โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90, 137, 267, 268
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่ก่อนสืบพยานโจทก์ จำเลยถอนคำให้การเดิม และให้การใหม่เป็นรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137, 267, 268 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 267 เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษฐานใช้เอกสารเท็จตามมาตรา 268 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 267 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 6 เดือน และปรับ 20,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 3 เดือน และปรับ 10,000 บาท รอการลงโทษไว้ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137, 267 เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทลงโทษฐานแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสาร ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดกระทงเดียวตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 2 ปี ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี ยกฟ้องข้อหาความผิดฐานใช้เอกสารอันเกิดจากการแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยฎีกาปัญหาข้อกฎหมายว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานใช้เอกสารอันเกิดจากการกระทำความผิดฐานแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารมหาชนหรือเอกสารราชการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 267 ตามที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษานั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องเกี่ยวกับการกระทำความผิดของจำเลยว่าจำเลยมอบอำนาจให้นายเมธี ยื่นคำขอจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมกรรมการของบริษัท ด. ต่อนายทะเบียนสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจังหวัดสมุทรสงคราม ซึ่งเอกสารดังกล่าวระบุข้อความอันเป็นเท็จว่า ที่ประชุมผู้ถือหุ้นมีมติแก้ไขเพิ่มเติมกรรมการของบริษัท ด. โดยมีกรรมการเข้าใหม่ 1 คน คือ นายพิชิต และกรรมการออกจากตำแหน่ง 2 คน คือ โจทก์ทั้งสอง แสดงว่าการกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นเพียงแต่แจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อนายทะเบียนเพื่อให้จดข้อความอันเป็นเท็จนั้นลงในทะเบียนสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจังหวัดสมุทรสงครามเท่านั้น มิใช่เป็นเรื่องการนำเอกสารทางทะเบียนอันจดข้อความเท็จดังกล่าวไปใช้แต่อย่างใด การกระทำของจำเลยตามที่โจทก์กล่าวมาในคำฟ้องจึงไม่เป็นความผิดฐานใช้เอกสารอันเกิดจากการกระทำความผิดฐานแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารมหาชนหรือเอกสารราชการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 267 ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยมาในปัญหาข้อนี้ถูกต้องแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ลงโทษจำเลยสูงเกินสมควรและไม่รอการลงโทษจำคุกแก่จำเลยนั้นไม่เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดี ขอให้แก้ไขคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 โดยลงโทษจำเลยให้เบาลงและรอการลงโทษจำคุกแก่จำเลยตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นนั้น เห็นว่า เมื่อพิเคราะห์ถึงสภาพความผิดของจำเลยในคดีนี้เป็นเรื่องที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายขึ้นกับผู้ถือหุ้นและบุคคลภายนอกได้ การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ลงโทษจำคุกจำเลย 2 ปี ลดโทษให้กึ่งหนึ่งแล้ว คงจำคุก 1 ปี นับว่าเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว แต่ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ใช้ดุลพินิจไม่รอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยนั้น เมื่อคำนึงถึงมูลเหตุที่จำเลยกระทำความผิดขึ้น น่าจะสืบเนื่องมาจากจำเลยโอนเงิน 2,000,000 บาท เข้าบัญชีของบริษัท ด. ต่อมาบริษัท ด. ได้โอนเงินจำนวนดังกล่าวไปเข้าบัญชีของโจทก์ที่ 2 ทำให้จำเลยเข้าใจว่าโจทก์ทั้งสองตกลงขายหุ้นของตนให้แก่จำเลยแล้ว ประกอบกับเมื่อคำนึงถึงพฤติการณ์แวดล้อมกรณีว่า จำเลยเป็นคนสัญชาติจีนเข้ามาประกอบธุรกิจในประเทศไทยไม่มีความรู้ความเข้าใจภาษาไทยและกฎหมายไทยได้อย่างดีพอ และก่อนเกิดเหตุคดีนี้จำเลยเป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงชื่อร่วมกับโจทก์ทั้งสองคนใดคนหนี่งพร้อมประทับตราสำคัญของบริษัท จึงมีผลผูกพันบริษัท ด. ซึ่งอาจทำให้จำเลยเข้าใจผิดไปเองว่าเมื่อจำเลยโอนเงินค่าหุ้นให้แก่โจทก์ที่ 2 แล้ว จำเลยสามารถดำเนินขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงตัวกรรมการของบริษัทที่จะมาลงชื่อร่วมกับจำเลยได้ จึงลงชื่อยื่นคำขอเปลี่ยนตัวกรรมการผู้มีอำนาจ โดยให้โจทก์ทั้งสองพ้นจากเป็นกรรมการของบริษัท ด. ซึ่งข้อความในแบบคำขอเป็นภาษาไทย ทำให้น่าเชื่อว่าผู้อื่นเป็นผู้ดำเนินการให้แก่จำเลย มิใช่จำเลยทำขึ้นด้วยตนเอง อีกทั้งเมื่อพิเคราะห์ถึงพฤติการณ์แห่งคดีว่า จำเลยยื่นคำขอเปลี่ยนตัวกรรมการผู้มีอำนาจบริษัท ด. เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2564 ต่อมาวันที่ 7 เมษายน 2564 โจทก์ทั้งสองได้ยื่นคำขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมกรรมการของบริษัท ด. ต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท จังหวัดสมุทรสาคร แสดงว่าหลังเกิดเหตุเพียง 7 วัน โจทก์ทั้งสองก็ทราบเรื่องนี้ เมื่อโจทก์ทั้งสองไม่มีพยานหลักฐานใดมาแสดงว่าโจทก์ทั้งสองหรือบุคคลภายนอกได้รับความเสียหายอย่างไร กรณีจึงน่าเชื่อว่าจำเลยยังไม่ได้นำหนังสือรับรองของบริษัทซี่งจดข้อความอันเป็นเท็จดังกล่าว ไปกล่าวอ้างต่อบุคคลทั่วไปจนเกิดความเสียหายขึ้นในวงกว้าง นอกจากนี้เมื่อคำนึงถึงอายุ ประวัติ อาชีพ ที่อยู่อันเป็นหลักแหล่ง และสิ่งแวดล้อมของจำเลยว่าปัจจุบันจำเลยเป็นกรรมการของบริษัท ต. ประกอบกิจการซื้อขายและส่งออกมะพร้าวน้ำหอมไปยังประเทศจีน มีลูกจ้างประมาณ 30 คน กรณีจึงมีเหตุอันควรปรานีจำเลยเพื่อให้โอกาสกลับตัวเป็นพลเมืองดี โดยเห็นควรรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลย แต่เพื่อให้จำเลยหลาบจำและป้องปรามมิให้จำเลยกระทำความผิดในทำนองนี้อีก เห็นสมควรลงโทษปรับอีกสถานหนึ่ง ทั้งกำหนดเงื่อนไขการคุมความประพฤติจำเลยไว้เพื่อให้มีเจ้าพนักงานคุมประพฤติคอยแนะนำและช่วยตักเตือนจำเลย หรือสอดส่องดูแลจำเลย ซึ่งน่าจะเป็นผลดีแก่จำเลยและสังคมมากกว่าการลงโทษจำคุกเสียทีเดียว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ใช้ดุลพินิจไม่รอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลย ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษปรับ 40,000 บาท อีกสถานหนึ่ง ลดโทษให้กึ่งหนึ่งแล้ว คงปรับ 20,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปีและให้คุมความประพฤติของจำเลยไว้ 1 ปี นับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้จำเลยฟัง โดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 3 เดือน ต่อครั้ง ตามเงื่อนไขและกำหนดระยะเวลาที่พนักงานคุมประพฤติเห็นสมควร กับให้จำเลยกระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติเห็นสมควรมีกำหนด 12 ชั่วโมง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7