โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 334, 335, 358, 362, 365
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษากลับเป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358, 365 (2) ประกอบมาตรา 362, 83 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษในความผิดฐานร่วมกันบุกรุกตั้งแต่สองคนขึ้นไป ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 3 เดือน และปรับคนละ 5,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ให้จำเลยทั้งสองฟัง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า ที่ดินพิพาทตั้งอยู่จังหวัดกาญจนบุรีเป็นที่ดินมือเปล่าไม่มีเอกสารสิทธิทางทะเบียน มีเพียงแบบแสดงรายการเสียภาษีบำรุงท้องที่ ภ.บ.ท. 5 แปลงสำรวจเลขที่ 4114/2553 ซึ่งเดิมมีนางพูลสุขศรี เป็นผู้เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินที่พิพาท ต่อมาเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2553 นางพูลสุขศรีถึงแก่ความตาย นางมนัสนันท์ บุตรของผู้ตายยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการทรัพย์มรดก ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งนางมนัสนันท์เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย นางมนัสนันท์ซึ่งรับมรดกที่ดินพิพาทในฐานะทายาทโดยธรรมได้แบ่งขายที่ดินดังกล่าว เนื้อที่ 2 ไร่ ให้แก่โจทก์เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2555 หลังจากนั้นโจทก์เข้าครอบครองทำประโยชน์ที่ดินพิพาทและเป็นผู้ชำระภาษีบำรุงท้องที่ตามใบ ภ.บ.ท.5 เลขสำรวจที่ 862/2561 เนื้อที่ 1 งาน 97 ตารางวา จำเลยทั้งสองเป็นสามีภริยากัน เดิมจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของที่ดิน ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 3235 เนื้อที่ 1 งาน 6 ตารางวา ซึ่งอยู่ติดกับที่ดินพิพาท ต่อมาจำเลยที่ 2 โอนที่ดินดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 1 ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้องจำเลยที่ 2 ว่าจ้างนายพรชัยให้ขุดร่องดินวางท่อระบายน้ำในที่ดินพิพาทระหว่างที่ดินที่โจทก์และจำเลยทั้งสองครอบครองโดยมีทางสาธารณะกั้นอยู่ เสา 3 ต้น ที่โจทก์ปักไว้ ซึ่งอยู่ระหว่างแนวที่ดินที่โจทก์ครอบครองกับที่ดินของจำเลยทั้งสองหายไป
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองข้อแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องในความผิดฐานร่วมกันบุกรุกและฐานร่วมกันทำให้เสียทรัพย์หรือไม่ เห็นว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามพยานหลักฐานของโจทก์ว่าขณะเกิดเหตุโจทก์ครอบครองที่ดินพิพาทโดยครอบครองต่อเนื่องจากผู้ขายที่ดินให้โจทก์ ดังนั้น หากมีบุคคลอื่นเข้ามาขุดดินทำเป็นร่องวางท่อระบายน้ำในที่ดินอันเป็นการรบกวนการครอบครองและทำให้เสียหายซึ่งที่ดินที่โจทก์ครอบครองดังกล่าวย่อมเป็นการกระทำที่กระทบต่อสิทธิและรบกวนการครอบครองที่ดินของโจทก์ในขณะนั้นโจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องในความผิดฐานร่วมกันบุกรุกและฐานร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ได้กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยในประเด็นข้ออื่นของจำเลยทั้งสองเกี่ยวกับเรื่องนี้อีกต่อไป เพราะ ไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองข้อต่อไปว่า จำเลยทั้งสองกระทำความผิดฐานร่วมกันบุกรุกตั้งแต่สองคนขึ้นไปและฐานร่วมกันทำให้เสียทรัพย์หรือไม่ได้ความจากคำเบิกความของโจทก์ว่า วันเกิดเหตุจำเลยทั้งสองร่วมกันควบคุมสั่งการอยู่บริเวณรถยนต์เก๋งสีขาวอยู่บนที่ดินโจทก์ใช้ให้