โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90, 91, 137, 267, 268, 341
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีไม่มีมูล พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ความผิดฐานแจ้งความเท็จและฐานแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการซึ่งมีวัตถุประสงค์สำหรับใช้เป็นพยานหลักฐาน ซึ่งโจทก์ได้รับอนุญาตให้ฎีกามานั้น เห็นสมควรวินิจฉัยเสียก่อนว่าฟ้องโจทก์ทั้งสองฐานความผิดดังกล่าวเป็นฟ้องที่สามารถรับไว้ไต่สวนมูลฟ้องได้หรือไม่ สำหรับความผิดฐานแจ้งความเท็จนั้น ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 บัญญัติว่า "ผู้ใดแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน ซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย ต้องระวางโทษ..." ดังนั้น ในการบรรยายฟ้องของโจทก์จึงต้องระบุให้ชัดเจนถึงข้อความเท็จนั้นว่ามีข้อความเป็นอย่างไร และความจริงเป็นอย่างไร แต่จากคำฟ้องของโจทก์คงบรรยายเพียงว่า จำเลยนำข้อความอันเป็นเท็จไปแจ้งต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นเทศบาลนาป่าเพื่อขอคัดสำเนารายการทะเบียนราษฎรของผู้มีชื่อ แต่ข้อความเท็จนั้นจำเลยแจ้งว่าอย่างไรไม่ปรากฏ และถึงแม้โจทก์จะบรรยายฟ้องไว้ด้วยว่า ในการขอคัดสำเนารายการทะเบียนราษฎรดังกล่าว จำเลยแสดงข้อความอันเป็นเท็จด้วยการปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งตามที่โจทก์ฎีกาต่อสู้ แต่โจทก์ก็ยังมีหน้าที่ต้องบรรยายฟ้องให้ชัดเจนอีกเช่นกันด้วยว่า ข้อความจริงที่จำเลยปกปิดไว้เป็นอย่างไร เหตุใดการปกปิดไว้นั้นจึงถือได้ว่าเป็นการแจ้งข้อความเท็จ ดังนี้ คำฟ้องของโจทก์ดังกล่าวจึงเป็นฟ้องที่ขาดข้อเท็จจริงและรายละเอียดเกี่ยวกับการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำความผิดพอสมควรเท่าที่จะทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) เป็นฟ้องที่ไม่สมบูรณ์ ต้องยกฟ้องตามมาตรา 161 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4 ส่วนการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงานบังคับคดี สำนักงานบังคับคดีจังหวัดชลบุรี จากการที่โจทก์ฟ้องกล่าวหาว่าจำเลยยื่นคำร้องขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีมีหนังสือรายงานต่อศาลเพื่อจับกุมและกักขังผู้มีชื่อซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาและบริวารในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 550–551/2560 ของศาลจังหวัดชลบุรีซ้ำอีกครั้งหนึ่ง โดยจำเลยแสดงข้อความอันเป็นเท็จว่า จำเลยไปตรวจสอบที่ศาลจังหวัดชลบุรีแล้วไม่พบเอกสารซึ่งโจทก์ได้ดำเนินการตามทางการที่จ้างให้แก่จำเลยด้วยการร้องขอให้มีการจับกุมและกักขังผู้มีชื่อดังกล่าวแล้ว ทั้งนี้ เพื่ออาศัยเป็นข้ออ้างว่าโจทก์ละทิ้งหน้าที่แล้วไม่ชำระค่าจ้างให้แก่โจทก์อันทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายนั้น แม้หากเหตุผลอันจำเลยอ้างในคำร้องเพื่อให้เจ้าพนักงานบังคับคดีมีหนังสือรายงานต่อศาลเพื่อจับกุมและกักขังผู้มีชื่อซ้ำอีกครั้งหนึ่งจะเป็นความเท็จ แต่ก็เห็นได้ว่าเป็นกรณีที่จำเลยกระทำต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีโดยตรง หากจะมีความเสียหายเกิดขึ้นก็เพียงเป็นเรื่องที่เจ้าพนักงานบังคับคดีต้องมีหนังสือรายงานต่อศาลเพื่อจับกุมลูกหนี้ตามคำพิพากษาและบริวารที่ไม่ปฏิบัติตามหมายบังคับคดีซ้ำอีกครั้งหนึ่งเท่านั้น หาได้เกี่ยวข้องหรือกระทบกระเทือนถึงส่วนได้เสียใด ๆ ของโจทก์ เนื้อความตามคำร้องที่จำเลยยื่นต่อเจ้าพนักงานบังคับคดี หาได้มีข้อกล่าวหาใด ๆ ที่พาดพิงถึงการทำหน้าที่ของโจทก์ กรณีจึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ได้รับความเสียหายจากการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จของจำเลยดังกล่าว ส่วนข้อที่โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยจะอาศัยเรื่องดังกล่าวกล่าวหาว่าโจทก์ละทิ้งหน้าที่และไม่ชำระค่าจ้างให้แก่โจทก์นั้น นอกจากจะเป็นเรื่องที่โจทก์คาดการณ์ล่วงหน้าไปเองแล้ว กรณียังมิใช่เป็นความเสียหายโดยตรงที่เกิดขึ้นจากการกระทำความผิดของจำเลยอีกด้วย โจทก์จึงไม่เป็นผู้เสียหายที่จะมีอำนาจฟ้องจำเลยในความผิดฐานแจ้งความเท็จในกรณีหลังนี้ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 (4) และมาตรา 28 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4 และสำหรับความผิดฐานแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการซึ่งมีวัตถุประสงค์สำหรับใช้เป็นพยานหลักฐานตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 267 นั้น องค์ประกอบภายนอกของความผิดฐานนี้ประการหนึ่งก็คือ ผู้กระทำต้องแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการซึ่งมีวัตถุประสงค์สำหรับใช้เป็นพยานหลักฐาน แต่จากข้อเท็จจริงตามที่โจทก์บรรยายฟ้อง โจทก์กล่าวแต่เพียงว่าจำเลยไปยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีให้มีหนังสือรายงานต่อศาลเพื่อจับกุมและกักขังผู้มีชื่อ โดยแสดงข้อความอันเป็นเท็จว่าจำเลยไปตรวจสอบที่ศาลจังหวัดชลบุรีแล้ว ไม่พบเอกสารซึ่งโจทก์ได้ดำเนินการตามทางการที่จ้างให้แก่จำเลยด้วยการร้องขอให้มีการจับกุมและกักขังผู้มีชื่อดังกล่าวแล้ว โจทก์หาได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยแจ้งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีจดข้อความอันเป็นเท็จใดลงในเอกสารราชการใด ซึ่งมีวัตถุประสงค์สำหรับใช้เป็นพยานหลักฐานอย่างไร ฟ้องของโจทก์เช่นนี้ จึงเป็นฟ้องที่ขาดองค์ประกอบความผิด ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) เป็นฟ้องที่ไม่สมบูรณ์ ต้องยกฟ้องตามมาตรา 161 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4 อีกเช่นเดียวกัน ปัญหาเรื่องฟ้องไม่สมบูรณ์และการเป็นผู้เสียหายดังกล่าว ถือเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และกรณีไม่จำต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์อีกว่าคดีโจทก์มีมูลหรือไม่ เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาต้องกันให้ยกฟ้องโจทก์เสียนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล
พิพากษายืน