โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ได้ทำหนังสือสัญญาของผู้ได้รับทุนการศึกษาวิชาเจ้าหน้าที่สาธารณสุขกับโจทก์ผู้รับสัญญา โดยตกลงว่า ให้จำเลยที่ 1 รับทุนการศึกษาตามหลักสูตรวิชาเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วจำเลยที่ 1 จะต้องเข้ารับราชการเป็นข้าราชการหรือลูกจ้างชดใช้ทุนไม่น้อยกว่า 2 เท่าของเวลาที่ใช้ในการศึกษา หากผิดสัญญาจำเลยที่ 1 ยอมใช้คืนเงินรวมทั้งค่าปรับโดยจำเลยที่ 1 ผู้แทนโดยชอบธรรมของจำเลยที่ 1 ยินยอม และยอมชดใช้ค่าเสียหายแทนจำเลยที่ 1 มีนายอาภรณ์ จำพล ทำสัญญาค้ำประกันการปฏิบัติตามสัญญาของจำเลยที่ 1 ด้วย จำเลยที่ 1 รับทุนการศึกษาเป็นเวลา 2 ปี หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ได้เข้ารับราชการในตำแหน่งเจ้าหน้าที่สุขาภิบาล 1 ชดใช้ทุน ต่อมาจังหวัดกาฬสินธุ์ได้มีคำสั่งปลดจำเลยที่ 1 ออกจากราชการฐานกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงรวมเวลาที่จำเลยที่ 1 รับราชการใช้ทุน 11 เดือน 7 วัน คงเหลือเวลาที่จะต้องรับราชการชดใช้ทุนอีก 1,118 วัน ต่อมานายอาภรณ์ได้ถึงแก่กรรม จำเลยที่ 3 เป็นทายาทโดยชอบธรรมของนายอาภรณ์ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันใช้เงินจำนวน 55,134.25 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การว่า การที่จำเลยที่ 1 ถูกคำสั่งจังหวัดกาฬสินธุ์ปลดออกจากราชการนั้น จำเลยที่ 1 มิได้ใช้เพทุบายหรือจงใจเพื่อให้ตนพ้นความผูกพันและความรับผิดชอบตามสัญญาที่ทำไว้กับโจทก์ จำเลยที่ 1 รับราชการเป็นเจ้าหน้าที่สาธารณสุขประจำสถานีอนามัยบ้านสร้างแก้ว เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2527จำเลยที่ 1 ออกจากที่ทำงานเพื่อจะกลับไปเยี่ยมบ้านแล้วหายไประหว่างทาง จำเลยที่ 2 และญาติ ๆ ได้ออกติดตามแต่ไม่พบ จึงได้นำความไปแจ้งต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอสมเด็จ จนบัดนี้ก็ยังติดตามจำเลยที่ 1 ไม่พบ เข้าใจว่าเสียชีวิตแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยในชั้นฎีกาว่า เมื่อจำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณาศาลจะนำข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานที่จำเลยที่ 2 นำสืบมาเป็นคุณแก่จำเลยที่ 1 ได้หรือไม่ ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วคดีนี้โจทก์ฟ้องให้จำเลยทั้งสามร่วมกันรับผิดใช้เงินทุนการศึกษาและค่าปรับรวม55,134.25 บาท เนื่องจากจำเลยที่ 1 ผู้ทำสัญญารับทุนถูกปลดออกจากราชการในการทำสัญญารับทุนของจำเลยที่ 1 มีจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบิดาและผู้แทนโดยชอบธรรมของจำเลยที่ 1 ให้ความยินยอมในการเข้าทำสัญญา เพราะจำเลยที่ 1 เป็นผู้เยาว์และจำเลยที่ 2 ยอมชดใช้ค่าเสียหายแทนจำเลยที่ 1 ด้วย และมีนายอาภรณ์ จำพล ทำสัญญาค้ำประกันการปฏิบัติตามสัญญาของจำเลยที่ 1 โดยรับชดใช้เงินที่ต้องชดใช้แทนจำเลยที่ 1 ทั้งสิ้น โดยมิพักต้องเรียกร้องเอาจากจำเลยที่ 1 ก่อน แม้นายอาภรณ์จะถึงแก่กรรม แต่มีจำเลยที่ 3เป็นทายาทของนายอาภรณ์ เห็นว่า จำเลยทั้งสามต้องรับผิดร่วมกันตามสัญญา มีผลให้โจทก์สามารถบังคับชำระหนี้จากจำเลยทั้งสามคนใดคนหนึ่งได้เต็มจำนวนหนี้โดยสิ้นเชิง และจำเลยทั้งสามยังคงต้องผูกพันอยู่จนกว่าหนี้นั้นจะได้ชำระเสร็จสิ้นเชิง จำเลยทั้งสามจึงเป็นลูกหนี้ร่วมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 291และมูลความแห่งคดีเป็นการชำระหนี้ซึ่งแบ่งแยกจากกันมิได้ ถือว่าจำเลยทั้งสามแทนซึ่งกันและกัน บรรดากระบวนพิจารณาซึ่งกระทำโดยจำเลยคนหนึ่งถือว่าได้กระทำโดยจำเลยคนอื่น ๆ ด้วย การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 รับฟังข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานที่จำเลยที่ 2 นำสืบมาเป็นคุณแก่จำเลยที่ 1 โดยฟังว่าจำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดตามสัญญารับทุนเช่นเดียวกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงเป็นการชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 59(1) แล้ว
พิพากษายืน