โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 288 ริบของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่ก่อนสืบพยานโจทก์ จำเลยขอถอนคำให้การเดิมและให้การใหม่เป็นรับสารภาพตามฟ้อง
ระหว่างพิจารณา นายรัตน์ บิดาของนางสาวนวพร ผู้ตายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 จำคุก 15 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 7 ปี 6 เดือน ริบสากครกหิน สากไม้ และอาวุธมีดของกลาง คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
ระหว่างพิจารณา นายรัตน์ ถึงแก่ความตาย นางจีรารัตน์ อดีตภริยาของนายรัตน์และเป็นมารดาโดยชอบด้วยกฎหมายของนางสาวนวพร ผู้ตาย ยื่นคำร้องขอเข้าแทนที่นายรัตน์ โจทก์ร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาต
โจทก์ร่วมอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำคุก 20 ปี ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 10 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติว่า จำเลยและนางสาวนวพร ผู้ตาย จดทะเบียนสมรสกันเมื่อปี 2558 มีบุตรด้วยกัน 1 คน คือ เด็กหญิงกอปรรัก ทั้งหมดอาศัยอยู่ที่บ้านโจทก์ร่วม ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยมีเจตนาฆ่าใช้มีดทำครัวปลายแหลม ขนาดความยาวรวมด้าม 35 เซนติเมตร 1 เล่ม สากครกหิน น้ำหนักรวมประมาณ 0.77 กิโลกรัม และสากไม้ น้ำหนัก 0.31 กิโลกรัม ฟัน แทง ทุบ และตีประทุษร้ายผู้ตายอย่างแรงหลายครั้ง ผู้ตายมีบาดแผลถูกฟันบริเวณหนังศีรษะ 4 บาดแผลยาว 1.5 ถึง 5.5 เซนติเมตร บาดแผลถูกฟันตื้นบริเวณใต้ตาขวายาว 4 เซนติเมตร บาดแผลถูกฟันตื้นบริเวณแก้มขวายาว 1 เซนติเมตร เบ้าตาทั้งสองข้างฟกช้ำร่วมกับเลือดออกในเยื่อบุตาขาว ริมฝีปากฟกช้ำฉีกขาดทั้งบนและล่าง บาดแผลถูกแทงบริเวณขากรรไกรล่างด้านขวายาว 4 เซนติเมตร บาดแผลถูกแทงบริเวณลำคอด้านขวายาว 2.5 เซนติเมตร ลึกถึงหลอดเลือดแดงใหญ่บริเวณคอ บาดแผลถูกฟันบริเวณไหล่ขวายาว 1 เซนติเมตร บาดแผลถูกแทงบริเวณหลังต้นแขนขวายาว 2 เซนติเมตร พบรอยประทับด้ามมีดรอบปากแผล บาดแผลฟกช้ำบริเวณหน้าอกขวากว้าง 5 เซนติเมตร ยาว 7 เซนติเมตร บาดแผลฟกช้ำบริเวณไหล่ซ้าย เส้นผ่าศูนย์กลาง 2 เซนติเมตร บาดแผลฟกช้ำหลายบาดแผลบริเวณแขนซ้ายท่อนล่าง เส้นผ่าศูนย์กลาง 1 ถึง 2 เซนติเมตร บาดแผลฟกช้ำบริเวณหลังศอกขวา เส้นผ่าศูนย์กลาง 2 เซนติเมตร บาดแผลฟกช้ำบริเวณหลังมือขวา เส้นผ่าศูนย์กลาง 7 เซนติเมตร บาดแผลฟกช้ำบริเวณนิ้วโป้งมือขวา นิ้วชี้และนิ้วกลางมือซ้าย แผลเป็นลักษณะขนานกันหลายบาดแผลบริเวณต้นแขนขวา 5 บาดแผล หน้าอกขวา 8 บาดแผล ไหล่ซ้าย 4 บาดแผล หน้าท้องซ้ายบน 5 บาดแผล เนื้อสมองคั่งเลือด กล้ามเนื้อคอฟกช้ำ หลอดเลือดแดงใหญ่คาโรติดข้างขวาฉีกขาด สาเหตุการตายโดยตรงเนื่องจากบาดแผลถูกแทงบริเวณลำคอด้านหน้า ผู้ตายเป็นบุตรของนายรัตน์ และนางจีรารัตน์ ในระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น นายรัตน์ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ตามคำร้องลงวันที่ 19 กันยายน 2565 ศาลชั้นต้นอนุญาตให้นายรัตน์เข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการ ต่อมาวันที่ 21 ธันวาคม 2565 ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้คู่ความฟัง แต่ภายหลังจากที่ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาดังกล่าว ทนายโจทก์ร่วมแถลงต่อศาลว่า เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2565 นายรัตน์ถึงแก่ความตาย นางจีรารัตน์ยื่นคำร้องขอเข้าแทนที่โจทก์ร่วมเดิมตามคำร้องลงวันที่ 19 มกราคม 2566 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ผู้ร้องซึ่งเป็นมารดาของผู้ตายประสงค์ใช้สิทธิของตนในฐานะผู้มีอำนาจจัดการแทนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 5 (2) จึงอนุญาตให้ผู้ร้องเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการได้ตามขอ
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า นางจีรารัตน์มีสิทธิยื่นอุทธรณ์หรือไม่ เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติว่า นางจีรารัตน์เป็นบุพการีของนางสาวนวพร ผู้ตาย นางจีรารัตน์จึงอยู่ในฐานะผู้มีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหายเช่นเดียวกับนายรัตน์ โจทก์ร่วม ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 5 (2) เมื่อโจทก์ร่วมถึงแก่ความตาย การที่นางจีรารัตน์ยื่นคำร้องขอเข้าแทนที่โจทก์ร่วมเดิม ถือได้ว่านางจีรารัตน์ประสงค์ขอใช้สิทธิของตนที่มีอยู่เดิมตั้งแต่แรกในฐานะผู้มีอำนาจจัดการแทนด้วยอีกคนหนึ่งเช่นเดียวกับโจทก์ร่วม เพื่อสืบสิทธิดำเนินคดีแทนโจทก์ร่วม ย่อมถือว่านางจีรารัตน์เข้าสืบสิทธิดำเนินคดีแทนนายรัตน์ โจทก์ร่วม เมื่อนายรัตน์ได้ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้ว ที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้นางจีรารัตน์เข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการและรับอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมไว้พิจารณาต่อไปจึงชอบด้วยกฎหมาย นางจีรารัตน์จึงมีสิทธิยื่นอุทธรณ์ได้ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการต่อไปว่า ศาลอุทธรณ์กำหนดโทษจำเลยเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดี หรือไม่ เห็นว่า การที่จำเลยใช้มีดทำครัวปลายแหลม สากครกหิน และสากไม้ ฟัน แทง ทุบ และตีประทุษร้ายผู้ตายอย่างแรงหลายครั้ง ทั้งตามรายงานตรวจศพระบุว่าผู้ตายมีบาดแผลหลายแห่ง สาเหตุการตายเนื่องจากบาดแผลถูกแทงบริเวณลำคอด้านหน้า พฤติการณ์แห่งคดีเป็นการกระทำต่อผู้ตายซึ่งเป็นเพศที่อ่อนแอกว่าอย่างรุนแรง ไม่ยำเกรงต่อกฎหมายบ้านเมือง การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดร้ายแรง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยหลังลดโทษกึ่งหนึ่ง 10 ปี นั้น นับว่าเหมาะสมและเป็นคุณแก่จำเลยมากอยู่แล้ว ศาลฎีกาไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงแก้ไข ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน