โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ผลิตและจำหน่ายรถยนต์คันเกิดเหตุ และจำเลยที่ 2 ในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 1 ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 3,482,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 31 พฤษภาคม 2560 จนถึงวันฟ้องเป็นเงิน 108,820 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 3,591,320 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 3,482,500 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 3,591,320 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 3,482,500 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 28 ธันวาคม 2560) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ กำหนดค่าทนายความ 15,000 บาท
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติในชั้นนี้ว่า เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2558 นางสาวอัจฉรา ซื้อรถยนต์ยี่ห้อ B. หมายเลขทะเบียน ม 9xxx กรุงเทพมหานคร ต่อมาได้เปลี่ยนเป็นหมายเลขทะเบียน 6 กง 3xxx กรุงเทพมหานคร ในราคา 4,649,000 บาท จากจำเลยที่ 2 โจทก์เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์คันดังกล่าวโดยนางสาวอัจฉราเป็นผู้เอาประกันภัย ในการขายรถยนต์คันดังกล่าวจำเลยที่ 1 มีเงื่อนไขการรับประกันตามสัญญาซื้อรถยนต์ และมีการให้โปรแกรมบริการดูแลและบำรุงรักษารถยนต์รวมถึงการเปลี่ยนอะไหล่แท้โดยเจ้าของรถยนต์ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ นาน 5 ปี หรือ 100,000 กิโลเมตร แล้วแต่เงื่อนไขใดจะถึงกำหนดก่อน ตามที่ระบุไว้ในคู่มือเจ้าของรถ และการซ่อมบำรุงอันเกิดจากความผิดพลาดในขั้นตอนการผลิตตามระยะเวลาของสัญญา เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2559 เวลาประมาณ 4 นาฬิกา ภายในระยะเวลาที่โจทก์รับประกันภัย นายวชิระได้ขับรถยนต์คันดังกล่าวไปตามทางด่วนบูรพาวิถีขึ้นจากทางด่วนพระรามสี่มุ่งหน้าลงทางด่วนบางนาในช่องทางเดินรถที่ 3 นับจากซ้ายมือ เมื่อมาถึงบริเวณหน้าห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลบางนา กรุงเทพมหานคร รถยนต์คันดังกล่าวได้เกิดเพลิงลุกไหม้ทั้งคัน เจ้าพนักงานตำรวจกองพิสูจน์หลักฐานได้ตรวจสอบหาสาเหตุของการเกิดเหตุเพลิงไหม้และจัดทำรายงานตรวจพิสูจน์เกี่ยวกับเหตุเพลิงไหม้ไว้ โจทก์มีหนังสือแจ้งให้จำเลยทั้งสองเข้าตรวจสอบสภาพรถยนต์คันเกิดเหตุ แต่จำเลยทั้งสองปฏิเสธ โจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน 3,482,500 บาท ให้แก่ผู้เอาประกันภัยแล้ว
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยทั้งสองต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ตามฟ้องหรือไม่ เพียงใด โจทก์ฎีกาทำนองว่า คดีนี้โจทก์นำพยานบุคคลสองปากคือ พันตำรวจโทเชิดพงษ์ เจ้าพนักงานตำรวจกองพิสูจน์หลักฐานกลาง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้ตรวจพิสูจน์รถยนต์คันที่เกิดเพลิงไหม้ กับนายวชิระ ผู้ครอบครองดูแลและเป็นผู้ขับรถยนต์คันดังกล่าว ซึ่งถือเป็นประจักษ์พยานมาเบิกความยืนยัน โดยพันตำรวจโทเชิดพงษ์เบิกความว่า สาเหตุของการเกิดเพลิงลุกไหม้รถยนต์เกิดจากปัจจัยภายในของเครื่องยนต์ มิได้เกิดจากปัจจัยภายนอก และนายวชิระเบิกความว่า พยานใช้รถยนต์ในชีวิตประจำวันตามปกติวิสัยอย่างวิญญูชนทั่วไปพึงกระทำและมิได้ดัดแปลงสภาพรถก่อนเกิดเหตุเพลิงไหม้ จึงต้องถือว่าโจทก์นำพยานหลักฐานเข้าสืบสมตามข้อกล่าวอ้างของโจทก์แล้ว และการวินิจฉัยพยานหลักฐานต้องอาศัยหลักการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานว่าฝ่ายใดมีน้ำหนักมากกว่ากัน พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักมากกว่าพยานหลักฐานของจำเลยทั้งสอง ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าภาระการพิสูจน์ตกแก่โจทก์ โจทก์สืบไม่สมฟ้อง เป็นการไม่ถูกต้องนั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์เป็นผู้รับช่วงสิทธิมาจากนางสาวอัจฉรา เจ้าของรถยนต์คันเกิดเหตุเพลิงไหม้ โดยนางสาวอัจฉราซื้อรถยนต์คันดังกล่าวมาจากจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้แทนจำหน่ายของจำเลยที่ 1 สัญญาซื้อรถยนต์ระบุเงื่อนไขการรับประกันในข้อ 5.1 ว่า ผู้ขายซึ่งเป็นผู้จำหน่าย B. ที่ได้รับอนุญาต รับประกันว่า รถยนต์ดังกล่าวปราศจากความชำรุดบกพร่องที่เกิดจากวัสดุ และฝีมือแรงงานที่ใช้ประกอบรถยนต์ สำหรับระยะเวลารับประกัน 24 เดือน นับแต่วันส่งมอบ โดยระบุในข้อ 5.7 ด้วยว่า การรับประกันนี้จะไม่ครอบคลุมไปถึงกรณีตามข้อ (ก) การใช้รถยนต์อย่างไม่ถูกวิธี ความประมาทเลินเล่อ อุบัติเหตุ หรือนำรถไปใช้ในการแข่งขัน (ข) รถยนต์ดังกล่าวได้รับการซ่อมแซมโดยบุคคลอื่น ซึ่งมิใช่ผู้จำหน่าย B. ที่ได้รับอนุญาต (ค) การเสื่อมสภาพหรือชำรุดที่เกิดจากการใช้งานตามปกติ หรือที่เกิดจากการดูแลรักษาที่ไม่เหมาะสม ความประมาทเลินเล่อ สภาพแวดล้อม สิ่งแวดล้อม หรืออุบัติเหตุ แสดงให้เห็นว่า หากเกิดความชำรุดบกพร่องที่เกิดจากวัสดุหรือฝีมือแรงงานที่ใช้ประกอบรถยนต์ ภายในเวลา 24 เดือน นับแต่วันส่งมอบ จำเลยทั้งสองจะต้องรับผิด หากไม่เข้าข้อยกเว้นตามข้อ 5.7 แห่งสัญญาซื้อรถยนต์ ดังนั้นโจทก์ซึ่งเป็นผู้รับช่วงสิทธิจากนางสาวอัจฉรามีหน้าที่สืบพิสูจน์ให้เห็นว่า ได้เกิดความเสียหายจากความชำรุดบกพร่อง และไม่เข้าข้อยกเว้นตามข้อ 5.7 ดังกล่าว ซึ่งโจทก์มีนายวชิระ บุตรนางสาวอัจฉรา ผู้ใช้รถยนต์ขณะเกิดเหตุ เบิกความว่า พยานเป็นผู้ใช้รถยนต์คันเกิดเหตุเพียงคนเดียว ปกติใช้ขับไปเรียนหนังสือ มิได้ตกแต่งหรือดัดแปลงสภาพเครื่องยนต์รวมถึงระบบท่อไอเสีย ระบบเครื่องเสียง ซึ่งทั้งหมดอยู่ในสภาพเดิม และนำรถยนต์เข้าเช็คระยะรักษาสภาพรถยนต์ที่ศูนย์บริการ บ. สาขาบางนา โดยนำเข้าเมื่อได้รับการแจ้งเตือนจากสัญญาณไฟหน้าปัดรถยนต์ ทั้งหมด 2 ครั้ง วันเกิดเหตุขณะขับรถกลับบ้าน ใช้ความเร็ว 110 กิโลเมตรต่อชั่วโมง สังเกตจากกระจกมองหลังด้านขวามีควันและสะเก็ดไฟออกมาจากท้ายรถยนต์ จึงนำรถยนต์เข้าข้างทางและลงจากรถ เกิดไฟลุกไหม้จากด้านท้ายพร้อมสะเก็ดไฟ ส่วนจำเลยทั้งสองมีนายธวัชชัย พนักงานบริษัท ย. ที่นายวชิระนำรถยนต์เข้ารับบริการ เบิกความว่า นายวชิระนำรถยนต์คันเกิดเหตุเข้าเช็คสภาพสองครั้ง ครั้งแรกมีสัญญาณไฟแสดงหน้าจอว่าให้นำรถยนต์เข้ารับบริการ ขณะที่มีเลขกิโลเมตรอยู่ที่ 9,607 ตรวจสอบแล้วนายวชิระนำเข้าศูนย์หลังจากสัญญาณไฟแสดงแล้ว 1,900 กิโลเมตร มีการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง เข้ารับบริการครั้งที่สองเกินกว่ากำหนด 800 กิโลเมตร มีการเปลี่ยนยางล้อและเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง เห็นว่า ตามทางนำสืบของโจทก์ โจทก์ได้นำสืบแล้วว่า เจ้าของรถยนต์คันเกิดเหตุมิได้ทำการดัดแปลงเครื่องยนต์หรือระบบท่อไอเสียให้เปลี่ยนไปจากสภาพเดิม การเข้าตรวจเช็คระยะทั้งสองครั้งก็เข้าศูนย์ บ. มิใช่อู่ของบุคคลภายนอก ซึ่งนายธวัชชัย พนักงานบริษัท ย. เบิกความรับว่า นายวชิระนำรถยนต์เข้ามาตรวจเช็ค และยังเบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านว่า ไม่ปรากฏว่ารถยนต์คันเกิดเหตุมีการดัดแปลงสภาพรถ การใช้รถยนต์คันเกิดเหตุจึงเป็นการใช้ตามปกติ และเหตุเพลิงไหม้มิได้เกิดจากอุบัติเหตุ เหตุเพลิงไหม้เกิดเมื่อรับมอบรถยนต์มาเพียง 1 ปี 1 เดือน ยังไม่ครบกำหนดตามเงื่อนไขการรับประกัน 24 เดือน จำเลยทั้งสองนำสืบแต่เพียงว่า เหตุเพลิงไหม้อาจเกิดจากเศษใบไม้แห้งหรือมีสัตว์แทะสายไฟฟ้า อันเป็นเพียงการคาดคะเนของจำเลยทั้งสองเท่านั้น จำเลยทั้งสองเองปฏิเสธที่จะเข้าตรวจสภาพรถยนต์หลังเกิดเหตุตามที่โจทก์มีหนังสือแจ้ง โดยอ้างว่าแจ้งหลังเกิดเหตุเป็นระยะเวลานาน อันเป็นการแสดงถึงความไม่รับผิดชอบ นอกจากนี้จำเลยทั้งสองยังอ้างว่าเจ้าของรถยนต์มิได้นำรถยนต์เข้าตรวจเช็คตามที่มีสัญญาณไฟแจ้งเตือน แต่กลับนำเข้าเช็คครั้งแรกเมื่อรถยนต์วิ่งมาได้ 9,607 กิโลเมตร เกินมา 1,900 กิโลเมตร ซึ่งระยะดังกล่าวก็ยังไม่เกินระยะมาตรฐานการนำรถยนต์เข้าตรวจเช็คครั้งแรกที่ 10,000 ถึง 12,000 กิโลเมตร ตามที่นายธวัชชัย พยานจำเลยทั้งสองเบิกความ จำเลยทั้งสองไม่อาจยกข้อนี้มาปัดความรับผิดได้ เมื่อโจทก์นำสืบถึงการใช้รถยนต์ตามปกติ ทั้งนำรถยนต์เข้าตรวจเช็คสภาพยังศูนย์บริการของจำเลยทั้งสอง ไม่มีการดัดแปลงสภาพรถยนต์ อันเป็นการนำสืบสมฟ้องแล้ว แม้จำเลยที่ 1 เป็นผู้ประกอบธุรกิจผลิต ประกอบและจำหน่ายรถยนต์คันเกิดเหตุ ไม่ได้เป็นผู้จำหน่ายรถยนต์คันเกิดเหตุให้แก่ผู้เอาประกันภัยโดยตรง แต่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้จำหน่ายรถยนต์เป็นตัวแทนจำหน่ายของจำเลยที่ 1 และแม้การจำหน่ายรถยนต์แต่ละคันจำเลยที่ 1 ใช้วิธีการขายรถยนต์ให้แก่ตัวแทนจำหน่ายคือจำเลยที่ 2 แล้ว จำเลยที่ 2 เป็นผู้ขายรถยนต์ให้แก่ลูกค้าโดยที่จำเลยที่ 1 ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับลูกค้าผู้ซื้อรถเองก็ตาม แต่ตามพฤติการณ์ในการประกอบธุรกิจของจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ผู้เป็นตัวแทนจำหน่าย เห็นได้ว่าในการให้บริการซ่อมแซมรถของตัวแทนจำหน่ายเช่นจำเลยที่ 2 แก่ลูกค้านั้น จำเลยที่ 1 เป็นผู้ควบคุมคุณภาพและกำกับดูแลมาตรฐานการซ่อมของจำเลยที่ 2 ตัวแทนจำหน่าย บ่งชี้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ร่วมกับจำเลยที่ 2 ในการให้สัญญารับประกันการซ่อมบำรุงรักษารถยนต์อันเป็นบริการที่ให้แก่ผู้เอาประกันภัยผู้เป็นลูกค้าที่ซื้อรถยนต์ จำเลยทั้งสองจึงอยู่ในฐานะเป็นคู่สัญญาให้บริการแก่ผู้ซื้อรถ เมื่อจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ผลิตรถยนต์และจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้จำหน่ายรถยนต์โดยได้รับอนุญาตจากจำเลยที่ 1 จำเลยทั้งสองย่อมมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการผลิตและประกอบรถยนต์ของตนแต่เพียงฝ่ายเดียว หาได้พิสูจน์ให้เห็นว่าเหตุเพลิงไหม้เกิดจากปัจจัยภายนอกซึ่งมิได้เป็นความผิดของจำเลยทั้งสอง พยานหลักฐานของโจทก์จึงมีน้ำหนักมากกว่าพยานหลักฐานของจำเลยทั้งสอง ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าเหตุเพลิงไหม้รถยนต์เกิดจากความชำรุดบกพร่องที่เกิดจากวัสดุและฝีมือแรงงานที่จำเลยทั้งสองต้องร่วมกันรับผิดชอบตามเงื่อนไขการรับประกันที่ให้ไว้ และเมื่อโจทก์ผู้รับประกันภัยได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัยซึ่งเป็นผู้ซื้อรถแล้ว โจทก์มีสิทธิรับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยมาฟ้องจำเลยทั้งสองให้ร่วมกันรับผิดได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 880 วรรคแรก จำเลยทั้งสองจึงต้องร่วมกันชำระค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยในอัตราผิดนัดแก่โจทก์นับแต่วันที่โจทก์จ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัยไป รถยนต์คันดังกล่าวผู้เอาประกันภัยซื้อมาในราคา 4,649,000 บาท มีการใช้งานไป 1 ปี เศษ ที่โจทก์จ่ายค่าสินไหมทดแทนในกรณีรถยนต์เกิดเพลิงไหม้ให้แก่ผู้เอาประกันภัย 3,482,500 บาท เห็นได้ว่าเหมาะสมแก่สภาพของรถยนต์ที่มีการใช้งาน 1 ปีเศษแล้ว และไม่เกินจำนวนเงินที่เอาประกันภัยที่ระบุไว้ในกรณีรถยนต์ไฟไหม้ 3,500,000 บาท เช่นนี้ที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ 3,482,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 31 พฤษภาคม 2560 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์ได้ชำระค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัยไปจนกว่าจะชำระเสร็จ โดยดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องไม่เกิน 108,820 บาท ตามที่โจทก์มีคำขอ จึงชอบแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
อนึ่ง ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา มีประกาศใช้พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ.2564 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 โดยพระราชกำหนดดังกล่าวได้แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 7 และมาตรา 224 วรรคแรก เป็นผลให้ดอกเบี้ยผิดนัดปรับเปลี่ยนจากอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี เป็นอัตราร้อยละ 5 ต่อปี หรืออัตราดอกเบี้ยใหม่ที่กระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาบวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละสองต่อปี แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงการคิดดอกเบี้ยผิดนัดในระหว่างก่อนที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ ทั้งนี้ปัญหาการกำหนดดอกเบี้ยตามกฎหมายเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยเองและกำหนดดอกเบี้ยให้เป็นไปตามพระราชกำหนดดังกล่าวได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 252
พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 3,591,320 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 3,482,500 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 28 ธันวาคม 2560) เป็นต้นไป ถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และอัตราร้อยละ 5 ต่อปี ตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ อัตราดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 นั้น ถ้ากระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนอัตราโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาเมื่อใด ก็ให้ปรับเปลี่ยนไปตามนั้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาให้เป็นพับ