีโดยชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ประการสุดท้ายว่า สัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ.21 และ จ.23 ไม่ได้ขีดฆ่าอากรแสตมป์จะรับฟังเป็นพยานหลักฐานในคดีนี้ได้หรือไม่ เห็นว่า เมื่อจำเลยที่ 4 และที่ 6 ให้การยอมรับว่าลงลายมือชื่อในสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ.21 และ จ.23 จริง เพียงแต่อ้างว่าไม่มีมูลหนี้ คดีจึงไม่มีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยว่าโจทก์ที่ 1 โดยโจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นตัวแทนกับจำเลยที่ 4 และที่ 6 ทำสัญญากู้ยืมเงินฉบับดังกล่าวกันจริงหรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 4 และที่ 6 ทำสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวจริง ส่วนปัญหาว่าจำเลยที่ 4 ทำสัญญากู้ยืมเงินในฐานะเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 6 ทำสัญญากู้ยืมเงินในฐานะเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 และที่ 3 อันจะทำให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ต้องผูกพันตามสัญญากู้ยืมเงินในฐานะเป็นตัวการหรือไม่นั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 8 ได้วินิจฉัยแล้วว่า พยานโจทก์ทั้งสองมีความสอดคล้องเชื่อมโยงกันโดยเฉพาะเรื่องจำนวนเงินมัดจำและราคาที่ดินที่ฝ่ายจำเลยชำระให้แก่โจทก์ที่ 1 ตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินกับจำนวนเงินที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ได้รับอนุมัติสินเชื่อจากธนาคาร ประกอบกับความสัมพันธ์ของจำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 1 และความสัมพันธ์ของจำเลยที่ 6 ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 4 เป็นตัวแทนจำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 6 เป็นตัวแทนจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในการทำสัญญากู้ยืมเงิน จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ในฐานะตัวการต้องรับผิดตามสัญญากู้ยืมเงิน คำวินิจฉัยศาลอุทธรณ์ภาค 8 ดังกล่าวเป็นการวินิจฉัยว่าสัญญากู้ยืมเงินสมบูรณ์มีผลบังคับได้ตามกฎหมายและผูกพันจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ในฐานะตัวการ จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 มิได้ฎีกาโต้แย้งข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยในส่วนนี้ กรณีจึงไม่จำต้องใช้สัญญากู้ยืมเงินเป็นพยานหลักฐานและไม่ต้องพิจารณาปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ที่ว่า สัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ.21 และ จ.23 ไม่ได้ขีดฆ่าอากรแสตมป์จะรับฟังได้หรือไม่อีกต่อไป ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 เห็นว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 กู้ยืมเงินโจทก์ที่ 1 และต้องรับผิดต่อโจทก์ที่ 1 ชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ