โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264,268, 335, 357, 83, 91
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 วรรคแรก จำคุกคนละ 5 ปีข้อหาอื่นให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า รถยนต์กระบะของกลางเป็นของผู้เสียหายถูกคนร้ายลักไปโดยไม่ทราบตัวคนร้าย ต่อมาเจ้าพนักงานตำรวจพบรถยนต์กระบะคันดังกล่าวอยู่ในความครอบครองของจำเลยที่ 1จำเลยที่ 1 แจ้งว่าซื้อรถยนต์ของกลางมาจากจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2ครอบครองรถยนต์ของกลางแล้วนำไปขายให้จำเลยที่ 1 แต่จำเลยที่ 2กลับปฏิเสธว่าไม่ได้ขายโดยไม่ยอมเปิดเผยความจริงว่าจำเลยที่ 2ได้รถยนต์คันดังกล่าวมาด้วยวิธีใดอันเป็นการผิดปกติวิสัยของบุคคลผู้สุจริต ทั้งไม่มีหลักฐานเอกสารใด ๆ ในการได้รถยนต์นั้นมา เป็นข้อพิรุธเชื่อได้ว่า จำเลยที่ 2 ได้รถยนต์ของกลางมาโดยรู้ว่าถูกคนร้ายลักมา จำเลยที่ 2 จึงมีความผิดฐานรับของโจรส่วนจำเลยที่ 1 ปรากฎว่า จำเลยที่ 1 ซื้อรถยนต์ของกลางจากจำเลยที่ 2 ตามราคาท้องตลาดและจำเลยที่ 1 ได้แสดงความบริสุทธิ์ตั้งแต่แรกโดยแจ้งความจริงแก่เจ้าพนักงานตำรวจในทันทีที่เข้าสอบถามจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 ซื้อรถยนต์ของกลางมาจากจำเลยที่ 2 นอกจากนี้จำเลยที่ 1 ใช้รถอย่างเปิดเผยโดยจอดไว้ในโรงรถริมถนน เป็นเหตุให้เจ้าพนักงานตำรวจผ่านไปพบเห็นและเข้าตรวจสอบจับกุม ปรากฎว่าไม่มีการเปลี่ยนแปลงสภาพรถ เชื่อได้ว่าจำเลยที่ 1 ไม่รู้ว่าเป็นรถที่ถูกคนร้ายลักมา จำเลยที่ 1จึงไม่มีความผิดฐานรับของโจร แม้จำเลยที่ 1 จะมิได้ฎีกาแต่เมื่อข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิดและเป็นข้อเท็จจริงที่เกี่ยวพันกับจำเลยที่ 2 ซึ่งฎีกาขึ้นมา ศาลฎีกาจึงมีอำนาจยกฟ้องจำเลยที่ 1 ให้พ้นจากความผิด ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 ประกอบด้วยมาตรา 215 และมาตรา 225
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1 และให้จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 2 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์