โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151, 157
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบพิพากษายืน
โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่โจทก์และจำเลยไม่ได้โต้เถียงกันในชั้นนี้ฟังได้เป็นที่ยุติว่า จำเลยดำรงตำแหน่งท้องถิ่นอำเภอบ้านโฮ่ง มีหน้าที่ปฏิบัติงานที่รับมอบหมายจากจังหวัดหรือผู้ว่าราชการจังหวัด อำนวยการประสานงาน ปฏิบัติงานในหน้าที่ของนายอำเภอและช่วยเหลือนายอำเภอในการกำกับดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่อำเภอบ้านโฮ่ง นายอำเภอบ้านโฮ่งอนุมัติทำหนังสือตกลงจ้างนางสาวจงกลนี และนางสาวชนินารถ ให้ทำงานในตำแหน่งเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลข่าวสารการจัดซื้อจัดจ้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นบ้านโฮ่ง โดยให้จำเลยเป็นเจ้าหน้าที่ตรวจรับงานจ้าง หลังจากนั้นมีการจ่ายเงินค่าจ้าง มีการปรับปรุงห้อง และจำเลยขออนุมัติจัดซื้อวัสดุสำนักงาน วันที่ 9 ตุลาคม 2558 จำเลยทำรายงานผลการใช้จ่ายเงินอุดหนุน ประจำปีงบประมาณ 2558 ถึงนายกเทศมนตรีตำบล และนายกองค์การบริหารส่วนตำบลทุกแห่ง คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามที่โจทก์ได้รับอนุญาตให้ฎีกาว่า โจทก์เป็นผู้เสียหายมีอำนาจฟ้องคดีนี้หรือไม่ เห็นว่า เงินที่โจทก์ให้การอุดหนุนแก่ที่ทำการปกครองอำเภอบ้านโฮ่งเพื่อการดำเนินงานของศูนย์รวบรวมข้อมูลข่าวสารการจัดซื้อจัดจ้างและการประสานงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับอำเภอ ถือเป็นเงินงบประมาณของทางราชการ เมื่อโจทก์ตั้งฎีกาเบิกเงินนำส่งให้แก่อำเภอบ้านโฮ่งแล้วจึงอยู่ในความดูแลรับผิดชอบของนายอำเภอบ้านโฮ่ง ทั้งข้อเท็จจริงได้ความจากการไต่สวนว่า เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2557 นายอำเภอบ้านโฮ่งเป็นผู้อนุมัติทำหนังสือตกลงจ้างนางสาวจงกลนี และนางสาวชนินารถ ทำงานในตำแหน่งเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลข่าวสารการจัดซื้อจัดจ้างและการประสานงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นบ้านโฮ่ง โดยให้จำเลยเป็นเจ้าหน้าที่ตรวจรับงานจ้าง และจำเลยขออนุมัติดำเนินการจัดซื้อวัสดุสำนักงานเพื่อใช้ในศูนย์รวมข้อมูลข่าวสารการจัดซื้อจัดจ้างและการประสานงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นบ้านโฮ่งประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 ซึ่งผู้ที่สั่งซื้อคือนายอำเภอบ้านโฮ่ง จำเลยจึงไม่ได้เป็นผู้จัดจ้างนางสาวจงกลนีและนางสาวชนินารถ และไม่ได้เป็นผู้จัดซื้อวัสดุสำนักงานตามที่โจทก์ฟ้อง ส่วนการจัดสถานที่ปรากฏตามภาพถ่ายแสดงให้เห็นว่ามีการดำเนินการตามโครงการมาก่อนแล้ว หนังสือกระทรวงมหาดไทยที่ มท. 808.2/ว 74 ข้อ 9 และประกาศคณะกรรมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมทั้งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2560 มาตรา 63 ไม่ได้กำหนดให้โจทก์มีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินคดีในกรณีนี้ด้วย อย่างไรก็ตามหากมีการกระทำตามที่โจทก์ฟ้องเกิดขึ้น หนังสือกระทรวงมหาดไทยที่ มท 0808.2/ว 74 ลงวันที่ 8 มกราคม 2553 ข้อ 11 ระบุว่า หากมีปัญหาข้อขัดข้องในการดำเนินงาน...ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะเป็นผู้กำกับดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามกฎหมายมีอำนาจในการพิจารณาวินิจฉัย ว่า ก่อนฟ้องคดีนี้ เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2558 โจทก์โดยนายวีระพันธ์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเหล่ายาว ได้ทำหนังสือถึงผู้อำนวยการสำนักตรวจสอบพิเศษ ภาค 8 ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติประจำจังหวัดลำพูน นายกรัฐมนตรี และวันที่ 14 ธันวาคม 2558 ได้ทำหนังสือถึงผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้ตรวจสอบพฤติการณ์ของจำเลยที่ดำเนินโครงการส่อไปในทางทุจริตแล้ว ประกอบกับความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด ๆ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่รัฐ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 และความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 เป็นการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการอันเป็นผลเสียหายแก่รัฐ มิได้ก่อให้เกิดความเสียหายหรือกระทบกระเทือนต่อสิทธิและหน้าที่ของโจทก์ ซึ่งเป็นองค์การบริหารส่วนตำบลเหล่ายาวโดยตรง หากโจทก์เห็นว่าจำเลยทำให้โจทก์และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งหมดในอำเภอบ้านโฮ่งได้รับความเสียหายก็ชอบที่จะร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีแก่จำเลย โจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 (4) ประกอบพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ. 2559 มาตรา 6 วรรคหนึ่ง ตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น ข้อกล่าวอ้างอื่นของโจทก์ไม่มีผลเปลี่ยนแปลงคำพิพากษา ไม่จำต้องวินิจฉัย
พิพากษายืน